กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจพลังงานยั่งยืน ในแบบฉบับ ปตท.สผ.

กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจพลังงานยั่งยืน ในแบบฉบับ ปตท.สผ.

The Sustainable Brand
กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจพลังงานยั่งยืน ในแบบฉบับ ปตท.สผ.
เมื่อพูดถึงหุ้นในฝั่งพลังงาน หนึ่งในหุ้นเด่นที่เข้าสู่ตลาดมาแล้วกว่า 27 ปี ก็คือ PTTEP หรือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (จำกัด) มหาชน
หากว่า ปตท. เป็นธุรกิจกลางถึงปลายน้ำ ซึ่งจัดหา ขนส่ง และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ปตท.สผ. ก็คือธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ
จุดเริ่มต้นของ ปตท.สผ. น่าสนใจไม่น้อย
35 ปีที่แล้ว การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายสำหรับคนไทย เพราะทั้งยาก ทั้งเสี่ยง ทั้งลงทุนสูง และเราไม่มีความรู้และประสบการณ์มากนัก จากวันแรกบริษัทนี้มีพนักงานไม่กี่สิบคน จนเมื่อเวลาผ่านไป ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 4,000 ชีวิต และมีถึง 40 โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 15 ประเทศ
โดยแรกเริ่มนั้น ปตท.สผ.ทำธุรกิจด้วยวิธี “ร่วมทุน” กับบริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย
เรียนรู้ทุกกระบวนการ ทั้งการสำรวจ พัฒนา จนกระทั่งผลิตปิโตรเลียมเองได้
จนมาถึง “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญเมื่อทางรัฐบาลมองเห็นถึงความจำเป็นในอนาคต
เลยอนุญาตให้ ปตท.สผ. ซื้อสัมปทานโครงการบงกช ในอ่าวไทย คืนจากบริษัทน้ำมันต่างชาติ
จากนั้น ปตท.สผ. ก็เรียนรู้การสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม จนกระทั่งกลายเป็นผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซธรรมชาติด้วยตัวเองเป็น “ครั้งแรก” ในปี 2541
แถมยังสามารถทำได้ดีเทียบเท่ากับบริษัทน้ำมันต่างชาติ
ทำให้ ปตท.สผ. ตัดสินใจยกระดับธุรกิจ และการทำงานของตัวเอง
เป็นบริษัทที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในอ่าวไทยและต่างประเทศอีกหลายโครงการ
โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน
จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายธุรกิจ อย่างมั่นคง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ. ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายครั้ง
เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต้องเผชิญกับความผันผวนที่เกิดจากสงครามราคา
แล้วเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ ปตท.สผ. จะปรับตัวอย่างไร?
คำตอบอยู่ในแผน 5 ปี ซึ่งก็คือกลยุทธ์การดำเนินงาน Expand & Execute เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Energy Partner of Choice ที่เชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อการเติบโต มีความสำคัญมากกว่าการแข่งขัน
Expand คือ ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในพื้นที่ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในตะวันออกกลางจะร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ
Execute คือ เน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตและการสร้างมูลค่าของโครงการปัจจุบัน รวมถึงการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมโดยเร่งรัดกิจกรรมในโครงการซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ
เพื่อรักษาอัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิต (R/P Ratio) ที่ 7 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดต้นทุนธุรกิจในหลายๆ ส่วน
จนปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงสร้างต้นทุนทางธุรกิจที่ต่ำกว่าหลายๆ บริษัท ในอุตสาหกรรมนี้
ปตท.สผ. ยังมีการปรับแผนการลงทุน
ด้วยการลดสัดส่วนในการลงทุนโครงการเล็กๆ ที่ไม่ได้สร้างรายได้มากนัก
พร้อมกับไปเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการหลักให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
และแผนที่น่าสนใจอีกอย่างคือการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่ง ปตท.สผ. ได้ตั้ง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี เพื่อให้บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และยังเล็งจะทำธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายอย่าง เช่น ธุรกิจไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าว่าธุรกิจใหม่เหล่านี้จะสร้างผลกำไรได้ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิของ ปตท.สผ. ในอีก 10 ปี ข้างหน้า
รู้หรือไม่ว่า สินค้าที่สร้างรายได้หลักของ ปตท.สผ. ไม่ใช่น้ำมันดิบ
แต่เป็นก๊าซธรรมชาติ ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมด
โดยดีลส่วนใหญ่ จะเป็นการกำหนดปริมาณซื้อขั้นต่ำไว้ตามสัญญาระยะยาวล่วงหน้าไว้แล้ว
ผลดีก็คือ ความผันผวนของราคาขายจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก
ความยืดหยุ่นในการปรับตัวนี้ทำให้ผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. มีความสม่ำเสมอ
ปี 2017 รายได้ 153,198 ล้านบาท กำไร 20,579 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 176,687 ล้านบาท กำไร 36,206 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 198,822 ล้านบาท กำไร 48,803 ล้านบาท
3 ไตรมาสแรกของ ปี 2020 รายได้ 128,369 ล้านบาท กำไร 20,137 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามผลประกอบการเหล่านี้ จะไม่ใช่ตัวเลขที่สมบูรณ์แบบเลย
หากสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกพัฒนาให้เติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจ
ซึ่งต้องบอกว่า นับวันเรื่องนี้ได้ยกระดับความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรการตัดสินใจของ นักลงทุน, พันธมิตรธุรกิจ,
รัฐบาลของแต่ละประเทศ ที่จะตัดสินใจร่วมลงทุนกับทางบริษัท
แล้ว ปตท.สผ.มีนโยบายเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
แนวคิดหลักๆ ของ ปตท.สผ. ก็คือการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยหลักคือ
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าลดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในปี 2573
ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดของเหลือทิ้ง ใช้ซํ้า นำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่
อนุรักษ์และฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติ นิเวศทางทะเลอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน
อ่านมาถึงตรงนี้เราคงน่าจะพอเข้าใจคำว่า บริษัทยั่งยืน มีแนวคิดการทำธุรกิจอย่างไร
คงไม่ใช่ แค่การปรับตัวขององค์กรในวันที่โลกหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม
คงไม่ใช่ แค่การสร้างรายได้และกำไรที่เติบโตต่อเนื่องทุกๆ ปี
และคงไม่ใช่ แค่การพัฒนาดูแลสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม
เพราะทุกอย่าง มันต้องเดินไปพร้อมๆ กันหมด
เหมือนอย่างที่ ปตท.สผ. ใช้แนวคิดในการทำธุรกิจมาตลอด 35 ปี
จนกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูสู่การเป็น
Sustainable Brand ที่สมบูรณ์...
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.pttep.com/th/Sustainabledevelopment/Environment/Overviewandexpectations.aspx
-https://www.pttep.com/35Thpttepanniversary/index.html
-https://www.pttep.com/th/Aboutpttep/Visionmissionandcorporatevalue.aspx
-รายงานประจำปี 2562

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon