MIT มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก เป็นอย่างไร?

MIT มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก เป็นอย่างไร?

MIT มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก เป็นอย่างไร? / โดย ลงทุนแมน
รายได้ใน 1 ปี ของบริษัทที่ถูกก่อตั้งโดยศิษย์เก่าของ MIT
จะมีมูลค่าพอๆ กับขนาดเศรษฐกิจของประเทศอิตาลี..
MIT ย่อมาจาก Massachusetts Institute of Technology
หรือ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
รัฐแมสซาชูเซตส์ได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่ง
แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอะไรพิเศษกว่าที่อื่น?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย QS World University Rankings
ซึ่งพิจารณาจากปัจจัย ความมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา
สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษา
สัดส่วนผลงานทางวิชาการที่ได้รับอ้างอิงต่อจำนวนอาจารย์
และสัดส่วนของอาจารย์และนักศึกษาต่างชาติ
MIT ครองตำแหน่งมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกมา 7 ปีซ้อน
ตั้งแต่ปี 2013 - 2019
งานวิจัยที่พัฒนามาอย่างเข้มข้นและยาวนาน
ทำให้สถาบันแห่งนี้มีคุณูปการต่อความก้าวหน้าหลายอย่างของมวลมนุษยชาติ
ทั้งการพัฒนาเรดาร์ แผงวงจรดิจิทัล
การพัฒนาประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
ไปจนถึงการค้นพบยีนก่อมะเร็ง (Oncogene)
MIT แบ่งออกเป็น 31 ภาควิชา ใน 5 คณะ
1.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง
2.คณะวิศวกรรมศาสตร์
3.คณะมนุษยศาสตร์ ศิลปะและสังคมศาสตร์
4.คณะการบริหารจัดการ
5.คณะวิทยาศาสตร์
เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน
สถาบันแห่งนี้จึงมีค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนอยู่ที่ปีละประมาณ 1.5 ล้านบาท
แต่หลังจบการศึกษา ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนศิษย์เก่า จะอยู่ที่ปีละประมาณ 3 ล้านบาท
ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จากการเก็บข้อมูลของ The New York Times
ศิษย์เก่าของ MIT ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น
Kofi Annan อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
Buzz Aldrin นักบินอวกาศผู้ไปเหยียบดวงจันทร์กับยานอพอลโล 11
I.M. Pei สถาปนิกผู้สร้างพีระมิดแก้วหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีส
Ben Bernanke อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
และมีศิษย์เก่าอีกหลายคนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทระดับโลก
Hewlett-Packard (HP) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ
Bill Hewlett ผู้ร่วมก่อตั้ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า
ในปี 2018 Hewlett-Packard (HP) มีรายได้ 1.8 ล้านล้านบาท
Intel บริษัทผู้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์ชื่อดัง
Robert Noyce ผู้ร่วมก่อตั้ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านฟิสิกส์
ในปี 2018 Intel มีรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท
Qualcomm บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
Irwin Jacobs ผู้ร่วมก่อตั้ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า
และปริญญาเอก ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์
ในปี 2018 Qualcomm มีรายได้ 7 แสนล้านบาท
Dropbox บริษัทบริการการเก็บข้อมูลบนคลาวด์
Drew Houston ผู้ร่วมก่อตั้ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์
ในปี 2018 (9 เดือน) Dropbox มีรายได้ 4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีอีกกว่า 30,000 บริษัท ซึ่งล้วนถูกสร้างโดยเหล่าศิษย์เก่า MIT
บริษัทเหล่านี้สร้างงาน 4.6 ล้านตำแหน่ง
และสร้างรายได้ต่อปีรวมกันราว 60 ล้านล้านบาท
ซึ่งพอๆ กับขนาดเศรษฐกิจของประเทศอิตาลี
และใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า
หากจุดมุ่งหมายในอดีตของมหาวิทยาลัยคือการสร้างคนเพื่อทำงาน
แต่โลกที่เปลี่ยนแปลงไปกำลังทำให้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนที่คน
จุดมุ่งหมายของ MIT คือการสร้างคนเพื่อไปเป็นนักสร้าง..
เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีทำงานอย่างไร
แล้วสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้มีคุณค่าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
หันกลับมามองที่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย
เรากำลังผลิตคนออกมาให้เป็นอย่างไร
ถ้าบุคคลเหล่านั้นจบออกมา แล้วสามารถเป็นนักสร้างสรรค์ได้
ก็เชื่อได้ว่าอนาคตใหม่ของ ประเทศไทย จะก้าวไปได้ไกลกว่าวันนี้..
----------------------
รู้มั้ยว่า หูฟัง Bose ก็มาจากวิศวกร MIT นะ อ่านเรื่องนี้ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5b7ce01412b4b61dd5004ba5
โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon