กรณีศึกษา การสมองไหล ครั้งยิ่งใหญ่ ของไนจีเรีย

กรณีศึกษา การสมองไหล ครั้งยิ่งใหญ่ ของไนจีเรีย

กรณีศึกษา การสมองไหล ครั้งยิ่งใหญ่ ของไนจีเรีย / โดย ลงทุนแมน
ด้วยจำนวนประชากร 210 ล้านคน ไนจีเรียจึงเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา
และถูกคาดการณ์ว่าจะมีประชากรเพิ่มเป็น 2 เท่า คือราว 400 ล้านคน ภายในปี 2050
แต่จำนวนแพทย์ที่ลงทะเบียนกับแพทยสภาในประเทศไนจีเรีย มีเพียง 72,000 คน
เมื่อหารด้วยจำนวนประชากรไนจีเรีย 210 ล้านคนแล้ว
จะทำให้แพทย์ 1 คน ต้องรับหน้าที่ดูแลชาวไนจีเรียถึง 2,900 คน
ซึ่งก็เป็นภาระที่หนักเอาการ เมื่อเทียบกับแพทย์ไทย 1 คน ที่รับหน้าที่ดูแลประชากร 1,250 คน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาระที่มีสำหรับแพทย์ไนจีเรียอาจหนักกว่านี้มาก
เพราะราว 50% ของแพทย์ที่ลงทะเบียน หรือราว 36,000 คน
ไม่ได้ทำงานอยู่ในประเทศไนจีเรียอีกต่อไปแล้ว..
เกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักประเทศไนจีเรียกันสักนิด..
ไนจีเรียตั้งอยู่ในภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์เป็นอันดับต้น ๆ ของทวีปแอฟริกา
มีพื้นที่ราว 924,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว
ดินแดนแถบนี้เป็นที่ตั้งของหลากหลายชนเผ่ามาตั้งแต่ยุคโบราณ และในยุคล่าอาณานิคมก็ได้ดึงดูดให้มหาอำนาจอย่างอังกฤษเข้ามายึดครอง
ไนจีเรียกลายเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะการค้าทาส และยังมีสินค้าส่งออกหลัก คือ ปาล์มน้ำมัน และงาช้าง
อังกฤษเข้ามาครอบครองไนจีเรีย จนถึงปี 1960
และภายหลังได้รับเอกราช การค้นพบแหล่งน้ำมันดิบบริเวณปากแม่น้ำไนเจอร์ ทำให้น้ำมันดิบกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไนจีเรีย และทำให้ไนจีเรียมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
นอกจากน้ำมันแล้ว ไนจีเรียยังมีทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อีก เช่น ก๊าซธรรมชาติ, ดีบุก, แร่เหล็ก, ถ่านหิน รวมไปถึงป่าไม้ และสัตว์ทะเล
ถึงแม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่เศรษฐกิจของไนจีเรียกลับยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
สาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งของประชากรในประเทศ ที่นำมาสู่ความไม่สงบทางการเมืองและสงครามกลางเมืองหลายต่อหลายครั้ง สาธารณูปโภคของไนจีเรียจึงยังคงล้าหลัง และโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับการพัฒนา
ประชากรทางตอนเหนือของไนจีเรีย ได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับในประเทศแถบแอฟริกาเหนือ ทำให้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของประชากรทั้งประเทศ
ส่วนทางตอนใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเลกอส เมืองใหญ่ที่สุด ด้วยอิทธิพลของอดีตเจ้าอาณานิคม ประชากรส่วนใหญ่จึงนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 50% ของประชากรทั้งประเทศ
ถึงแม้จะมีศรัทธาที่แตกต่างกันจนนำมาสู่ความไม่สงบหลายครั้ง
แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันก็คือ ชาวไนจีเรียมองการคุมกำเนิดเป็นสิ่งต้องห้าม
ความอุดมสมบูรณ์ทำให้ไนจีเรียมีประชากรมากอยู่แล้ว และการไม่สนับสนุนการคุมกำเนิดก็ทำให้ประชากรยิ่งเติบโตมากขึ้นไปอีก
อัตราการเติบโตของประชากรไนจีเรียสูงถึงร้อยละ 2.5 ต่อปี
ผลที่ได้ ไนจีเรียจึงเป็นประเทศที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันดับต้น ๆ ของโลก
ปี 2000 ไนจีเรียมีประชากร 120 ล้านคน
ปี 2020 ไนจีเรียมีประชากร 220 ล้านคน
ปี 2050 ไนจีเรียถูกคาดว่าจะมีประชากร 400 ล้านคน ซึ่งจะมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
การที่ประชากรเพิ่มขึ้นมาก แต่เศรษฐกิจยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
ทำให้ประเทศนี้มีอัตราว่างงานสูง ซึ่งส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำของไนจีเรียอยู่ในระดับต่ำ
ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของไนจีเรีย อยู่ที่เพียง 30,000 ไนรา เทียบเท่ากับ 2,500 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ค่าแรงขั้นต่ำของไนจีเรียสะท้อนในทุกสาขาวิชาชีพ ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรวิชาชีพอย่างแพทย์
ที่มีค่าแรงเพียง 200,000 ไนรา หรือประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน
ด้วยค่าแรงที่ต่ำ ภาระงานที่หนัก ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และการขาดแคลนสาธารณูปโภค
ผลักดันให้แพทย์ชาวไนจีเรียเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
ความที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาราชการของไนจีเรีย
แพทย์ชาวไนจีเรียล้วนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
สำหรับแพทย์ที่เป็นชาวคริสต์ จุดหมายปลายทางหลักคือประเทศร่ำรวยในยุโรป และอเมริกาเหนือ
เฉพาะสหราชอาณาจักรเพียงประเทศเดียว
ก็มีแพทย์ชาวไนจีเรียอยู่ถึง 7,875 คน
คิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของแพทย์ทั้งหมดที่ลงทะเบียนกับแพทยสภาไนจีเรีย
ภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ จุดหมายสำคัญสำหรับแพทย์ที่เป็นชาวมุสลิม
โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของซาอุดีอาระเบีย จะมีการจัดสอบคัดเลือกแพทย์ไนจีเรีย
เป็นประจำทุกปีที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย
ภาวะสมองไหลนี้ ทำให้แพทย์ที่ยังทำงานอยู่ในไนจีเรียต้องรับภาระหนักมากขึ้น
จากเดิมที่แพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชากร 2,900 คน แต่เมื่อแพทย์เหลือเพียงครึ่งเดียว
แพทย์ 1 คน อาจต้องดูแลประชากรถึง 6,000 คน
ซึ่งสัดส่วนนี้มากกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมขององค์การอนามัยโลกถึง 10 เท่า..
อดีตนายกแพทยสภาของไนจีเรีย ศาสตราจารย์ Dominic Osaghae
ได้กล่าวว่า โรงเรียนแพทย์ของไนจีเรีย กำลังผลิตแพทย์เพื่อส่งออก
เพราะในแต่ละปี ไนจีเรียผลิตแพทย์ 3,000 คน โดยมีราว 2,000 คน จะอพยพไปทำงานยังต่างประเทศ
สถานการณ์เหล่านี้อาจจะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม เมื่อสหราชอาณาจักรมีการปรับนโยบายในการออกวีซ่าสำหรับบุคลากรวิชาชีพ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ สามารถอพยพเข้ามาอยู่ได้เร็วขึ้น และสะดวกขึ้นกว่าเดิม
ภาวะสมองไหลเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา
เมื่อแรงงานที่มีทักษะ มีความรู้ความสามารถ ต่างอพยพไปทำงานในประเทศที่ร่ำรวยกว่า
เพื่อชีวิตที่ดี มีรายได้มากขึ้น มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีเสรีภาพมากกว่าเดิม
ซึ่งส่วนมากมักตั้งต้นชีวิตใหม่ และกลายเป็นพลเมืองของประเทศเหล่านั้นไปเลย
นั่นเท่ากับว่า ประเทศร่ำรวยจะมีบุคลากรคุณภาพเข้ามาเติมเต็ม และพัฒนาให้ประเทศเติบโตต่อไป
ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ก็จะสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่ามากไปเรื่อย ๆ ถ้าทำให้ประเทศของตัวเองมีเศรษฐกิจที่ไม่ดีพอ
ก็เป็นที่น่าติดตามว่า สถานการณ์ในไนจีเรียจะเป็นอย่างไรต่อไป
เมื่อแพทย์ที่มีอยู่น้อยลง ต้องรับภาระประชากรที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon