ทำไม คนเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ มีความรู้การเงินดี อันดับต้น ๆ ของโลก

ทำไม คนเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ มีความรู้การเงินดี อันดับต้น ๆ ของโลก

ทำไม คนเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ มีความรู้การเงินดี อันดับต้น ๆ ของโลก /โดย ลงทุนแมน
“เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์” รวมกันเรียกว่า กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มักได้รับการยกย่องให้เป็น ประเทศที่คนมีความรู้ทางการเงินดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
โดย GOBankingRates ได้ให้ 3 ประเทศนี้ ครองอันดับ 1 ร่วมกัน ในการเป็นประเทศที่อัตราส่วนของประชากรมีความรู้ทางการเงิน มากที่สุดในโลก (71%)
และจากการสำรวจของ Standard & Poor's เผยว่า เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ มีประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 7 ใน 10 สามารถตอบคำถามพื้นฐานทางการเงินได้ถูกต้อง
โดยตอบถูกเกินกว่า 75% ที่เกี่ยวกับเรื่อง อัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยทบต้น เงินเฟ้อ และการกระจายความเสี่ยง
ทำไม คนใน 3 ประเทศสแกนดิเนเวีย ถึงมีความรู้เรื่องการเงินดี ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
การมีความรู้ทางการเงินเพียงพอ นำไปสู่การจัดการและการตัดสินใจทางการเงินที่เหมาะสม ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงิน ภาพรวมของสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลได้ดี ก็จะส่งเสริมต่อคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ
กลับกัน การขาดความรู้ทางการเงิน อาจนำไปสู่การตัดสินใจทางการเงินที่ผิดพลาด จนทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว หรือหนักถึงขั้นล้มละลาย
ซึ่งก็กระทบต่อความเครียดและสภาพจิตใจ อันจะนำไปสู่ปัญหาครอบครัวและสังคมได้
แน่นอนว่า ความรู้ทางการเงิน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน ด้วยหลายเหตุปัจจัย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราสามารถเรียนรู้ และยกระดับความรู้ให้เพิ่มขึ้นได้
ทีนี้ ลองมาดูกรณีตัวอย่างของ 3 ประเทศนี้ ที่ขึ้นชื่อว่า คนมีความรู้ทางการเงินดี เป็นอันดับ 1 ของโลกกัน
อย่างแรกเลย ทั้ง 3 ประเทศนี้มี “ระบบการศึกษา ที่เอื้อต่อการสร้างความรู้ทางการเงิน”
โดยมีการสอนเกี่ยวกับการเงินและการบริหารเงินส่วนบุคคล ที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา
อย่างในระดับชั้นประถมศึกษา ก็มีการสอนให้เด็กเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการรายรับ รายจ่าย การออม และการลงทุน ควบคู่ไปกับการสอนเรื่องคณิตศาสตร์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา
พอมาในระดับมัธยมศึกษา ก็มีสอนเกี่ยวกับการลงทุน ที่ลงรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงเรื่องการประกันภัย การกู้เงิน และการวางแผนการเงิน
โดยมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
เช่น การวางแผนการเงินส่วนบุคคล การทำรายรับรายจ่ายของครอบครัว และการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ..
ทั้งนี้ การสอนจะถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็ก เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนที่ทันสมัย เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจ เกิดการเรียนรู้ที่สนุก และช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
ซึ่งจากการประเมินความรู้ทางการเงินของ PISA ในปี 2018 ในกลุ่มเด็กวัย 15 ปี โดยประเทศเหล่านี้มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย เลยทีเดียว
มากกว่านั้น ยังมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดอบรมและให้ความรู้ด้านการเงินแก่วัยผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ประชากรทุกวัย ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ทางการเงิน อีกด้วย
และสิ่งที่ตามมาก็คือเกิดเป็น “พฤติกรรมในการออมและการวางแผนการเงิน”
โดยเฉพาะการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ การบริโภคอย่างมีสติ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ที่ฝังรากลึกลงไปในความคิดของคนในประเทศ
และฝั่งของรัฐบาลเอง ยังมีการสนับสนุนระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการศึกษา ทำให้ประชาชนมีเงินเหลือเก็บออมมากขึ้น
อีกทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ที่ออมเงิน มีการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุน และมีส่วนร่วมในการลงทุน
เพื่อช่วยจูงใจให้คนมีการออม และวางแผนการเงินมากขึ้น
โดยผลสำรวจจากธนาคารกลางยุโรปในปี 2019 เผยไว้ว่า คนในประเทศเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ มีทัศนคติที่ดีต่อการออมหรือเก็บออมอย่างสูง
อย่างในประเทศเดนมาร์ก ประชากรถึง 84% มีการออมเงินเป็นประจำ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป 63%
ต่อมาเป็นเรื่องของ “นวัตกรรมทางการเงินที่ดี”
โดยประเทศเหล่านี้ มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่ทันสมัยและเข้าใจง่าย
จากข้อมูลของ Deloitte เผยว่า ประเทศนอร์ดิก
(เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) เป็นที่ตั้งของบริษัท Fintech ที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก
โดยมีผู้ให้บริการที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ใช้งานง่าย ทั้งการให้บริการทางการเงินแบบออนไลน์ แพลตฟอร์มการลงทุน แอปพลิเคชันจัดทำงบประมาณ รายรับรายจ่าย
บวกกับการส่งเสริมของรัฐบาล ที่ช่วยให้ประชาชน สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง โดยมีต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงิน โดยมีกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการอีกด้วย..
เป็นอีกแรงส่งสำคัญ ทำให้ประชาชนของประเทศสแกนดิเนเวีย มีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนการจัดการทางการเงินอย่างปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เปิดใจ และเสริมสร้างความรู้ด้านทักษะทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น
ถึงตรงนี้ ก็พอสรุปได้ว่า ความรู้ทางการเงินที่สูงของคนในประเทศเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แต่เป็นวิสัยทัศน์ของประเทศ ที่วางรากฐานความรู้ทางการเงินให้คนในประเทศ ตั้งแต่ในระบบการศึกษา ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
ตลอดจนการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ เกิดเป็นพฤติกรรมการออมและการวางแผนการเงินที่แข็งแกร่ง
รวมไปถึงนวัตกรรมทางการเงินที่ดี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ที่ช่วยเสริมทักษะทางการเงินของคนในประเทศให้ดียิ่งขึ้น
และผลลัพธ์ที่ได้คือ ทำให้คนเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ มีความรู้เรื่องการเงินดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://medium.com/@junha.hutabarat/what-we-can-learn-from-the-most-financially-literate-countries-60a2e13f1e40
-https://finance.yahoo.com/news/financial-literacy-around-world-top-120017481.html
-Standard & Poor's : Financial Literacy Around the World 2014

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon