รู้จัก Process Power ไพ่เด็ดที่ทำให้บริษัทใหญ่มากมาย ยังคงแข็งแกร่ง

รู้จัก Process Power ไพ่เด็ดที่ทำให้บริษัทใหญ่มากมาย ยังคงแข็งแกร่ง

รู้จัก Process Power ไพ่เด็ดที่ทำให้บริษัทใหญ่มากมาย ยังคงแข็งแกร่ง /โดย ลงทุนแมน
มีหลายบริษัทใหญ่ทั่วโลก ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้วยกลยุทธ์ Economies of Scale หรือยิ่งผลิตเยอะ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของสินค้า ก็ยิ่งต่ำลง
- Toyota ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น สามารถครองแชมป์รถยนต์ระดับแนวหน้าของโลก ทั้งที่มีคู่แข่งมหาศาล
- TSMC ผู้ผลิตชิปจากไต้หวัน มีลูกค้ารายใหญ่ในมือมากมาย จึงได้กลายมาเป็นกระดูกสันหลังของวงการเทคโนโลยีโลก เอาชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอย
ซึ่งนอกจาก Economies of Scale แล้ว ทั้ง 2 บริษัทนี้ มีสิ่งที่เหมือนกัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นไพ่เด็ดของบริษัทใหญ่ ๆ ก็คือ Process Power
แล้ว Process Power คืออะไร ทำไมถือเป็นไพ่เด็ด ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Process Power เป็น 1 ใน 7 ขุมพลัง (7 Powers) กรอบแนวคิดด้านกลยุทธ์ธุรกิจ ที่คิดค้นโดย Hamilton Helmer นักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกัน
แนวคิดนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ธุรกิจ สร้างและรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว รวมถึงรักษาความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
โดยคำนิยามของ Process Power คือ พลังที่เกิดจากกระบวนการภายในองค์กร ซึ่งหมายถึงระบบการผลิตที่โดดเด่น องค์ความรู้ (Know-How) ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร
ที่ช่วยทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการผลิตสินค้าหรือบริการ เหนือกว่าคู่แข่ง โดยที่คู่แข่งจะไม่สามารถเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ในเวลาสั้น ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าฝังอยู่ใน DNA ขององค์กรเลยทีเดียว
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างผ่านเคสของ Toyota ค่ายรถยนต์ชื่อดังของโลก
หากลองถามเหตุผลว่า ทำไมคนจำนวนมากชื่นชอบรถของ Toyota คำตอบก็มักเป็น เพราะรถยนต์ Toyota นั้น มีคุณภาพที่ดี ไม่ค่อยมีปัญหาจุกจิก และราคาไม่แพงจนเกินไปเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรถยนต์สันดาปรายอื่น ๆ
ซึ่งเหตุผลที่ Toyota สามารถผลิตรถยนต์คุณภาพดี ในขณะที่ยังควบคุมต้นทุนให้ต่ำได้ ก็เพราะมี Process Power ที่เรียกว่า Toyota Production System (TPS)
TPS เป็นระบบที่ Toyota คิดค้นขึ้นเองเพื่อทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
หลักคิดของ TPS ก็คือลดต้นทุนการผลิต ลดของเสีย และผลิตตามจำนวนที่ขายได้ (Just in Time) ขณะที่ยังคงรักษามาตรฐานและคุณค่าของสินค้าเอาไว้ได้
ซึ่งถ้าหากเราลองมาเจาะลึกลงไปในระบบ TPS อีกชั้นหนึ่ง ก็จะพบกับหลักการต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของ TPS อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น
- Just in Time ผลิตสินค้าได้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ และทันเวลา โดยไม่จำเป็นต้องมีการสต๊อกชิ้นส่วนและสินค้า มากจนเกินไป ผ่านการสร้าง Supply Chain อย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยลดต้นทุนมหาศาล
- Muda ความสูญเปล่า 7 อย่างที่ควรกำจัด เพื่อให้ประหยัดต้นทุนมากที่สุด เช่น ของเสียจากการผลิต ระยะเวลารอคอยที่นาน ไปจนถึงความซับซ้อนในกระบวนการผลิต
- Kaizen การทำให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับของการผลิต ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น การนำ Poka-Yoke หรืออุปกรณ์ป้องกันความผิดพลาด มาใช้ในกระบวนการผลิต
เครื่องมือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ระบบ TPS กลายเป็นกระดูกสันหลัง ที่ช่วยให้รถยนต์ของ Toyota มีคุณภาพดี ในขณะที่ยังควบคุมต้นทุนให้ไม่มากจนเกินไป
อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือ TSMC เบื้องหลังวงการชิปของโลก
เคยสงสัยไหมว่า คู่แข่งของ TSMC หลายแห่งทั้ง Samsung และ Intel ต่างก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเครื่องผลิตชิปที่ล้ำหน้าจาก ASML ได้เหมือนกัน แต่ทำไมยังตามหลัง TSMC อยู่ ?
คำตอบก็คือ เพราะ TSMC มี Process Power ก็คือความสามารถเฉพาะตัวที่ทำให้กระบวนการผลิตชิปออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งมาจากการลงทุนอย่างหนัก รวมถึงการสั่งสม Know-How มาอย่างยาวนานของ TSMC เอง
ทำให้ TSMC สามารถผลิตชิปออกมาได้ล้ำหน้ากว่าคู่แข่ง
รวมถึงมี Yield Rate หรืออัตราส่วนของชิ้นงานที่ผลิตออกมาแล้ว “ผ่านมาตรฐาน” เมื่อเทียบกับจำนวนที่ผลิตทั้งหมดที่สูง
โดย Yield Rate ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตชิป ซึ่ง TSMC ก็ทำได้ดีกว่า Samsung และ Intel เช่นกัน
ด้วยประสิทธิภาพและขีดความสามารถที่ TSMC ทำได้ จึงทำให้ TSMC เป็นที่ไว้วางใจของบรรดาลูกค้ายักษ์ใหญ่มากมาย อย่าง Apple และ Nvidia
มาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจสงสัยว่า แล้ว Process Power มีโอกาสพังลงได้ไหม ซึ่งก็ตอบได้เลยว่า “มี”
แม้ Process Power จะทำให้คู่แข่งต้องใช้เวลาไล่ตามยาวนาน รวมถึงอาจต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่บริษัทที่ถือครองพลังนี้ ก็ไม่ควรจะประมาท
ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดในวันนี้ ก็อาจทำให้ Process Power นั้น สั่นคลอนได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก
ซึ่งบรรดาบริษัทใหญ่ ๆ ที่ถือครอง Process Power ต่างก็ตระหนักในจุดนี้ดี จึงมักจะลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อรักษาและต่อยอดความได้เปรียบในการแข่งขันของตัวเองอย่างไม่หยุดหย่อน
เห็นได้จากการทุ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างมหาศาล ของบริษัทเทคโนโลยี ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ในทางกลับกัน บางบริษัทกลับยึดติดกับ Process Power มากเกินไป จนขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลง
อย่างเช่น Kodak ผู้นำด้านฟิล์มถ่ายภาพที่เคยครองตลาดโลกมานาน และแม้จะเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่คิดค้นกล้องดิจิทัลได้เอง
แต่ด้วยความที่ธุรกิจฟิล์มยังทำกำไรสูง บริษัทจึงเลือก รักษาโมเดลการผลิตเดิมไว้ แทนที่จะเปลี่ยนทิศทางตามเทคโนโลยี จนสุดท้ายก็วิ่งตามโลกไม่ทัน
มาถึงตรงนี้ เราก็คงจะเข้าใจไพ่เด็ดที่เรียกว่า Process Power กันแล้ว และเห็นภาพว่าทำไม ไพ่ใบนี้ถึงเป็นเหมือนท่าไม้ตายของบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต
ซึ่งนอกจากจะทำให้โดดเด่น และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จนคู่แข่งตามทันได้ยากแล้ว
ในทางกลับกัน หากไม่ยืดหยุ่น และยึดติดมากเกินไป Process Power ก็อาจกลายเป็นจุดอ่อนของธุรกิจ ให้คู่แข่งเข้ามาโจมตีได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon