บทสัมภาษณ์ ผู้บริหาร L'Oréal Thailand

บทสัมภาษณ์ ผู้บริหาร L'Oréal Thailand

บทสัมภาษณ์ ผู้บริหาร L'Oréal Thailand / โดย ลงทุนแมน
ในธุรกิจเครื่องสำอาง ทั้งในแง่ยอดขาย และมูลค่าบริษัท L'Oréal Group ถือว่าเป็นบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก แล้วในตอนนี้เป้าหมายสูงสุดของ L'Oréal คืออะไร?
ลงทุนแมนได้มีโอกาสขอสัมภาษณ์แนวคิดของคุณอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการบริษัท L'Oréal ประเทศไทย และเธอได้ให้คำตอบดังนี้
“เราต้องการจะเป็นบริษัทผู้นำด้าน Beauty Tech”
นี่คือเป้าหมายสูงสุดของ L'Oréal Group
จริงๆ แล้วเรื่องของ “ความสวยความงาม” และ “เทคโนโลยี” ดูเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
คุณอินเนส อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจอย่างไร? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาดูภาพรวมของ L'Oréal Group
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า
จริงๆ แล้ว L'Oréal Group ไม่ได้มีแบรนด์ L'Oréal Paris เพียงแบรนด์เดียว
ปัจจุบัน L'Oréal Group มีแบรนด์ในเครือกว่า 36 แบรนด์
ขายอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก
และมี 22 แบรนด์ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย
โดย L'Oréal แบ่งการบริหารพอร์ตออกเป็น 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่
Consumer Products ผลิตภัณฑ์อุปโภค
เช่น L'Oréal Paris, Garnier, NYX Professional Makeup, Maybelline New York
L'Oréal Luxe ผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง ที่เป็นสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์
เช่น Lancôme, Giorgio Armani Beauty, Yves Saint Laurent Beauté, Biotherm, Kiehl’s, Shu Uemura, Urban Decay
Professional Products ผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ ตามร้านซาลอน
เช่น L'Oréal Professionnel, Kérastase
Active Cosmetics ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง
เช่น Vichy, CeraVe, La Roche-Posay
เรื่องนี้เกิดมาจากโมเดลธุรกิจของบริษัท L'Oréal ที่โฟกัสการขยายพอร์ตสินค้าโดยการเข้าซื้อกิจการแบรนด์ความงาม ไม่ว่าจะเป็นบำรุงผิว บำรุงเส้นผม และเครื่องสำอางชั้นนำทั่วโลก
แล้วเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับ L'Oréal อย่างไร?
เรื่องนี้น่าสนใจ เนื่องจากยอดขายผ่านช่องทาง E-commerce ของ L'Oréal ในครึ่งแรกของปี 2019
เติบโตสูงขึ้นเกือบ 49%
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเครื่องสำอางขายผ่านออนไลน์ได้ ทั้งที่เครื่องสำอางเป็นสินค้าที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการทดลองสินค้า หรือได้รับคำแนะนำจากพนักงานขายก่อนตัดสินใจซื้อ
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถูกแก้ไขได้โดยการใช้เทคโนโลยี..
L'Oréal มองว่า เทคโนโลยีจะทำให้แบรนด์สามารถสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า และทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้น
อย่างบริการตรวจสภาพผิวหน้า Spotscan ของ La Roche-Posay โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัญหาเรื่องสิวและมีความรุนแรงในระดับไหน โดยมีการแนะนำวิธีดูแลผิวเบื้องต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม
นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์การลองเครื่องสำอางกับหน้าของลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยี AR ผ่านแอปพลิเคชัน E-commerce อย่าง Shopee หรือ Lazada
ถ้าลูกค้าถูกใจสีไหน ก็สามารถกดสั่งซื้อได้เลยทันที โดยไม่ต้องลุ้นว่าที่หน้าร้านจะมีสินค้าที่ต้องการหรือไม่
หรือสินค้าที่สั่งซื้อมาจะเหมาะกับเราหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง E-commerce กลับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้มีแบรนด์เครื่องสำอางเกิดใหม่มากมาย
เพราะใครๆ ก็ทำแบรนด์ของตัวเองได้ โดยไม่ต้องมีต้นทุนหน้าร้าน
ลงทุนแมนจึงถามคุณอินเนสว่า เธอมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร
คุณอินเนสมองว่าทุกแบรนด์ต่างเป็นคู่แข่งที่เท่าเทียมกัน
ไม่ว่าแบรนด์นั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่แค่ไหน
แม้ว่าการมีแบรนด์เครื่องสำอางที่หลากหลายจะทำให้เกิดการแข่งขันสูง
แต่เรื่องนี้ยังส่งผลให้ตลาดเครื่องสำอางคึกคัก ซึ่งถือเป็นเรื่องดี
และที่สำคัญสุด คือ เป็นโอกาสให้ L'Oréal ได้มองหาแบรนด์ในเครือใหม่ๆ
เพื่อจะมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต
ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นก็คือ NYX Professional Makeup แบรนด์เครื่องสำอางที่ขายออนไลน์ 100%
ก่อตั้งโดย Beauty Blogger ซึ่งต่อมาถูกซื้อกิจการ เข้ามาอยู่กับ L'Oréal
ทำให้ทั้ง 2 แบรนด์สามารถเรียนรู้จากกันและกัน และเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม
แล้วในอนาคตภาพของ L'Oréal จะเป็นอย่างไร?
คุณอินเนสกล่าวว่า L'Oréal จะก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการไปพร้อมๆ กับการนำเสนอสินค้า โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ
พูดง่ายๆ ก็คือในอนาคต L'Oréal จะไม่ได้ขายแค่ลิปสติกที่เป็นแท่งๆ แล้ว แต่จะขายประสบการณ์การซื้อลิปสติกให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด
และเทคโนโลยีต่างๆ จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ L'Oréal เป็นบริษัทผู้นำในโลก Beauty Tech ตามที่วางเป้าหมายไว้ได้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon