จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ /โดย ลงทุนแมน

จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ /โดย ลงทุนแมน

จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ /โดย ลงทุนแมน
5 ประเทศที่อยู่ในตะวันออกกลาง ส่งออกน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 5 ของน้ำมันดิบทั่วทั้งโลก
สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกน้ำมันดิบในปี 2018
ซาอุดีอาระเบีย 16.1% ของโลก
อิรัก 8.1%
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5.2%
คูเวต 4.6%
อิหร่าน 4.5%
แหล่งน้ำมันดิบสำคัญของภูมิภาคนี้ อยู่บริเวณโดยรอบอ่าวเปอร์เซีย
ซึ่งการขนส่งน้ำมันออกมาสู่ลูกค้าประเทศต่างๆ จะใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก
แต่การที่เรือจะเดินทางออกจากอ่าวเปอร์เซีย มาสู่โลกภายนอก จำเป็นจะต้องเดินทางผ่านจุดที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ “ช่องแคบฮอร์มุซ” (Strait of Hormuz)
ช่องแคบฮอร์มุซอยู่ตรงไหน แล้วใครเป็นเจ้าของ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
╚═══════════╝
ในแง่ภูมิศาสตร์
ช่องแคบฮอร์มุซ เป็นช่องแคบที่กั้นระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน
มีรูปร่างเป็นตัว V ยาวประมาณ 167 กิโลเมตร ในช่วงที่แคบที่สุด กว้างเพียง 34 กิโลเมตร
ซึ่งหากเรือขนส่งเดินทางออกมาจากอ่าวเปอร์เซีย
จะต้องผ่านช่องแคบนี้ ก่อนออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
ผืนแผ่นดินฝั่งหนึ่ง เป็นดินแดนของโอมาน
ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง เป็นดินแดนของอิหร่าน
ในแง่ประวัติศาสตร์
คำว่า “ฮอร์มุซ” หมายถึง พระอหุระมาซดะ หรือเทพมาซดะ (Mazda)
ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของชาวเปอร์เซียโบราณ
บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรฮอร์มุซ ก่อนจะเปลี่ยนผู้ปกครองมาหลายครั้ง
ทั้งโปรตุเกส จักรวรรดิเปอร์เซีย มาจนถึงอิหร่าน
ในปี 1982 นานาชาติได้ร่วมกันลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UNCLOS)
เพื่อให้องค์การสหประชาชาติมีอำนาจในการควบคุมเส้นทางการค้าในช่องแคบฮอร์มุซ
แต่อิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่มีกองกำลังทหารแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย
ไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้
จึงเท่ากับว่า อิหร่านอาจใช้ช่องแคบแห่งนี้เป็น “ข้อต่อรอง”
ให้อีกฝ่ายทำตามเงื่อนไขที่ต้องการ
ในแง่เศรษฐกิจ
มีการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซวันละ 15 ล้านบาร์เรล ในเดือนมิถุนายน 2019
คิดเป็นมูลค่าถึงวันละ 27,000 ล้านบาท
โดยการขนส่งน้ำมันดิบของประเทศกาตาร์ คูเวต บาห์เรน และอิหร่าน
จะต้องผ่านช่องแคบนี้ทั้งหมด
ในขณะที่น้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียและอิรัก 90% จำเป็นต้องขนส่งผ่านช่องแคบนี้
ส่วนการขนส่งน้ำมันดิบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ คิดเป็นสัดส่วน 75%
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน
นำมาสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกาต้องการให้เศรษฐกิจของอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุด
แต่สำหรับอิหร่าน ซึ่งส่งออกน้ำมันเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
หากถูกกีดกันการค้าอย่างหนัก ก็อาจเหลือทางเลือกไม่มากนัก
หนึ่งในหนทางที่อิหร่านอาจตอบโต้ก็คือ “การปิดช่องแคบฮอร์มุซ”
ถ้าช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด จะเกิดอะไรขึ้น?
แม้อิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบเป็นสัดส่วนเพียง 4.5% ของโลก
แต่การขนส่งน้ำมันเกือบ 2 ใน 5 ของโลก
จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประเทศไทย ในปี 2019 ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 615,575 ล้านบาท
แม้ไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
แต่ในจำนวนนี้ นำเข้าจากประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย
คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าน้ำมันดิบทั้งหมด ดังนี้
นำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็น 28%
นำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย คิดเป็น 20%
นำเข้าจากกาตาร์ คิดเป็น 7%
นำเข้าจากคูเวต คิดเป็น 2%
หากเทียบเป็นสัดส่วนของน้ำมันดิบที่จำเป็นต้องขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ
ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบนี้เป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าน้ำมันดิบทั้งหมด
พูดง่ายๆ หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด
น้ำมันดิบกว่าครึ่งที่ประเทศไทยนำเข้าจะมีปัญหาในการขนส่ง
ซึ่งนอกจากประเทศไทย ประเทศอื่นทั่วโลกที่ต้องนำเข้าน้ำมันก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซในทันทีก็คือ
ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น
ถึงแม้ว่าราคาสูงขึ้น และเรามีเงินมากพอที่จะซื้อ แต่ถ้ามันขนส่งมาไม่ได้
เราก็อาจเกิดภาวะที่ขาดแคลนน้ำมันดิบ
ภาคการผลิต อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคขนส่งของประเทศไทยยังพึ่งพาน้ำมันเป็นพลังงานเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในที่สุดภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยและทั่วโลกจะสูงขึ้น
เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางทั่วโลกก็จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อ
เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาคเอกชนที่ก่อหนี้ไว้ก็มีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น
และเมื่อไม่มีเงินมาจ่าย ธุรกิจอาจต้องปิดตัวตามๆ กัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจถดถอย
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย
แต่ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนาน
มันอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และตัวเรา
มากกว่าที่คิด..
----------------------
แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.businessinsider.com/strait-of-hormuz-explainer-oil-us-iran-tensions-2019-7
-https://www.marketwatch.com/story/strait-of-hormuz-the-worlds-biggest-oil-chokepoint-in-focus-as-us-iran-tensions-flare-2020-01-03
-https://time.com/5632388/strait-of-hormuz-iran-tanker/
-https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2019-07-28/saudi-arabia-plan-to-avoid-oil-danger-at-hormuz-isn-t-much-safer
-http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=4&Lang=Th&ImExType=0

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon