ทำไม ยูเครน ถึงมีความสำคัญกับรัสเซีย

ทำไม ยูเครน ถึงมีความสำคัญกับรัสเซีย

ทำไม ยูเครน ถึงมีความสำคัญกับรัสเซีย / โดย ลงทุนแมน
ในแง่เศรษฐกิจ ประเทศยูเครนคือประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปยุโรป
ปี 2020 ชาวยูเครน 43 ล้านคน มี GDP ต่อหัวเพียง 123,000 บาท
คิดเป็นแค่ราว 0.5 เท่าของ GDP ต่อหัวคนไทย
และน้อยกว่าหลายประเทศในทวีปเอเชีย อย่างอินโดนีเซีย และอิรักด้วยซ้ำ
แล้วทำไมประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปถึงมี “ความสำคัญ” จนทำให้รัสเซีย และเหล่าประเทศในสหภาพยุโรปต้องมีความขัดแย้งกัน จนอาจบานปลายกลายเป็นสงครามแห่งศตวรรษที่ 21
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ในแง่ภูมิศาสตร์ ยูเครนตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปยุโรป
ชายแดนด้านตะวันออกติดรัสเซีย ในขณะที่ด้านตะวันตกติดกับประเทศในสหภาพยุโรป
เช่น โปแลนด์ ฮังการี และโรมาเนีย
ส่วนทางตอนใต้เป็นชายฝั่งทะเลดำ และทะเลอาซอฟ
ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 603,500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทยเล็กน้อย
ทำให้ ยูเครน มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีป รองจากรัสเซีย
ไม่ใช่แค่กว้างขวาง ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นที่ราบ มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน ยูเครนจึงกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีพื้นที่ทำการเกษตรถึง 58% ของพื้นที่ประเทศ
ยูเครนเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญของยุโรป ได้รับฉายาว่า “ตะกร้าขนมปัง”
เพราะเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ไปจนถึงดอกทานตะวัน
ซึ่งสินค้าเกษตร คือสินค้าส่งออกหลักของยูเครนเกือบ 50%
ในปี 2020 ยูเครนส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของผลผลิตทั้งโลก
ด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้เอง
ทำให้ยูเครนถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
แม้จะมีความพยายามที่จะแยกตัวออกจากรัสเซียหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ประสบความล้มเหลวทุกครั้ง
จนเมื่อรัสเซียมีการปฏิวัติบอลเชวิคเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์แล้วเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ยูเครนก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี 1922 กลายเป็นเขตเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญของประเทศ

จนเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ยูเครนจึงได้แยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราช
มีเมืองหลวงคือกรุงเคียฟ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
แต่เศรษฐกิจของยูเครนก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด เพราะในขณะที่ประเทศยุโรปตะวันออกหลายประเทศได้เข้าร่วมกับสหภาพยุโรป และมีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้า
แต่นโยบายต่างประเทศของยูเครนกลับสลับสับเปลี่ยนไปมา ตามประธานาธิบดีที่อยู่ฝ่ายรัสเซีย กับประธานาธิบดีที่สนับสนุนสหภาพยุโรป
ปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ อุตสาหกรรมการผลิตไม่ถูกพัฒนา ผู้คนชาวยูเครนมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุดในทวีปยุโรป ชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยหลีกหนีความยากจนไปอยู่ต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลทำให้ ยูเครนเป็นประเทศที่มีประชากรลดลงมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันก่อตั้งประเทศ
ปี 1991 ยูเครนมีประชากร 51.5 ล้านคน
ปี 2011 ยูเครนมีประชากร 45.7 ล้านคน
ปี 2021 ยูเครนมีประชากรเหลือเพียง 43.3 ล้านคน
แล้วอะไรที่ทำให้ยูเครนยังคงมีความสำคัญกับรัสเซีย ?
ประการแรก: ทำเลที่ตั้ง
ยูเครนมีทำเลที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่างรัสเซียกับประเทศในสหภาพยุโรป จึงเป็นเหมือนดินแดนกันชนที่สำคัญของ 2 ฝั่งมหาอำนาจ
ยูเครนยังเป็นที่ตั้งของท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งจากรัสเซียผ่านไปยังประเทศในสหภาพยุโรป แม้ว่าปัจจุบันท่อส่งก๊าซที่ผ่านยูเครนจะลดความสำคัญลง เนื่องจากมีท่อส่งก๊าซแห่งใหม่ทางตอนเหนือ
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ ชายฝั่งทะเลของยูเครนที่ยาวกว่า 2,700 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยชายฝั่งทะเลดำและชายฝั่งทะเลอาซอฟ ซึ่งเป็นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญมาก ๆ สำหรับรัสเซีย
ในอดีตสมัยสหภาพโซเวียต ชายฝั่งทะเลดำของยูเครนจึงเป็นทั้งเมืองท่าสำคัญ
และที่ตั้งฐานทัพเรือของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในเมืองเซวาสโตโพล (Sevastopol) ที่ตั้งอยู่บริเวณแหลมไครเมีย
สรุปแล้ว ยูเครนจึงเป็นเหมือนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับรัสเซีย
ซึ่งปัจจุบันแหลมไครเมียก็ได้ถูกรัสเซียยึดไปแล้ว
และนำมาสู่กรณีพิพาทที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
มาวันนี้พื้นที่ยุทธศาสตร์ของรัสเซียที่เหลืออยู่ก็คือ “ยูเครน”
ประการที่ 2: ประชากร
ในยุคที่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มีการส่งชาวรัสเซียบางส่วนมาอยู่ที่ยูเครน โดยเฉพาะในแถบเมืองตะวันออกและตอนใต้ของประเทศ ที่ปัจจุบันมีชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซีย เป็นสัดส่วนตั้งแต่ 30-70%
เมื่อยูเครนแยกประเทศออกมาแล้ว ผู้คนเหล่านี้ก็ยังมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัสเซีย ยังคงใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาหลัก และให้การสนับสนุนประธานาธิบดีที่อยู่ข้างรัสเซีย
คนกลุ่มนี้มีประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของประชากรยูเครนทั้งหมด
และถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาวรัสเซียที่ใหญ่ที่สุด ที่อยู่นอกประเทศรัสเซีย
ในสายตาของรัสเซีย ยูเครนจึงไม่ต่างอะไรกับ “รัสเซียน้อย”
ประการที่ 3: ทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากพื้นที่ทำการเกษตรอุดมสมบูรณ์แล้ว ยูเครนยังเป็นแหล่งแร่เหล็ก ถ่านหิน แมงกานีส
ซึ่งในปี 2020 ยูเครนส่งออกแร่เหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
การที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ทำให้ในสมัยสหภาพโซเวียต ยูเครนจึงเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญ มีทั้งโรงงานเหล็ก โรงงานผลิตอาวุธ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ ซึ่งโรงงานเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ทางตะวันออกและทางใต้ ซึ่งเป็นเขตที่ผู้คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายรัสเซีย

ทำให้เขตตะวันออกและทางใต้เหล่านี้ เป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของยูเครน
เป็นแหล่งสร้าง GDP ให้กับประเทศ และเป็นภูมิภาคที่ผู้คนมี GDP ต่อหัวสูง เมื่อเทียบกับเขตทางเหนือกับตะวันตกที่เป็นเขตเกษตรกรรมยากจน
โดยจุดหมายปลายทางของการส่งออกที่สำคัญของแร่ธาตุและสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะเป็นที่ไหนไม่ได้ นอกจากรัสเซีย..
ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการมารวมกัน ยูเครนจึงเป็นเหมือนรัฐกันชน เป็นเหมือน “หน้าบ้าน” ที่มีความสำคัญมากกับรัสเซีย เป็นพื้นที่นอกรัสเซียที่มีคนเชื้อสายรัสเซียอยู่มากที่สุด
และเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญให้รัสเซีย
แต่สำหรับยูเครนแล้ว นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ก็พยายามมาโดยตลอดที่จะสลัดตัวเองให้พ้นจากร่มเงาของรัสเซีย
ทั้งลดการพึ่งพาการค้า ลดการพึ่งพิงพลังงาน รวมไปถึงการขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากชาวยูเครนที่อยู่ทางตอนเหนือกับตะวันตก
ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรป ก็ล้วนเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO
ศัตรูทางทหารที่สำคัญที่สุดของรัสเซียตั้งแต่สมัยยังเป็นสหภาพโซเวียต
การที่ยูเครนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหภาพยุโรปจนอาจกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของ NATO เท่ากับว่า จะมีกองทหารจาก NATO เข้ามาควบคุมในพื้นที่ยูเครน ที่รัสเซียมองว่าเป็น “รัสเซียน้อย” มาโดยตลอด ทหารจะมาตั้งกองกำลัง มาสร้างฐานทัพ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียจะยอมรับไม่ได้ !
เป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะเป็นอย่างไรต่อไป
จากความขัดแย้งในยูเครนประเทศเดียว
จะลุกลามบานปลายกลายเป็นความเสียหายระดับโลกหรือไม่ ?
แต่จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์
หลายครั้งที่ความเสียหายครั้งใหญ่ก็มาจากจุดเล็ก ๆ
ตัวอย่างเช่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่มีต้นเหตุจากการลอบปลงพระชนม์เหตุการณ์เดียว แล้วลุกลามบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ทำให้สูญเสียเป็นสิบล้านชีวิต ได้เช่นกัน..

References:
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?locations=UA-ID-TH
-https://www.worldstopexports.com/wheat-exports-country/
-https://atlas.cid.harvard.edu/explore?country=228&product=undefined&year=2019&productClass=HS&target=Product&partner=undefined&startYear=undefined
-https://www.nia.go.th/newsnow/almanac-files/pdf/Ukraine.pdf
-https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2115e39c306000a1b8?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon