ทำไม ปีนัง เซินเจิ้น ซิลิคอนแวลลีย์ ถึงเป็นฮับเทคโนโลยีของประเทศ ?

ทำไม ปีนัง เซินเจิ้น ซิลิคอนแวลลีย์ ถึงเป็นฮับเทคโนโลยีของประเทศ ?

ทำไม ปีนัง เซินเจิ้น ซิลิคอนแวลลีย์ ถึงเป็นฮับเทคโนโลยีของประเทศ ? /โดย ลงทุนแมน
- ปีนัง ประเทศมาเลเซีย
- เซินเจิ้น ประเทศจีน
- ซิลิคอนแวลลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลายคนคงพอนึกออกได้ว่า ที่พูดมานี้ ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่อยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนประเทศนั้น ๆ
ปัจจัยอะไร ที่ทำให้ทั้งสามที่นี้ กลายเป็นฮับเทคโนโลยีของประเทศ ?
แล้วมีจุดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เริ่มกันที่ ปีนัง โดยปีนังนั้นมีที่ตั้งติดทะเล จึงมีหมู่บ้านชาวประมงเกิดขึ้น และในอดีตนั้นเป็นจุดแวะพักการเดินเรือ ระหว่างอินเดียและจีน
ทำให้บรรดาพ่อค้าทั้งจีน อินเดีย และชาวตะวันตก ต่างก็แวะเข้ามาจอดพัก เพื่อหลบมรสุม พร้อมกับ
หาเสบียงและน้ำเติมไว้สำหรับเดินทางต่อไป
และด้วยที่ตั้งทำเลชั้นยอด ก็ไปเข้าตาของกัปตันเรือชาวอังกฤษชื่อ ฟรานซิส ไลต์ ที่ได้เข้าติดต่อกับผู้ปกครองปีนัง ขอเช่าเป็นเมืองท่าของอังกฤษ
เพื่อต้องการปั้นปีนังให้เป็นเมืองท่าการค้า แข่งกับชาวดัตช์ ซึ่งกำลังผูกขาดการค้าเครื่องเทศทั่วทั้งดินแดนแถบนี้ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย
แลกกับการให้ความช่วยเหลือทางทหารกับผู้ปกครองปีนัง ที่กำลังทะเลาะกับสยาม และไม่อยากอยู่ใต้การปกครองของสยาม ในช่วงนั้น
ซึ่งหลังจากที่อังกฤษได้เป็นเจ้าของปีนัง ก็ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พร้อมวางสถานะให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี
ส่วนเซินเจิ้น ก็เริ่มต้นจากหมู่บ้านชาวประมงคล้ายกับ
ปีนังเช่นกัน โดยอยู่บนเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างจีนกับอินเดีย ไปจนถึงสยามในเวลานั้น
แต่แม้จะอยู่ใกล้เส้นทางการค้าก็ตาม เซินเจิ้นก็ยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งการมาของอังกฤษ
ที่ได้เป็นเจ้าของฮ่องกง
เซินเจิ้น ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง ก็เริ่มคึกคักมากขึ้น เพราะอังกฤษได้พัฒนาฮ่องกง จนกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญในดินแดนแถบนี้
และข้ามฟากมาถึง ซิลิคอนแวลลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้เป็นหมู่บ้านชาวประมงเหมือนกับปีนังและเซินเจิ้น แต่มีจุดเริ่มต้นเป็นพื้นที่ไร่นา ที่มีการทำเกษตรกรรมเท่านั้น
แต่ด้วยความที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งแปซิฟิก
ทำให้ต่อมา กองทัพสหรัฐอเมริกา เลือกเป็นพื้นที่วิจัยและพัฒนาสถานีรับส่งวิทยุ
ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ สามารถสื่อสารกับฐานทัพเรือ ที่เกาะฮาวายนอกชายฝั่งได้ ทำให้ซิลิคอนแวลลีย์ เริ่มค่อย ๆ มีความสำคัญมากขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น
จนกระทั่งสองสามีภรรยา Leland Stanford และ Jane Stanford ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย Stanford ในปี 1885 ที่นี่ก็คึกคักมากขึ้น เพราะมีนักศึกษาเข้ามาร่ำเรียนที่นี่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ที่ดูเหมือนโชคดี เพราะทำเลที่ตั้งได้เปรียบในด้านการค้า หรือด้านการทหารในอดีต
ซึ่งถ้า ปีนัง เซินเจิ้น และซิลิคอนแวลลีย์ ไม่ได้พัฒนาต่อ สุดท้ายก็คงไม่มาเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีได้อย่างในปัจจุบัน
โดยหลังจากปีนัง กลับมาอยู่ใต้การปกครองของมาเลเซีย ในปี 1972 Lim Chong Eu ผู้ว่าการรัฐปีนัง ประกาศจัดตั้ง Bayan Lepas เขตอุตสาหกรรมปลอดภาษีนำเข้าในปีนัง เพื่อให้บรรดาบริษัทต่างชาติ เลือกเข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้า
โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แลกกับท่าเรือที่พร้อม การยกเว้นภาษีนำเข้าบางอย่าง รวมทั้งแรงงาน จากคนที่จบวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่มากมาย
จนในที่สุด ความน่าดึงดูดทั้งหมดนี้ ทำให้บริษัท
ต่างชาติตัดสินใจมาลงทุน เช่น Intel จากสหรัฐอเมริกา, OSRAM จากเยอรมนี และ Toshiba จากญี่ปุ่น
และทำให้ปัจจุบัน มาเลเซียเป็นหนึ่งในผู้รับจ้าง
ตรวจสอบการทำงานของชิป ที่สำคัญของโลก
โดยมีบริษัทท้องถิ่นของตัวเอง ที่ชำนาญด้านนี้อีกด้วย
เซินเจิ้น ก็ถูกพัฒนาจากรัฐบาล ไม่ต่างอะไรจากปีนังด้วยเช่นกัน โดยช่วงปี 1980 หลังจาก เติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศนโยบายที่จะพัฒนาจีนด้วย นโยบาย 4 ทันสมัย
เซินเจิ้น ก็เป็นเมืองเป้าหมายในการพัฒนา ด้วยการให้แรงจูงใจแก่ต่างชาติมาลงทุน แลกกับแรงงานราคาถูก ยกเว้นภาษี 3 ปีแรก และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม
ซึ่งหนึ่งในนักลงทุนกลุ่มแรก ๆ ก็มาจากเกาะฮ่องกง ที่อยู่ตรงข้ามกัน ก่อนจะมีบริษัทจากไต้หวัน เช่น Foxconn และบรรดาบริษัทต่างชาติอื่น ๆ ตามเข้ามา
จากหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ในอดีต ก็ค่อย ๆ กลายเป็นแหล่งโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคง่าย ๆ
แต่ความฝันของเซินเจิ้น ก็ไม่ได้หยุดแค่เท่านี้
โดยในช่วงปี 1993 เซินเจิ้นต่อยอดตัวเอง
ด้วยการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อให้บรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เข้ามาตั้งโรงงานเพิ่มเติม
และในปี 2008 เซินเจิ้น ยังได้รับฉายาจาก UNESCO ว่า “เมืองแห่งการออกแบบ” (City of Design) อีกด้วย
เนื่องจากความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมการออกแบบและนวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ในภาคส่วนต่าง ๆ
ทำให้ที่นี่มี Shenzhen Design Week ที่ให้นักออกแบบทั่วทุกมุมโลก มาประชุมและพบปะกันปีละครั้ง
ปัจจุบัน เซินเจิ้นได้กลายเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนหลายแห่ง เช่น Tencent, Huawei, BYD
มาที่ฝั่งซิลิคอนแวลลีย์ มหาวิทยาลัย Stanford ก็ได้ผลิตนักศึกษาออกมาจำนวนมาก และนักศึกษากลุ่มนี้เอง ก็ได้ออกมาตั้งสตาร์ตอัปหรือบริษัทตัวเอง อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการวิจัยในชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มต้นขึ้นจากบริษัท HP ในปี 1939 โดยนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Stanford
หลังจากนั้น กลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก 8 คนก็ออกมาตั้ง Fairchild Semiconductor ในปี 1957
และ 2 คนในนี้ ก็ออกมาตั้งบริษัท Intel ในปี 1968
ซึ่งต่อมา อดีตพนักงาน 8 คนของ Fairchild Semiconductor ก็ออกมาก่อตั้งบริษัทใหม่ ที่ชื่อว่า AMD เมื่อปี 1969
ก่อนที่ Jensen Huang อดีตพนักงาน AMD จะออกมาตั้ง Nvidia ตอนปี 1993 และปั้นบริษัทจนยิ่งใหญ่อย่างในปัจจุบัน..
จะเห็นได้ว่า พื้นที่ซิลิคอนแวลลีย์ ก็ได้ถูกต่อยอดด้วยนักศึกษาที่จบจาก Stanford ออกมาก่อตั้งธุรกิจ จนประสบความสำเร็จไปทั่วโลก รวมถึงเครือข่ายพนักงานของบริษัทเหล่านั้น ที่ก็เลือกเส้นทางปั้นธุรกิจของตัวเอง ในเวลาต่อมา
แต่ธุรกิจเหล่านี้ ก็จะอยู่ไม่ได้เลย ถ้าขาดลูกค้าที่มาซื้อ
ซึ่งในช่วงแรก ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทชิป นั่นคือ กองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเอาชิปไปใช้งาน
ทำให้ซิลิคอนแวลลีย์ แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง เหมือนกับที่ปีนังและเซินเจิ้น แต่ก็มีแรงสนับสนุนทางอ้อมจากฝั่งรัฐบาลอย่างกองทัพสหรัฐอเมริกาแทน
ถึงตรงนี้ ก็คงเห็นภาพแล้วว่า ทั้งปีนัง เซินเจิ้น และซิลิคอนแวลลีย์ กลายมาเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี ไม่ได้มาจากความโชคดีเรื่องทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบในด้านการค้า หรือด้านการทหารในอดีตเท่านั้น
แต่มาจากแรงผลักดันของบรรดาผู้ประกอบการ พร้อมกับการสนับสนุนของรัฐบาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เมืองเหล่านี้ ค่อย ๆ สร้างความยิ่งใหญ่ทางเทคโนโลยีมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องนี้คงเป็นบทเรียนที่ดีว่า
ถ้ารอให้ชะตา ฟ้ามาลิขิตอย่างเดียว สุดท้ายประเทศนั้น ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย
แต่ประเทศนั้นจะสามารถลิขิตชีวิตเองได้ ก็ต่อเมื่อกล้าที่จะเปลี่ยนประเทศ โดยไม่ต้องรอแค่ความโชคดี ที่ไม่รู้จะมีไปอีกนานแค่ไหน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
-หนังสือ Branding The Nation สร้างแบรนด์ แทนประเทศ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon