กรณีศึกษา ฟองสบู่โลกอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว

กรณีศึกษา ฟองสบู่โลกอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว

กรณีศึกษา ฟองสบู่โลกอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงวิกฤติตลาดหุ้นที่เป็นที่จดจำของโลกการลงทุน
หนึ่งในนั้น จะต้องมีชื่อของ “Dot-Com Crisis”
เหตุการณ์นี้ เกิดมาจากการเก็งกำไรในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ในระหว่างปี 1995 - 2000
โดยที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง
แต่ทว่าผลการดำเนินงานไม่สามารถเติบโตได้ตามความคาดหวัง
จนสุดท้ายฟองสบู่แตกในที่สุด
เรื่องราวของวิกฤตินี้เป็นอย่างไร
มีบริษัทไหนล้มหายตายจากไป และมีบริษัทไหนที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้บ้าง?
ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้น คงต้องย้อนกลับไปในปี 1993 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เว็บเบราว์เซอร์ถูกคิดค้นขึ้นมา ในตอนนั้นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนสามารถเข้าสู่โลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
ส่งผลให้คอมพิวเตอร์ จากที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย กลับกลายเป็นสิ่งของจำเป็นภายในเวลาไม่นาน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว
อัตราการครอบครองคอมพิวเตอร์ ในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 35%
รวมทั้งอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศพัฒนาแล้ว ก็เพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 31%
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ในปี 1995 - 2000 เป็นยุคที่บริษัทเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก และได้มีธุรกิจใหม่ๆ ในโลกออนไลน์ เกิดขึ้นมากมาย เพราะเป็นช่องทางทำตลาดใหม่ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่มีชื่อลงท้ายด้วย .com จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นพิเศษ
หากจะกล่าวถึงธุรกิจเทคโนโลยี คงต้องไปดูข้อมูลตลาดหุ้น Nasdaq ซึ่งกลายเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทเหล่านี้ ที่เมื่อก่อนยังมีขนาดเล็ก และไม่สามารถไปจดทะเบียนในตลาดใหญ่อย่าง New York Stock Exchange (NYSE) ได้
ในเวลา 10 ปี ก่อนเกิดเว็บเบราว์เซอร์นั้น มีบริษัททำ IPO ใน Nasdaq จำนวน 1,991 ราย แต่หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 1993 - 2000 มีบริษัท IPO สูงถึง 2,678 ราย ซึ่งสะท้อนการเติบโตของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี
แต่สิ่งที่ตามมาจากแนวโน้มนี้ คือความคาดหวังที่สูงของนักลงทุน จนเกิดเป็นภาวะการเก็งกำไรขึ้น
เริ่มต้นปี 1995 ดัชนี Nasdaq อยู่ที่ระดับ 745 จุด จากนั้นตลาดก็เป็นขาขึ้นตลอด 5 ปี
ในวันที่ 10 มี.ค. 2000 ดัชนี Nasdaq ทำจุดสูงสุดที่ 5,048 จุด หมายความว่า ใน 5 ปี ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 578% หรือเฉลี่ย 47% ต่อปี และตลาดนี้ซื้อขายกันที่ราคา P/E เฉลี่ย 200 เท่า
P/E คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไรใน 1 ปีย้อนหลัง P/E 200 หมายความว่า หุ้นของบริษัทนั้นซื้อขายกันที่ราคา 200 บาท ในขณะที่กำไร 1 ปีล่าสุดของบริษัทนั้นมีแค่ 1 บาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทดอทคอมหลายแห่ง มักใช้แผนกลยุทธ์ที่เน้นการเติบโต โดยจะสร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุดก่อน แม้จะต้องขาดทุนตอนแรก
ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในราคาที่ถูก และมุ่งเน้นโฆษณาแบรนด์ตัวเองให้เป็นที่จดจำ เพื่อหวังผลกำไรที่ดีในอนาคต
แต่เมื่อความคาดหวังนั้นสูงเกินไป และกำไรของบริษัท โตไม่ทัน อีกทั้งหลายบริษัทมีข่าวการตกแต่งบัญชี ทำให้สุดท้าย การเก็งกำไร ต้องมาถึงจุดสิ้นสุด และตลาดหุ้น Nasdaq ก็เริ่มถูกเทขายอย่างหนัก ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี
ในวันที่ 9 ต.ค. 2002 Nasdaq ทำจุดต่ำสุดที่ 1,114 จุด หรือลดลง 78% จากจุดสูงสุด และมูลค่าตลาดได้หายไปกว่า 165 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 15 ปี กว่าดัชนีจะกลับมายืนเหนือจุดเดิมเมื่อต้นปี 2000 ได้
จากเหตุการณ์นี้ มีบริษัทธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ต้องล้มละลายไป ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดกิจการไม่นาน เช่น Pets.com (ขายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง), Webvan (ขายของชำ), Boo.com (ธุรกิจค้าปลีกขายเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง) เป็นต้น
แล้วบริษัทไหนบ้างที่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้?
เชื่อหรือไม่ว่าบริษัทที่รอดมาได้ สามารถก้าวเป็นผู้ครองตลาดอินเทอร์เน็ตได้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งแต่ละบริษัทต่างก็เผชิญกับวิกฤตินี้มาเช่นกัน และค่อยๆ สร้างความแข็งแกร่งแบบยั่งยืน จนถึงทุกวันนี้ เช่น
Amazon หุ้นทำจุดสูงสุดที่ 106 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนฟองสบู่ ก่อนร่วงลงมาต่ำสุด 6 ดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 94%) แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 1,630 ดอลลาร์สหรัฐ.. ใครซื้อหุ้น Amazon ตอนจุดต่ำสุดจะได้กำไรมากถึง 271 เท่า
Microsoft หุ้นทำจุดสูงสุดที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนร่วงลงมาต่ำสุด 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 67%) ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 107 ดอลลาร์สหรัฐ
Ebay หุ้นทำจุดสูงสุดที่ 13 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนร่วงลงมาต่ำสุด 3 ดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 77%) ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ตอนนั้นเพิ่งได้รับความบอบช้ำจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ถึงแม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดอทคอมโดยตรง แต่เงินต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนก็หายไปส่วนหนึ่ง ทำให้ SET Index ได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินไหลออกไปเช่นกัน
โดยก่อนหน้าที่เกิดวิกฤติดอทคอม SET Index อยู่ประมาณ 500 จุด แต่หลังเกิดวิกฤตินี้ SET Index ตกลงไปถึง 250 จุด เรียกได้ว่าติดลบ 50% เลยทีเดียว
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน หลายคนอาจมองว่า หุ้นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เริ่มมีราคาแพง เช่น Amazon มี P/E 132 เท่า, Netflix มี P/E 110 เท่า, Google มี P/E 45 เท่า จึงเริ่มเกิดความกังวลว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่
แต่จากวิกฤติดอทคอม หลายบริษัทก็มีการเรียนรู้ และสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง มีความสามารถในการทำกำไรอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทที่มีมูลค่าใหญ่ที่สุดในโลก ตอนนี้ล้วนมาจากธุรกิจเทคโนโลยีทั้งสิ้น เช่น Apple, Amazon, Alphabet, Microsoft หรือ Facebook
อย่างไรก็ตาม ในการลงทุน ไม่มีอะไรแน่นอน แม้ปัจจัยพื้นฐานจะดี แต่ตลาดย่อมมีวัฏจักรขึ้นลงอยู่เสมอ ดังนั้นนักลงทุนควรจะมีแผนบริหารความเสี่ยงเอาไว้ด้วยเช่นกัน
ข้อคิดที่ได้จากวิกฤติครั้งนี้คือ
มนุษย์ทุกคน ย่อมลงทุนเพราะความคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทน
แต่หากความคาดหวังนั้นสูงเกินไป จนไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงก็จะเกิดปัญหา
ในการลงทุน เราควรแยกให้ออกระหว่าง การลงทุนในกิจการบริษัท หรือการเก็งกำไร
ถ้าเราจะลงทุนระยะยาวกับบริษัท ก็ควรจะศึกษาให้เข้าใจถึงธุรกิจนั้นๆ อย่างถ่องแท้เสียก่อน แต่หากเราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว บริษัทนั้นทำกิจการอะไร สุดท้ายมันคือการเข้าไปเก็งกำไร
ในการเก็งกำไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนอื่นคาดหวังสูงกว่าเรา และเป็นเหยื่อรายต่อไปที่จะยอมมาซื้อในราคาที่แพงกว่าหรือไม่
ซึ่งถ้าไม่มีเหยื่อรายต่อไป ก็ให้รู้ไว้ว่า คนที่เป็นเหยื่อ ก็คือ ตัวเราเอง..
----------------------
ติดตามบทความน่ารู้และพัฒนาตนเองอื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-7.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Dot-com_bubble
-https://en.wikipedia.org/wiki/Global_Internet_usage
-https://site.warrington.ufl.edu/ritter/files/2017/08/IPOs2016Statistics.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon