ทำไม Xiaomi ไปต่อ กับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ Apple ยอมแพ้แล้ว

ทำไม Xiaomi ไปต่อ กับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ Apple ยอมแพ้แล้ว

ทำไม Xiaomi ไปต่อ กับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ Apple ยอมแพ้แล้ว /โดย ลงทุนแมน
เรื่องใหญ่ในวงการธุรกิจช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นการที่ Xiaomi แบรนด์สินค้าไอทีจีน เปิดให้จองรถยนต์ไฟฟ้า SU7 ในราคาประมาณ 1 ล้านบาทต้น ๆ
ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่า Tesla และรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายอื่น ๆ พอสมควร ในสเป็กใกล้เคียงกัน
ทำให้กระแส Xiaomi SU7 ออกมาดี จนยอดจองรถพุ่งเฉียด 90,000 คัน ภายใน 24 ชม. แรก
แต่ในช่วงเดียวกัน Apple กลับประกาศยุบโปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ทั้งที่ลงทุนไปมากถึง 366,700 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เรื่องนี้ เป็นเพราะอะไร
ทำไม Xiaomi ถึงเลือกไปต่อ แต่ Apple ไม่เอาแล้ว ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้ว Apple เริ่มทำโปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อว่า “Titan” มาตั้งแต่ปี 2014 และมีพนักงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 5,000 คน
ด้วยความฝันที่อยากสร้าง Apple Car ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองอย่างไร้รอยต่อ
อย่างไรก็ตาม Apple ไม่ค่อยเปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ จนกระทั่งในปี 2018 ก็มีข่าว
จับมือกับ Volkswagen จากเยอรมนีเป็นครั้งแรก
แต่ตอนนั้นก็เพื่อร่วมกันผลิตรถรับส่งพนักงาน ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วไป
และต่อมาก็มีข่าวลือออกมาเป็นระยะ ๆ ว่า Apple จะไปจับมือกับค่ายรถอื่น เช่น Hyundai หรือ Nissan เพื่อร่วมกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
รวมถึง Apple ตั้งเป้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ให้ได้ภายในปี 2024 แล้วก็เลื่อนออกไปเป็นปี 2026
จนในที่สุด Apple ก็ตัดสินใจยกเลิกทำรถยนต์ไฟฟ้า.. ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 ที่ผ่านมา ทั้งที่ทำมาเกือบ 10 ปี แถมหมดเงินไปมากถึง 366,700 ล้านบาท
ในขณะที่ Xiaomi ธุรกิจขายอุปกรณ์ไอทีเหมือน Apple ได้ประกาศแผนทำรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกในปี 2021
ซึ่งระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี Xiaomi กลับทำได้สำเร็จ ด้วยการเปิดให้จองรถยนต์ไฟฟ้า SU7 ในราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท
แล้วทำไมทั้งคู่ที่ทำธุรกิจคล้ายกัน ถึงมีผลลัพธ์ในการทำรถยนต์ไฟฟ้าที่ต่างกัน ?
ทำไม Apple ที่ใช้เวลาพัฒนารถนานนับทศวรรษ และทุ่มเงินไปมหาศาล กลับล้มเหลว แต่ Xiaomi ได้ไปต่อ ?
เราลองมาวิเคราะห์สาเหตุเบื้องหลังของเรื่องนี้กัน
เหตุผลแรกเลย ก็เพราะว่า
“Apple โดดเดี่ยวในการทำรถยนต์ไฟฟ้ามากเกินไป”
แม้ Apple จะไปจับมือกับ Volkswagen ในโปรเจกต์รถ แต่การทำรถยนต์ไฟฟ้า ไม่สามารถเอา Know-how และเทคโนโลยีเดิม ๆ มาใช้ได้
เพราะมันมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ชิ้นส่วนอะไหล่ที่น้อยกว่า แพลตฟอร์ม และขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นต้นทุนหลักของรถมากถึง 30-40%
ซึ่งตรงข้ามกับ Xiaomi ที่มีพาร์ตเนอร์ในการผลิตร่วมกับ BAIC บริษัทที่มีเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามานานในจีน และมีรัฐบาลจีนร่วมเป็นเจ้าของ
นอกจากนี้ Xiaomi ยังมีพาร์ตเนอร์อย่าง CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก
พอเป็นแบบนี้ การมีพาร์ตเนอร์ ที่มีทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของโลก ทำให้ Xiaomi มีแต้มต่อ สามารถลุยโปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่
ต่างจาก Apple ที่แทบต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ด้วยตัวเอง
เหตุผลต่อมา คือ
“Apple ต้องพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์”
เรื่องนี้เป็นหลักการดำเนินธุรกิจของ Apple ที่ต้องการพัฒนาและควบคุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อสร้าง Ecosystem ของตัวเอง
ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต, สมาร์ตวอตช์ รวมไปถึงรถยนต์..
โดย Apple ปล่อย Apple CarPlay มาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อให้คนใช้รถยนต์ เชื่อมต่อกับ iPhone และ iPad ได้อย่างไร้รอยต่อ
แต่คู่แข่งอย่าง Alphabet (Google) ที่มีระบบปฏิบัติการ Android ในมือ ก็ได้คิดค้น Android Auto ในปี 2015 เพื่อใช้งานบนรถยนต์ได้เหมือน Apple CarPlay เช่นกัน
และต่อมาก็ได้พัฒนาต่อยอดไปเป็น Android Automotive ในปี 2017 ด้วยการอนุญาตให้ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สามารถนำระบบปฏิบัติการไปต่อยอด และปรับแต่งเป็นเวอร์ชันของตัวเองได้
ซึ่งเป็นระบบที่นอกจากจะรองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังสามารถควบคุมแอร์ วิทยุ หรือสั่งการอื่น ๆ บนรถยนต์ได้อีกด้วย
และยังสามารถทำงานร่วมกับบริการของ Google ได้ดี ทั้ง Google Maps, Google Play, Google Assistant
ด้วยระบบที่ตอบโจทย์ค่ายรถยนต์มากกว่า ทำให้ Alphabet สามารถครองตลาดระบบปฏิบัติการบนรถยนต์อันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 35% และถีบให้ Apple กลายเป็นผู้ตามแทน
จากการที่ Apple พลาดในการครองตลาด ระบบปฏิบัติการรถยนต์ทั่วโลก
จึงยิ่งบีบบังคับทางอ้อมให้ Apple เร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการบนรถยนต์ของตัวเองให้ดีขึ้น
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ Apple ต้องทำงานหนัก 2 ทาง พัฒนาทั้งระบบปฏิบัติการรถยนต์ และการผลิตรถ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรและเวลานานมากกว่าเดิม ในการทำรถยนต์ไฟฟ้าให้สำเร็จ
และเหตุผลสุดท้ายคือ
“Xiaomi สามารถยอมรับกำไรอันน้อยนิด จากการขายรถยนต์ไฟฟ้าได้”
หากเราไปดูผลประกอบการของ Xiaomi ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2023
รายได้ 1,361,900 ล้านบาท
กำไร 87,800 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 1,407,500 ล้านบาท
กำไร 12,600 ล้านบาท
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า ในปี 2023 กำไรที่เพิ่มขึ้น
มาจากการปรับมูลค่ายุติธรรม ที่ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ
ทำให้จริง ๆ แล้ว หากนับเฉพาะการดำเนินธุรกิจปกติ Xiaomi มีอัตรากำไรสุทธิเพียง 0.9% หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ขายของได้ 100 บาท เหลือกำไรไม่ถึง 1 บาทเท่านั้น
และหากเราไปดูผลประกอบการของ Apple ในช่วงที่ผ่านมา (ปิดงบ 29 กันยายน ของทุกปี) จะพบว่า
ปี 2023
รายได้ 13,928,600 ล้านบาท
กำไร 3,524,800 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 14,329,900 ล้านบาท
กำไร 3,626,800 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า Apple มีอัตรากำไรสุทธิมากถึง 25%
หรือเท่ากับว่า ในยอดขายทุก ๆ 100 บาท Apple ทำกำไรมากกว่า Xiaomi เกือบ 27 เท่าเลยทีเดียว
ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไม Xiaomi ถึงสามารถไปต่อกับรถยนต์ไฟฟ้า
เพราะต้องบอกว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบัน แข่งขันตัดราคากันสูงมาก แม้แต่ Xiaomi เอง ก็ยอมรับว่า ต้องขายแบบขาดทุนเช่นกัน
ด้วยโมเดลธุรกิจของ Xiaomi ที่เน้นขายสินค้าแบบเอากำไรบางเฉียบ จนเป็นเรื่องปกติ จึงยอมรับเรื่องนี้ได้
ในขณะที่ Apple อาจมองว่า การฝืนลงทุนต่อไป เพื่อลงไปเล่นในสงครามราคาตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่นับวันยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คงไม่คุ้มค่าอย่างที่คิด แถมคงไปกดอัตรากำไรของบริษัทโดยรวมให้ต่ำลงด้วย
ทำให้ Apple เลือกยอมแพ้ ไม่ไปต่อกับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงรู้แล้วว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ Xiaomi และ Apple ถึงทางแยก บนเส้นทางที่ต่างกัน
ที่คนหนึ่งตัดสินใจไปต่อ ส่วนอีกคนเลือกที่จะหยุด..
แต่เรื่องนี้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า Xiaomi จะอยู่รอดในสงครามรถยนต์ไฟฟ้า ได้นานมากแค่ไหน
Xiaomi จะก้าวขึ้นมาเป็น Top 5 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้ ได้หรือไม่
หรือท้ายที่สุด จะทนพิษการแข่งขันไม่ไหว จนต้องถอนตัวออกจากตลาดที่ตัวเองไม่ถนัด ตามรอยพี่ใหญ่มือถืออย่าง Apple ที่ยกธงขาวไปก่อน ทั้งที่ทุ่มเงินไปมากกว่าแสนล้านบาทแล้วก็ตาม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://ir.mi.com/financial-information/quarterly-results
-https://en.wikipedia.org/wiki/Android_Automotive
-https://en.wikipedia.org/wiki/Open_Automotive_Alliance
-https://www.cnbc.com/2021/05/29/apple-carplay-massive-success-paves-way-for-automotive-entry.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Apple_car_project
-https://www.cnbc.com/2024/03/28/xiaomi-releases-electric-car-4k-cheaper-than-teslas-model-3-as-price-wars-heat-up.html
-https://www.bbc.com/news/business
-https://www.reuters.com/business/autos-transportation/xiaomis-ev-buyers-face-up-seven-month-wait-car-app-shows-2024-04-01/
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-02-27/apple-cancels-work-on-electric-car-shifts-team-to-generative-ai
-https://www.bloomberg.com/news/newsletters/2024-03-17/apple-aapl-revamped-carplay-becomes-last-hope-after-apple-car-is-canceled-ltvif8zt
-https://www.ccn.com/news/apple-carplay-vs-android-automotive-car-market
-https://yatta.de/thoughts/how-apple-could-disrupt-the-automotive-industry-within-a-decade
-https://www.cnbc.com/2022/07/22/apple-carplay-could-be-a-trojan-horse-into-the-automotive-industry.html

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon