กรณีศึกษา เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐ กำลังอ่อนค่าลง

กรณีศึกษา เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐ กำลังอ่อนค่าลง

กรณีศึกษา เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐ กำลังอ่อนค่าลง /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐ เริ่มกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง
ทำไมเงินดอลลาร์สหรัฐจึงกลับมาอ่อนค่า
แล้วมันส่งผลกระทบอย่างไร
ลงทุนแมนจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
สัมผัสเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จากสตาร์ตอัปไทย
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า เงินดอลลาร์สหรัฐ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน
รู้ไหมว่า ปัจจุบัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของทุกประเทศทั่วโลกนั้นประกอบไปด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีสัดส่วนสูงกว่า 60%
ดังนั้นเราจึงบอกได้ว่า เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีความสำคัญต่อทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ
ขณะที่ในด้านการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้น กว่า 87% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
2 เรื่องทำให้เราบอกได้ว่า เงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลกอยู่ในปัจจุบัน และน่าจะเป็นต่อไปอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเงินสกุลหลักที่เป็นที่ต้องการของโลก แต่มูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐกลับลดลงมาเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ว่า เงินดอลลาร์สหรัฐกำลังอ่อนค่า
หนึ่งในตัวชี้วัดที่นักการเงินและนักเศรษฐศาสตร์นิยมใช้ในการวัดการอ่อนค่าหรือแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ คือ US Dollar Index โดยจะนำเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเทียบกับเงินสกุลหลักของโลกเช่น เงินยูโร เงินเยน เงินปอนด์ เงินดอลลาร์แคนาดา เงินโครนาสวีเดน เงินฟรังก์สวิส
ถ้า US Dollar Index มีค่าลดลงแสดงว่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักของโลก
ถ้า US Dollar Index มีค่าเพิ่มขึ้นแสดงว่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักของโลก
รู้ไหมว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 US Dollar Index เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 102.82 ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 93.39 ในปัจจุบันเท่านั้น นั่นหมายว่า เพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 9%
แล้วเรื่องนี้มันเกิดจากสาเหตุอะไร?
ให้เราลองนึกภาพว่าเงินนั้นเหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง
โดยธรรมชาติแล้ว ถ้าสินค้าไหนมีปริมาณมากกว่าความต้องการ มูลค่าของมัน ก็มักจะลดลง ตามหลัก Demand & Supply
ซึ่งปริมาณของเงินก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน..
การระบาดของ Covid-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่ามูลค่า GDP ของสหรัฐฯ จะลดลงกว่า 8% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 53 ล้านล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้มากกว่า GDP ของประเทศไทยถึง 3 เท่า
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จึงออกมาประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยไม่จำกัดวงเงิน และไม่จำกัดเวลา ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคและธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของ Covid-19
รวมไปถึงการแจกเงินเยียวยาให้กับประชาชนของภาครัฐในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ก็ทำให้ประชาชนมีเงินในมือมากขึ้น ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะได้รับเงินมากกว่าช่วงที่ทำงานเสียอีก
เรื่องนี้ส่งผลทำให้ปริมาณเงินในระบบ (Money Supply) ของสหรัฐอเมริกานั้นปรับเพิ่มขึ้น
ซึ่งปริมาณเงินที่ว่านี้ มีตั้งแต่เหรียญ ธนบัตร เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ ที่อยู่ในมือของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงเวลาหนึ่ง
เดือนมีนาคม 2563 ปริมาณเงินในระบบของสหรัฐอเมริกาเท่ากับ 496 ล้านล้านบาท
เดือนมิถุนายน 2563 ปริมาณเงินในระบบของสหรัฐอเมริกาเท่ากับ 570 ล้านล้านบาท
ในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นถึง 74 ล้านล้านบาท ทั้งๆ ที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การที่ปริมาณเงินในระบบของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นด้วยจำนวนเท่านี้ ปกติจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี
ปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จึงทำให้นักลงทุนที่ถือเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็เปรียบเสมือนสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง ต้องขายเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์อย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นราคาของสินทรัพย์หลายชนิดนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นหรือทองคำ
ลองมาดูตัวอย่างของสินทรัพย์บางอย่างที่ปรับเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง นับแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศใช้มาตรการ QE ในรอบนี้
ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพิ่มสูงกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อทรอยออนซ์
ผลตอบแทนของทองคำเพิ่มขึ้น 36% นับจากต้นปี
ตลาดหุ้นสหรัฐอย่าง Nasdaq ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปิดสูงกว่า 11,000 จุด
ผลตอบแทนของตลาดหุ้น Nasdaq เพิ่มขึ้น 23% นับจากต้นปี
จากเดิมที่คนคิดว่า Cash is King ในช่วงเวลาวิกฤติ
แต่เมื่อเห็นเป็นอย่างนี้แล้ว
นักลงทุนอเมริกัน อาจมองว่า Cash is Trash ก็เป็นได้..
----------------------
สัมผัสเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จากสตาร์ตอัปไทย
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Reserve_currency
-https://fxssi.com/top-5-most-traded-currencies-in-the-world
-https://en.wikipedia.org/wiki/U.S._Dollar_Index
-https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2020/06/24/WEOUpdateJune2020
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://tradingeconomics.com/united-states/money-supply-m2
-https://www.investopedia.com/terms/q/quantitative-easing.asp
-https://markets.businessinsider.com/commodities/gold-price

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon