ปตท. เดิมพันไฮโดรเจน กุญแจสู่พลังงานสะอาดยุคใหม่ ที่พลิกโฉมโลกพลังงาน

ปตท. เดิมพันไฮโดรเจน กุญแจสู่พลังงานสะอาดยุคใหม่ ที่พลิกโฉมโลกพลังงาน

PTT x ลงทุนแมน
โลกกำลังเผชิญความท้าทายด้านพลังงานอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มสูงขึ้น
ไฮโดรเจน จึงเป็นที่จับตามอง ในฐานะกุญแจสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
ด้วยคุณสมบัติด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และผลิตได้จากหลายแหล่งวัตถุดิบ
ปตท. ในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศ ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของไฮโดรเจนเช่นกัน จึงมุ่งมั่นลงทุนในธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย และขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจโลกของไฮโดรเจน
ตั้งแต่ความหมาย ความสำคัญ บทบาทในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ไปจนถึงเหตุผลที่ ปตท. ตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตนี้
ความน่าสนใจของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ไฮโดรเจน (H) คือธาตุที่มีอยู่มากที่สุดในจักรวาล เป็นองค์ประกอบสำคัญของดวงดาวและกาแล็กซีต่าง ๆ และที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดคือ ไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำ (H2O) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต
โดย 3 จุดเด่นสำคัญ ที่ทำให้ไฮโดรเจนเป็นกุญแจสู่พลังงานสะอาด คือ
- ให้พลังงานสูง
ไฮโดรเจนมีค่าความหนาแน่นพลังงานสูง สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบ
เช่น เซลล์เชื้อเพลิง แปลงพลังงานเคมีของไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง การเผาไหม้โดยตรง ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือในกระบวนการทางอุตสาหกรรม
- เผาไหม้สะอาด
เมื่อเผาไหม้ ไฮโดรเจนจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดเป็นน้ำ และปล่อยพลังงานออกมา
โดยไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมลพิษอื่น ๆ
- ไม่เป็นพิษ
ไฮโดรเจน เป็นก๊าซที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้เอง จึงทำให้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพสูงในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปสู่ยุคแห่งความยั่งยืน
โดยสามารถแบ่งไฮโดรเจนเป็น 5 ประเภทหลัก ๆ ตามความสะอาดของกระบวนการผลิต (วัดจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์)
1. ไฮโดรเจนสีนํ้าตาล (Brown Hydrogen)
ใช้ถ่านหิน เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ผ่านกระบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) ซึ่งนับว่ามีความสะอาดน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด
2. ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen)
ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ผ่านกระบวนการเปลี่ยนรูปสารไฮโดรคาร์บอนด้วยไอนํ้า (Steam Methane Reforming: SMR) มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รองลงมา
3. ไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen)
ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต จะถูกกักเก็บด้วยเทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS)
4. ไฮโดรเจนสีชมพู (Pink Hydrogen)
ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต โดยจะนํามาผ่านกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ (Water Electrolysis)
5. ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen)
ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม นํามาผ่านกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากนํ้า (Water Electrolysis)
ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการผลิตไฮโดรเจนที่สะอาดที่สุด โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิต 5% ของปริมาณไฮโดรเจนที่ใช้งานกันทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่า ตั้งแต่ปี 2030 ไฮโดรเจนสีเขียวจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในโลกของพลังงาน
ปัจจุบัน มีการใช้งานเทคโนโลยีไฮโดรเจนในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งมีศักยภาพสูงในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน เช่น
- เยอรมนี ร่วมมือกับรัสเซียในการส่งไฮโดรเจนที่ผลิตได้ผ่านท่อมายังเยอรมนี และเปิดให้บริการรถไฟพลังงานไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อทดแทนรถไฟดีเซล โดยสามารถวิ่งได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร สำหรับการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนหนึ่งถัง และทำความเร็วได้สูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ญี่ปุ่น บริษัท Honda ทดสอบ Data Center พลังงานไฮโดรเจน และบริษัท ISUZU นำรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนทดลองวิ่งใช้งานจริงในญี่ปุ่น ก่อนที่จะเตรียมเปิดขายในปี 2027
- ฝรั่งเศส บริษัท Pragma Industries ผลิตจักรยานพลังงานไฮโดรเจน และ บริษัท Compagnie Fluvial de Transport เริ่มใช้เรือพลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ก็มีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจนใน 3 ภาคส่วนหลัก ๆ ได้แก่
1. ภาคอุตสาหกรรม
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานความร้อนสูง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ การกลั่นน้ำมัน
2. ภาคการผลิตไฟฟ้า
สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือนําไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซไฮโดรเจน ผ่านกระบวนการเผาไหม้โดยตรง หรือผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง
3. ภาคการขนส่ง
สำหรับใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รวมถึงรถโดยสารและรถบรรทุก
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่ม ปตท. ในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศ ได้เตรียมความพร้อม และนำร่องผลักดันเทคโนโลยีไฮโดรเจนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน และภาคขนส่งของประเทศไทย
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล ไล่ตั้งแต่
- ก่อตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
เพื่อก่อตั้งองค์กรที่รวบรวมผู้ที่สนใจนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาร่วมขับเคลื่อนให้เป็นพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคต
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนในไทย โดยปัจจุบันมีสมาชิก 54 บริษัท
- ร่วมกับพันธมิตรเปิด Hydrogen Station หรือสถานีบริการไฮโดรเจนแห่งแรกในไทย ณ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อศึกษาการใช้ไฮโดรเจนในภาคการขนส่งของประเทศ
รวมทั้งมีการเพิ่มขีดความสามารถของ Hydrogen Station ให้รองรับรถบรรทุก และรถหัวลากได้
- ชนะการประมูลโครงการไฮโดรเจนสีเขียว ที่ประเทศโอมาน
รวมทั้งมีการพัฒนาและทดสอบการผสม Hydrogen ในก๊าซธรรมชาติ
และพัฒนาห้องปฏิบัติการของสถาบันนวัตกรรมด้วย
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ไฮโดรเจน ไม่ใช่เพียงแค่พลังงานแห่งอนาคต
แต่คือกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกศักยภาพในการสร้างโลกที่ยั่งยืน
และตอบโจทย์ความท้าทายด้านพลังงานที่เร่งด่วนในปัจจุบัน
และด้วยความมุ่งมั่นของ ปตท. และภาคีเครือข่ายทั่วโลก
การพัฒนาไฮโดรเจนจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างอนาคตที่เป็นกลางทางคาร์บอน และมั่นคงด้านพลังงาน
ท้ายที่สุดแล้ว ในสักวันหนึ่งที่ไฮโดรเจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา
โลกของเราคงจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
และคำตอบของวิกฤติพลังงานที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้
คงได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นได้..
References
- สถาบันนวัตกรรม ปตท.
- คณะกรรมการหอการค้าไทย
- สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon