มหากาพย์ สมรภูมิสงครามการค้า อาเซียน  ดินแดนแห่งขุมทรัพย์

มหากาพย์ สมรภูมิสงครามการค้า อาเซียน ดินแดนแห่งขุมทรัพย์

มหากาพย์ สมรภูมิสงครามการค้า อาเซียน
ดินแดนแห่งขุมทรัพย์ /โดย ลงทุนแมน
“400 ปี” คือช่วงเวลาที่ภูมิภาคอาเซียน เจอสงครามการค้ายาวนาน มาตั้งแต่อดีต
ถ้าถามว่านานแค่ไหน
ก็คงต้องย้อนกลับไปสมัยอยุธยา ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเมืองท่านานาชาติ ที่คึกคักมากที่สุดในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว
สงครามการค้าในดินแดนแถบนี้เกิดขึ้นตอนไหน และเกิดขึ้นเพราะอะไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนไปเมื่อ 400 ปีก่อน ภูมิภาคอาเซียน เต็มไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์ป่า และแหล่งน้ำที่ไว้ปลูกพืชอาหารได้ดี
เมื่อทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ ดินแดนแถบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับทองคำ ที่ดึงดูดบรรดาพ่อค้า เข้ามาซื้อสินค้า เช่น ข้าว ของป่า ไม้สัก กลับไปขายต่อที่ดินแดนอื่น ๆ
ซึ่งพ่อค้าที่เข้ามาก่อนใคร นั่นคือ พ่อค้าชาวจีน..
พ่อค้าชาวจีนเข้ามาซื้อขายโดยตรงในดินแดนแถบนี้ หรือรับจ้างเดินเรือให้กับกษัตริย์ของอาณาจักรต่าง ๆ เช่น อยุธยา เพราะมีความชำนาญในการเดินเรือสูง
แต่ผลประโยชน์ที่หอมหวาน จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมาย ทำให้มีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำมาก แต่สามารถขายต่อในดินแดนอื่นได้ในราคาสูง
ตัวอย่างเช่น มีข้อมูลคาดการณ์ว่า ถ้านำข้าว
จากอาณาจักรอยุธยา ไปขายที่จีน สามารถขายได้ถึง 3 เท่า จากต้นทุนรับซื้อข้าวเลยทีเดียว
ยุคแรกของสงครามการค้าในดินแดนแถบนี้ ก็ได้เกิดขึ้นระหว่างพ่อค้าชาวจีนและญี่ปุ่น
พ่อค้าชาวญี่ปุ่น เริ่มมองเห็นโอกาสเข้ามาค้าขายในดินแดนแถบนี้บ้าง ในช่วงปี 1592 แม้ว่าต้องเจอเจ้าตลาดเดิมอย่างพ่อค้าชาวจีนก็ตาม
แต่พ่อค้าชาวญี่ปุ่น ก็เลือกไม่แข่งค้าขายสินค้าเดียวกับพ่อค้าชาวจีน แต่หันไปซื้อขายหนังสัตว์เป็นหลัก แลกกับทองแดงจากประเทศญี่ปุ่นแทน
ไม่นาน ทองแดงก็เป็นที่ต้องการสูงมาก เพราะเอาไปใช้ทำอาวุธต่าง ๆ ได้ จึงทำให้พ่อค้าชาวญี่ปุ่น ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญกับจีน
การค้าดูจะเป็นไปด้วยดี แต่สุดท้าย ผู้ปกครองญี่ปุ่นเลือกปิดประตูการค้าขายกับต่างประเทศไปดื้อ ๆ ทำให้พ่อค้าชาวจีน กลายเป็นเจ้าตลาดการค้าทางทะเลในแถบนี้เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ไม่วันใดก็วันหนึ่ง คู่แข่งทางธุรกิจก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี
เพราะยุคต่อมา สงครามการค้าเกิดขึ้นอีกครั้ง
ระหว่างพ่อค้าชาวจีนและพ่อค้าชาวตะวันตก
เริ่มตั้งแต่
- พ่อค้าชาวโปรตุเกส เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่มะละกา
- พ่อค้าชาวฮอลันดา เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่หมู่เกาะอินโดนีเซีย
- พ่อค้าชาวอังกฤษ เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่อยุธยา, ปีนัง และสิงคโปร์
ในตอนแรก สิ่งที่พ่อค้าชาวตะวันตกต้องการ มีเพียงเครื่องเทศ เพื่อนำไปขายต่อในทวีปยุโรป ที่กำลังต้องการสินค้าเหล่านี้สูง
แต่ต่อมา พ่อค้าชาวตะวันตกเริ่มมองเห็นและสนใจจีนมากขึ้น เพราะเป็นโอกาสในการค้าขายที่สำคัญ ที่สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล
ซึ่งสินค้าในตอนนั้นที่จีนนำเข้าส่วนใหญ่ ก็มาจากดินแดนแถบอาเซียน แต่การเจาะตลาดจีน ก็ต้องแข่งขันแย่งชิงกับพ่อค้าชาวจีนโดยตรง
พ่อค้าชาวตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ก็ค่อย ๆ พัฒนาสถานีการค้าของตัวเอง ให้เป็นเมืองท่า ที่คอยรับซื้อและรวบรวมสินค้า ก่อนส่งไปยังประเทศจีน
วันแล้ววันเล่า สุดท้ายพ่อค้าชาวตะวันตกก็สามารถเจาะตลาดจีนได้สำเร็จ เพราะมีเมืองท่าการค้าของตัวเอง แถมยังมีวิทยาการเดินเรือที่ล้ำกว่าเรือพ่อค้าชาวจีน
เมื่อพ่อค้าชาวตะวันตก เข้ามาค้าขายต่อเนื่อง จีนเองก็เริ่มกีดกันทางการค้า จนพ่อค้าชาวตะวันตกแทบไม่ได้กำไร
สุดท้ายเหลือแค่พ่อค้าชาวอังกฤษ ที่ยังอยู่ได้ เพราะนำฝิ่นเข้าไปขาย เพื่อชดเชยการขาดดุลการค้ากับจีน จนความขัดแย้งบานปลาย นำไปสู่สงครามฝิ่นในที่สุด..
และดินแดนแถบนี้ ก็เข้าสู่ยุคสงครามการค้า ครั้งที่สาม นั่นคือ ระหว่างพ่อค้าชาวจีนและสหรัฐฯ
แม้ไม่ใช่สงครามการค้าที่เกิดขึ้นโดยตรง แต่อาเซียนเอง กลับโดนตามไปด้วย
ในปี 2019 จีนและสหรัฐฯ เริ่มขึ้นภาษีสินค้าบางอย่างระหว่างกัน เพื่อตอบโต้จากข้อกล่าวหาว่า แต่ละฝ่ายทำการค้าเอาเปรียบมากเกินไป รวมถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติ
พอเป็นแบบนี้ ทำให้บรรดาโรงงานและบริษัทต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ก็เริ่มมองหาที่ตั้งใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ซึ่งปลายทางยอดนิยม ก็อยู่ไม่ห่างไกลจากจีน
นั่นคือ ประเทศในอาเซียน นั่นเอง
เวียดนาม เริ่มมีโรงงานมาตั้งฐานการผลิตมากขึ้น เช่น Samsung และ LG จากเกาหลีใต้, Foxconn โรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนของ Apple
ด้วยจุดเด่นเรื่องค่าแรงถูก แรงงานขยัน รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของภาครัฐ
นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์มากขึ้น จากความเชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบการทำงานของชิป รองจากจีน ซึ่งมีบริษัทท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ มาให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ
รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม แรงงานคุณภาพสูง ทำให้บรรดาผู้ผลิตชิป หันมาตั้งโรงงานในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะปีนังมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น Infineon จากเยอรมนี, Intel จากสหรัฐฯ, Texas Instruments จากสหรัฐฯ และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม เหรียญมีสองด้านเสมอ..

กลายเป็นว่า สินค้าจีนราคาถูก ทะลักเข้ามาในอาเซียนแทน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสหรัฐฯ และยุโรปประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน
ทำให้ประเทศในอาเซียนเริ่มขาดดุลการค้าจีนหนักขึ้น และกระทบกับผู้ประกอบการและธุรกิจภายในประเทศ จนต้องมีนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าบางอย่างมากขึ้น
และสุดท้าย คือ สงครามการค้ายุคปัจจุบัน
ที่พ่อค้าชาวจีน กำลังท้าชิงเจ้าตลาดอย่างญี่ปุ่น ในอาเซียน
ต้องบอกว่า ในช่วงที่ญี่ปุ่นต้องทำข้อตกลง Plaza Accord เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น สินค้าส่งออกที่ผลิตจากญี่ปุ่น แพงขึ้นทันที เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
ญี่ปุ่น เลยย้ายฐานการผลิตจากประเทศตัวเอง ออกมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
ด้วยภาพลักษณ์และคุณภาพของสินค้า ญี่ปุ่น เลยกลายเป็นเจ้าตลาดในอาเซียนมานาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ กว่า 80% ของรถยนต์ที่ผลิตในอาเซียน เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น
แต่ปัจจุบัน การมาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีน ก็ได้มาสั่นคลอนเจ้าตลาดอย่างญี่ปุ่น ไล่ตั้งแต่การนำเข้ามาขาย จนถึงการตั้งโรงงานผลิตแข่งกับญี่ปุ่นเอง
ซึ่งก็ไม่ใช่แค่รถยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และเชนร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม
ที่แบรนด์จีนเอง ก็ผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และกำลังรุกตลาดในอาเซียน แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากญี่ปุ่น และแบรนด์ตะวันตก มากขึ้นเรื่อย ๆ
ก็น่าสนใจว่า สุดท้ายพ่อค้าชาวจีน จะกลับเข้ามาครองตลาดการค้าในอาเซียน ได้สำเร็จแบบเดิม เหมือนที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีตหรือไม่
แต่ที่เราเห็นภาพชัดแน่ ๆ คือ อาเซียนเป็นสมรภูมิสงครามการค้ามาตั้งแต่อดีต ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อมอยู่เสมอ
เรียกได้ว่า เป็นดินแดนแห่งขุมทรัพย์ ที่ยังคงเนื้อหอมมาทุกยุคทุกสมัย..
References
-หนังสือ จิ้มก้องและกำไร: การค้าไทย-จีน 2195-2396 โดย สารสิน วีระผล
-https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Japan-and-ASEAN-to-craft-auto-strategy-to-counter-China-s-EVs
-https://www.silpa-mag.com/history/article_88331

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon