AI-THE NEXTGEN โดย True Digital Academy พร้อมรับมืออนาคตด้วยทักษะ AI

AI-THE NEXTGEN โดย True Digital Academy พร้อมรับมืออนาคตด้วยทักษะ AI

True Digital Academy X ลงทุนแมน
เทรนด์ AI กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว การทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทัน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน
แล้วเราจะประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคนในองค์กรได้อย่างไร ?
เพื่อตอบคำถามนี้ True Digital Academy จึงได้จัดงาน AI-THE NEXTGEN: Behind technologies are people พร้อมเปิดตัวโซลูชัน AI ใหม่มาเพิ่มทักษะและการทำงานด้าน AI ของคนในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Highlight สำคัญในงาน มีตั้งแต่
- ผู้เชี่ยวชาญ Microsoft กับแนวโน้ม AI ล่าสุด
- ผู้เชี่ยวชาญ Google กับการสร้างแรงงานที่พร้อมสำหรับ AI
- Panel Discussion ผู้บริหารบริษัทชั้นนำถึงวิธีผสมผสานเทคโนโลยีกับทักษะการสื่อสาร เพื่อใช้งาน AI ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
- AI Solutions Walkthrough จาก True Digital Academy
ความน่าสนใจของงานนี้ เป็นอย่างไร ?
มาเจาะลึกถึงประเด็นสำคัญ เพื่อไม่พลาดการเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับ AI ที่กำลังจะมาถึง
คุณเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า
True Digital Academy มุ่งมั่นที่จะเสริมศักยภาพเทคโนโลยีให้เข้าถึงและใช้งานง่ายสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักศึกษา หรือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่ม Productivity และขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
แต่เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง หลายครั้งก็มาพร้อมต้นทุนที่สูงเช่นกัน True จึงมุ่งมั่นพัฒนาบริการให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างคุณค่าทางธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับลูกค้า
การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. เทคโนโลยี
ต้องมีประสิทธิภาพสูง ใช้งานง่าย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง
2. ข้อมูล
การมี Big Data จำนวนมหาศาล การบริหารจัดการข้อมูลที่ดีจะนำไปสู่โอกาสความสำเร็จที่สูงขึ้น
3. คน
เน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพราะเชื่อว่าคนเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนทุกการพัฒนา
โดย True Digital Academy ยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า “เรื่องใหญ่ ๆ มักจะเกิดจากเรื่องเล็ก ๆ เสมอ”
การพัฒนาคนและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นรากฐานสำคัญที่สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนทั้งธุรกิจและสังคมไทยในอนาคต
แล้ว AI ในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร เปลี่ยนแปลงโลกมากแค่ไหน ?
มาหาคำตอบไปพร้อมกับคุณโอม ศิวะดิตถ์ National Technology Officer ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กัน
ย้อนกลับไปในปี 2022 ทาง Microsoft ได้ลงทุนใน ChatGPT และพัฒนา Copilot ก้าวสำคัญที่ปฏิวัติวงการทำงาน
โดย Copilot ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในองค์กร โดยทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น Microsoft 365 ทำให้การทำงานรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และรู้หรือไม่ว่า AI กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน Generative AI มากกว่า 1,000 ล้านคนในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา
โดย 3 จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ AI มีบทบาทมากขึ้นคือ
- Universal Interface
ผู้ใช้งานสื่อสารกับ AI อย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการถามหรือสั่งให้ทำงานต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม
- Memory and Context
ทำให้การสนทนากับ AI ลื่นไหลและต่อเนื่อง AI สามารถจดจำและเข้าใจบริบทของการสนทนาที่ผ่านมา ช่วยให้การสื่อสารไม่สะดุด
- Reasoning and Planning
นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ ChatGPT 4.0 ยกระดับความสามารถของ AI ไปอีกขั้น โดย AI สามารถคิดวิเคราะห์ วางแผน และเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการตีความภาพ การจับใจความสำคัญจากข้อความ หรือการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน AI สามารถทำได้อย่างชาญฉลาด
ยกตัวอย่างเช่น หาก AI มองเห็นองุ่นอยู่บนโต๊ะ ก็จะสามารถตอบสนองได้ตั้งแต่การบอกว่าองุ่นมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร ไปจนถึงการเตือนว่าองุ่นอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้
ที่น่าสนใจคือ Microsoft ได้นำ AI มาผสานรวมกับบริการต่าง ๆ อย่างเช่น PowerPoint ที่มี Copilot คอยช่วยสร้างสไลด์นำเสนอ เข้าใจบริบท และเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ทำให้การทำงานง่ายและสะดวกขึ้น
นอกจากนี้ เรายังสามารถทำงานร่วมกันระหว่าง Microsoft Docs, PowerPoint และแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เห็นได้ชัดว่า Generative AI กำลังจะพลิกโฉมวิธีการทำงานของเราในทุก ๆ ด้าน ข้อมูลบ่งชี้ว่า AI ช่วยให้เรา
- ทำงานที่เกี่ยวกับความรู้ได้เร็วขึ้น 29%
- ติดตามงานจากการประชุมได้เร็วขึ้น 3.8 เท่า
- เขียนโคดซอฟต์แวร์ได้เร็วขึ้น 55%
- แก้ไขปัญหาบริการลูกค้าได้เร็วขึ้น 12 เท่า
- ทำงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้เร็วขึ้น 22% และมีความแม่นยำมากขึ้น 7%
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า Generative AI มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงานของเราในหลากหลายด้าน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
แล้วในมุมมองของ Microsoft
3 Big AI Trends ที่น่าจับตามองคืออะไร ?
1. Multimodal AI
AI ที่มีความสามารถในการเข้าใจและสร้างเนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง และวิดีโอพร้อมกัน
เช่น AI ที่สามารถสร้างภาพประกอบจากคำบรรยาย หรือวิดีโอสั้น ๆ จากบทความที่เขียนขึ้นมาได้ ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารและการนำเสนอข้อมูลมีประสิทธิภาพและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
2. Small Language Models
โมเดลภาษาขนาดเล็กที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและได้รับการฝึกฝนมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน ทำให้ใช้งานได้หลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม
เช่น โมเดลภาษาที่ถูกฝึกฝนมาเพื่อการแปลภาษาเฉพาะทาง หรือโมเดลภาษาที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์
3. AI-Driven Science
การนำ AI มาใช้ในการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เร่งกระบวนการค้นพบสิ่งใหม่ และแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เช่น การใช้ AI ในการพัฒนายารักษาโรค หรือการใช้ AI ในการทำนายสภาพอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ถึงตรงนี้ เมื่อได้เห็นภาพรวม AI และการประยุกต์ใช้ในองค์กรกันไปแล้ว คราวนี้มาเจาะลึกถึงแนวทางการสร้างแรงงานที่พร้อมสำหรับ AI จากบริษัทระดับโลกอย่าง Google กันบ้าง
คุณพุฒิ ตั้งตระกูลวงศ์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรจาก Google Cloud ประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า
“นับตั้งแต่ ChatGPT ได้เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2022 ทาง Google ก็ได้พัฒนาทักษะ AI ของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่รวดเร็ว พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตของทั้งบุคคลและองค์กรไปพร้อม ๆ กัน”
ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่คุณ Sundar Pichai ซีอีโอของ Google ยังได้กล่าวเกี่ยวกับ AI ว่า “ช่องว่างทางทักษะด้านเทคโนโลยีและ AI เป็นภัยคุกคามต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศที่ลงทุนในการพัฒนาทักษะแรงงาน จะเป็นผู้ชนะในอนาคต”
แน่นอนว่าหากปรับตัวไม่ทัน จะเกิดผลเสียจากการไม่ลงทุนในการพัฒนาทักษะ AI มากมาย เช่น
1. ตามหลังคู่แข่ง
องค์กรที่ไม่ปรับตัวจะเสียเปรียบในการแข่งขันและอาจถูก Disrupt ได้ง่าย
2. เพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI อาจเปิดช่องให้องค์กรถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น
3. ช่องว่างทางทักษะขยายกว้างขึ้นจนล้าสมัย
ทักษะที่เคยมีอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานในอนาคต ทำให้องค์กรไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
4. ยากที่จะดึงดูดคนเก่ง
เพราะคนรุ่นใหม่มองหาองค์กรที่ให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา หากองค์กรไม่ลงทุนในด้านนี้ อาจพลาดโอกาสในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูง
5. ลดความสามารถในการปรับตัวและขวัญกำลังใจของพนักงานลดลง
พนักงานที่รู้สึกว่าตนเองไม่ทันต่อเทคโนโลยีอาจหมดกำลังใจในการทำงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพและความผูกพันต่อองค์กร
แล้วกรอบการพัฒนาทักษะ AI ของ Google น่าสนใจอย่างไร ?
สิ่งที่ทำให้กรอบการพัฒนาทักษะ AI ของ Google น่าสนใจเป็นพิเศษคือ “ความยืดหยุ่น” ที่เปิดโอกาสให้พนักงานแต่ละคนเลือกเรียนรู้ตามความสนใจ และเป้าหมายของตนเอง
ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงตำแหน่งงานปัจจุบัน แต่ยังมองไปถึงศักยภาพและความต้องการของตลาดในอนาคตอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น
- พนักงานในฝ่ายการตลาด ที่สนใจด้านเทคโนโลยี อาจได้รับการพัฒนาทักษะด้าน UI/UX เพื่อออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดี หรือเรียนรู้ด้าน Product Management เพื่อเข้าใจการพัฒนาและบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
- พนักงานในฝ่ายกฎหมาย ที่ต้องการเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญ อาจได้รับการพัฒนาทักษะด้าน Compliance เพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ หรือเรียนรู้ด้าน Contract Specialist
เพื่อจัดการสัญญาต่าง ๆ อย่างมืออาชีพ หรือแม้แต่พัฒนาทักษะด้าน Cybersecurity เพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กรจากภัยคุกคามต่าง ๆ
นอกจากนี้ Google ยังสร้างความเข้าใจพื้นฐาน AI ให้กับพนักงานทุกคนผ่านโครงการ AI Literacy Program นำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และยังมีเครื่องมือและกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
- Gemini Code Assist เครื่องมือช่วยเขียนโคด AI ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีธุรกิจมากกว่า 5,000 แห่งทั่วโลกใช้งานอยู่
- จัดสรรเวลาให้พนักงานได้เรียนรู้อย่างเต็มที่
- สร้างแรงจูงใจและการให้รางวัล ผ่านการใช้ Gamification หรือระบบเกมเพื่อเพิ่มความสนุกในการเรียนรู้ มอบประกาศนียบัตร หรือให้รางวัลหรือโบนัส
นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ความสำเร็จในการพัฒนาทักษะของพนักงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ในองค์กร อีกด้วย
สรุปง่าย ๆ ว่ากรอบการพัฒนาทักษะ AI ของ Google เตรียมความพร้อมให้พนักงานรับมือ AI และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
รู้หรือไม่ว่า 44% ขององค์กร เชื่อว่าการเพิ่มความชำนาญด้าน AI ให้กับทีมต่าง ๆ เป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรด้วย AI อย่างยั่งยืน
แล้วในมุมมองของ True Digital Academy ขั้นตอนการพัฒนาทักษะ AI เป็นอย่างไร ?
โดย ดร.ชนนิกานต์ จิรา ผู้อำนวยการของ True Digital Academy ได้ให้คำตอบผ่านกรอบการเรียนรู้ที่เรียกว่า TDA's AI Literacy Stages ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรต้องทำในยุค AI Transformation นี้
เพื่อให้บุคคลและองค์กรสามารถพัฒนาทักษะ AI อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมี 4 Solutions หลัก ได้แก่
1. IDENTIFY เพื่อสร้างแผนงานในการทำ AI Transformation
2. INSPIRE เพื่อสร้างการรับรู้และการวางแนวทางไปสู่การเปลี่ยนแปลง
3. INTEGRATE เพื่อสร้างทักษะในการประยุกต์ใช้ AI แต่ละประเภท
4. INNOVATE เพื่อสร้างและขับเคลื่อน AI Use Cases และ AI Project
ที่สำคัญ จากการสำรวจของ True Digital Academy พบว่า ประโยชน์ที่องค์กรจะได้จากการทำตาม Solutions ต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือ
- โอกาสเพิ่มกำไรสูง 20% เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่มีแผน
- โอกาสเพิ่มความสำเร็จในการขยายการใช้ AI มากกว่า 1.7 เท่า เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่มีการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ AI ในทุกระดับ
- โอกาสเพิ่มความเร็วในการนำ AI มาใช้และการดำเนินการมากขึ้น 40%
- ลดความไม่มีประสิทธิภาพลง และเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนใน AI ได้สูงขึ้นถึง 50%
- โอกาสเพิ่มอัตราการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ สูงถึง 60% เมื่อเทียบกับองค์กรที่เน้นการใช้ AI แค่พื้นฐาน
แต่ก่อนที่จะสามารถนำ Solutions เหล่านี้ไปใช้ได้ เราจำเป็นต้องทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1. ทำความเข้าใจและตระหนัก (Understand & Beware)
ก่อนที่จะนำ AI ไปใช้ เราจำเป็นต้อง “ระบุ” หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับ AI อย่างถ่องแท้ เริ่มตั้งแต่ AI คืออะไร ? ทำอะไรได้บ้าง ? มีข้อจำกัดอะไร ? ผลกระทบต่อชีวิตการทำงานและสังคมคืออะไร ?
และที่สำคัญที่สุด คือการตระหนักถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบในการใช้ AI เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
2. ใช้งานและประยุกต์ใช้ (Use & Apply)
เมื่อมีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับ AI แล้ว เราสามารถเริ่ม “สร้างแรงบันดาลใจ” ในการนำ AI ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เรียนรู้เครื่องมือและเทคนิค AI ต่าง ๆ และทดลองใช้ในสถานการณ์จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการทำงาน
3. วิเคราะห์และประเมินผล (Analyze & Evaluate)
ในขั้นตอนนี้ เราจะ “ผสาน” AI เข้ากับกระบวนการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อติดตามและประเมินผลการใช้งาน AI ว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน
หรือสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ จากนั้นนำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาการใช้งาน AI อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้อย่างแท้จริง
4. สร้างสรรค์โซลูชัน (Create Solutions)
ขั้นตอนสุดท้ายคือการ “สร้างสรรค์” โซลูชันใหม่ ๆ ด้วย AI โดยเริ่มจากการระบุปัญหาหรือความท้าทายที่ AI สามารถแก้ไขได้
จากนั้นใช้ความรู้และทักษะ AI ในการออกแบบและพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาอย่างตรงจุด และไม่ลืมที่จะทำการทดสอบและปรับปรุงโซลูชัน AI อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เสมอ
เมื่อพิจารณาถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ AI ในโลกปัจจุบัน คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ทักษะใดบ้างที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ?
ลองมาฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีกัน…
คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Head of Digital Home Division, True Digital Group มองว่า
“การมาถึงของ AI รุ่นต่อไป โดยเฉพาะ Generative AI กำลังจะปฏิวัติโลกการทำงานครั้งใหญ่
องค์กรต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องปรับตัวและนำ AI มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเป็นหลัก
ในอนาคต ทักษะด้าน AI จะไม่ใช่แค่ความได้เปรียบ
แต่จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี เช่นเดียวกับทักษะทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ทักษะเฉพาะทางและความเชี่ยวชาญเดิม ๆ อาจมีความสำคัญลดลง
เนื่องจาก AI จะสามารถทำงานเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำกว่า
ทักษะที่จะโดดเด่นและมีความสำคัญมากขึ้นในยุค AI คือ ความคิดสร้างสรรค์
แม้ AI จะสามารถทำงานที่ต้องใช้ตรรกะและการวิเคราะห์ได้ดีเยี่ยม
แต่มนุษย์ยังคงมีเอกลักษณ์และความได้เปรียบในเรื่องของจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ยังไม่สามารถทำได้เทียบเท่า”
ในขณะที่ คุณสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ CEO, KT Venture Capital และอดีต MD, Dtac Accelerate มองว่า
“ภายในองค์กรใด ๆ ย่อมมีพนักงานอยู่ 2 กลุ่มเสมอ กลุ่มแรกคือ ผู้ที่กระหายใคร่รู้ พร้อมเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ที่อาจมองไม่เห็นความจำเป็นในการพัฒนาตนเอง
ประเด็นสำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการพัฒนาทักษะ หรือที่เรียกว่า 'Upskilling' และเปลี่ยนมุมมองของพนักงานจากการรู้สึกว่า 'ต้องเรียน' ให้กลายเป็น 'อยากเรียน'
อีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญคือบทบาทของผู้จัดการระดับกลาง พวกเขาคือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร หากผู้จัดการเหล่านี้ไม่ให้การสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ของพนักงานรุ่นใหม่ได้”
สุดท้ายนี้ ถ้าจะสรุปเกี่ยวกับ Success Case ในมุมมองของคุณอภิรัตน์และคุณสมโภชน์เป็นอย่างไรภายใน 1 ประโยค เราคงได้คำตอบประมาณนี้
คุณสมโภชน์ มองว่า เราควรเริ่มจากวิเคราะห์งาน, ปรับปรุงทีละขั้น, รับฟังความเห็น, เปิดรับเทคโนโลยี, สร้างความสม่ำเสมอ หัวหน้างานต้องเปิดใจ พร้อมเป็นตัวอย่าง
คุณอภิรัตน์ ให้ความเห็นว่า อย่าตามเทรนด์ AI อย่างเดียว ต้องเข้าใจธุรกิจและเป้าหมายก่อน วางแผน, กำหนด OKR/KPI, อย่ารีบร้อน Generative AI สร้างความเท่าเทียม ทุกคนต้องเรียนรู้และปรับตัว ที่สำคัญคือต้องทำให้พนักงาน 'อยากเรียน' เรื่อง AI ไม่ใช่ 'ต้องเรียน' เรื่อง AI
มาถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะพร้อมหรือไม่ การปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ AI คือหนทางสู่ความสำเร็จในอนาคต…
สำหรับองค์กรที่ต้องการเติบโตไปกับโลกแห่ง AI และมองหาที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ True Digital Academy พร้อมสนับสนุนคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อเราได้ที่ https://www.truedigitalacademy.com/
#AITHENEXTGEN
#TrueDigitalAcademy
Reference
- งานสัมมนา AI-THE NEXTGEN: Behind technologies are people โดยลงทุนแมน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon