มหากาพย์ การศึกษาไทย

มหากาพย์ การศึกษาไทย

มหากาพย์ การศึกษาไทย / โดย ลงทุนแมน
ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย
เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
ที่ผ่านมาเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
แล้วสุดท้ายต่างจากเดิมหรือไม่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าพูดถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงบ่อยของเมืองไทย
นอกจากอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แล้ว
ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเองก็น่าจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนั้น
19 ปีที่ผ่านมานี้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่ระบบ Entrance
เรามาลองดูกันว่าแต่ละครั้งมีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจขนาดไหน
เริ่มแรกในสมัยก่อน ระบบ Entrance จะมีการสอบปีละ 1 ครั้ง และวัดผลไปเลยว่าใครได้คะแนนเท่าไร
ใครได้คะแนนมากสุดในคณะนั้นก็จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
ต่อมาระบบ Entrance ปี 2542 สอบ 2 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ตัวในครั้งที่ 2 ได้ บวกด้วยคะแนน GPA 10%
นับเป็นปีแรกที่เริ่มมีการใช้เกรดเฉลี่ยของการศึกษาระบบมัธยมปลายมาคิดคะแนนเนื่องจากพบว่าก่อนหน้านี้เด็กไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าเรียน
ปี 2549 ระบบ Entrance ได้ถูกยกเลิกและเข้าสู่ระบบ Admission เนื่องจากการเกิดขึ้นของสทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ)
ระบบ Admission ในช่วงแรก เด็กจะต้องสอบ O-NET และ A-NET ซึ่งสัดส่วนคะแนนแล้วแต่มหาวิทยาลัยกำหนด บวกด้วย GPAX 30%
O-NET คือ การทดสอบวิชาพื้นฐาน
A-NET คือ การทดสอบวิชาระดับสูง
เราจะเห็นว่าสัดส่วนของ GPAX ที่เพิ่มขึ้นมาเนื่องจากยังพบว่านักเรียนยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนเท่าไรนักและไปมุ่งเน้นอยู่กับการเรียนพิเศษ
ส่วนระบบ O-NET และ A-NET จะสอบครั้งเดียว เพื่อแก้ปัญหาที่ระบบ Entrance มีการสอบ 2 ครั้ง ซึ่งทำให้นักเรียนต้องพยายามเรียนทุกอย่างให้จบใน 2 ปีครึ่ง
ปี 2553 O-NET 30% + GPAX 20% + GAT / PAT
จะเห็นว่า GPAX ถูกลดสัดส่วนลงเนื่องจากโดนร้องเรียนว่า แต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานการเรียน และให้เกรดที่แตกต่างกัน
และ A-NET หายไปซึ่งถูกแทนที่ด้วย GAT / PAT
GAT / PAT เกิดจากการที่ผู้ใหญ่คิดว่า A-NET เดิมไม่ตอบโจทย์ เด็กไม่ได้คิดวิเคราะห์ เลยคิดข้อสอบใหม่ขึ้นมาแทน
โดย GAT เป็นการทดสอบความถนัดทั่วไป
ส่วน PAT เป็นการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ
และในคราวนี้ สทศ. ต้องการลดความเครียดของผู้เข้าสอบลง เพราะสามารถสอบได้ถึงปีละ 4 ครั้ง
แต่หลังจากทำไปได้สักพักก็เริ่มลดจำนวนครั้งลงมาเรื่อยๆ จนเหลือ 2 ครั้งเหมือน Entrance ในสมัยก่อน
ด้วยเหตุผลคือ ออกข้อสอบไม่ทัน..
จากระบบการสอบเข้าในครั้งนี้ หลายๆ มหาวิทยาลัยจึงพยายามปรับเป็นรูปแบบสอบตรงกันหมดเพราะมองว่าระบบนี้ยังไม่ตอบโจทย์ของการศึกษาเท่าไหร่
ปี 2556 O-NET 30% + GPAX 20% + GAT / PAT + ข้อสอบกลางสำหรับการรับตรง
ข้อสอบกลางสำหรับการรับตรง เกิดขึ้นในครั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนต้องวิ่งสอบตรงหลายที่และสอบจำนวนหลายครั้งซึ่งพอรวมแล้วเป็นค่าใช่จ่ายที่ค่อนข้างเยอะ
เรื่องนี้จึงทำให้เกิดระบบเคลียริ่ง เฮาส์เป็นครั้งแรก เพื่อป้องกันการ “กันที่” เพราะมีเด็กบางคนจะกันสิทธิ์ 2 ทาง คือสอบตรง และ ยื่นคะแนนในระบบ Admission
และในปีนี้ 2561 ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั้งหมดเปลี่ยนชื่อมาเป็น TCAS หรือ Thai University Central Admission System
โดยกำหนดให้สามารถสอบได้เพียงครั้งเดียวหลังจบ ม. 6 โดยใช้ข้อสอบ O-NET, GAT/ PAT และ ข้อสอบกลางสำหรับการรับตรง 9 วิชาสามัญ เหมือนเดิม
แต่ระบบนี้ก็ยังคงมีปัญหาการกันที่นั่งของเด็กเก่งที่สามารถเลือกได้หลายคณะ
อ่านมาถึงตรงนี้เราสังเกตเห็นอะไรบ้าง ?
จุดประสงค์ที่เคยต้องการให้สอบได้หลายครั้ง ปัจจุบันได้กลับมาเหลือเพียง 1 ครั้งเช่นเดิมแบบ Entrance ในสมัยแรกสุด
ซึ่งจำนวนวิชาเท่าเดิมแต่ตอนนี้กลับแบ่งเป็น O-NET, GAT/ PAT และข้อสอบรับตรง
และที่สำคัญคือ การเรียนพิเศษยังคงได้รับความนิยมอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ลดลงจากสมัยก่อน
สรุปแล้วมหากาพย์นี้ ตอนท้ายวนกลับมาที่เดิม
คนที่ได้รับผลกระทบก็คงจะเป็น
นักเรียนที่อยู่ช่วงที่เป็นรอยต่อของการเปลี่ยนไปมา
ลองคิดดูว่า ถ้าเราเป็นนักเรียนที่เรียนอยู่ ม.4 วางแผนในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
แต่พอถึงช่วง ม.6 ระบบการสอบก็เปลี่ยนไป
สรุปที่วางแผนมากลับใช้ไม่ได้
ก็น่าเห็นใจว่าเรื่องนี้มันจะหยุดนิ่งได้เมื่อไร
ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร มันจะไปหยุดที่ตรงไหน
คนที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ ก็คงจะเป็น
ครูสอนพิเศษ นั่นเอง..
#dek61 #TCAS
----------------------
การศึกษาไทยมีการเปลี่ยนแปลง แต่ลงทุนแมนไม่เปลี่ยนไปนะ
ติดตามบทความลงทุนแมน ได้ที่
-แอปลงทุนแมน blockdit.com
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
-หนังสือลงทุนแมน 3.0 ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon