บทเรียน “ข้อเท้าอคิลลีส” จุดตาย ที่ทำให้ธุรกิจล้มได้ แม้จะแข็งแกร่งแค่ไหน

บทเรียน “ข้อเท้าอคิลลีส” จุดตาย ที่ทำให้ธุรกิจล้มได้ แม้จะแข็งแกร่งแค่ไหน

บทเรียน “ข้อเท้าอคิลลีส” จุดตาย ที่ทำให้ธุรกิจล้มได้ แม้จะแข็งแกร่งแค่ไหน /โดย ลงทุนแมน
อคิลลีส เป็นวีรบุรุษกรีกในตำนาน ที่แข็งแกร่งทั้งร่างกาย แต่สุดท้ายกลับตายหลังถูกยิงที่ข้อเท้า
ข้อเท้าคือจุดอ่อนจุดเดียวของอคิลลีส เพราะแม่ของเขาจุ่มเขาลงไปในแม่น้ำเพื่อทำให้เป็นอมตะ
แต่เธอจับข้อเท้าไว้ ทำให้ข้อเท้าของอคิลลีส ไม่ถูกจุ่มลงในน้ำ และกลายเป็นจุดอ่อนของเขา
จากตำนานเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับโลกของธุรกิจ ที่แม้ภายนอกจะดูแข็งแกร่งแค่ไหน แต่ก็มีจุดที่หากมีอะไรเข้ามาโดน ก็อาจทำลายธุรกิจนั้นจนพังได้เลย
แล้วจุดอ่อนที่ว่านี้ แอบซ่อนอยู่ในธุรกิจแบบไหนบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ ต้องบอกว่า โลกธุรกิจมีความเสี่ยงเสมอ
อยู่ที่ว่าเราประเมินและจัดการความเสี่ยงตรงนั้นอย่างไร โดยเฉพาะจุดตายของธุรกิจ ที่เป็นจุดเสี่ยงสุดของธุรกิจนั้น ๆ
ซึ่งบางครั้ง เราก็มองไม่ออกหรือมองไม่เห็นว่า จุดตายของธุรกิจนั้นอยู่ที่ไหน เพราะยังไม่เจอเหตุการณ์อะไรเข้ามากระทบอย่างหนัก จนธุรกิจเริ่มเจอปัญหา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย นั่นคือ ช่วงแพร่ระบาดที่ผ่านมา
หลายธุรกิจที่เคยรุ่งเรือง ก็พบกับจุดอ่อนของตัวเองในทันที
เหตุการณ์นี้ สร้างวิกฤติอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูง เช่น สนามบิน โรงแรม ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ร้านอาหาร ฯลฯ
ทั้งที่เดิมที ธุรกิจแบบนี้มีความแข็งแกร่งมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการลงทุนหนักครั้งเดียว และยิ่งมีรายได้เพิ่ม แต่ต้นทุนคงที่เท่าเดิม ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้นตามไปด้วย
แต่ช่วงที่ผ่านมา ต้นทุนคงที่สูงกลายเป็นจุดตายของธุรกิจเสียเอง เพราะต้องแบกต้นทุนพวกนี้ไว้แทน
ใครจะไปคิดว่า ร้านอาหารในศูนย์การค้าใจกลางเมือง หรือแม้แต่ร้านหมูกระทะในทำเลทอง ที่เคยมีลูกค้ายืนต่อคิวรอนับชั่วโมง กลับโดนสั่งห้ามนั่งทานในร้าน จนจำนวนลูกค้ากลายเป็นศูนย์แทบจะในทันที
เมื่อลูกค้าหายไป แต่ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่า ค่าเสื่อมราคา เงินเดือนพนักงานประจำ ค่าดูแล ก็ยังอยู่เหมือนเดิม
สุดท้ายหลาย ๆ ธุรกิจแบบนี้ ก็ต้องดิ้นรนหาเงินสดเข้ามาจ่ายต้นทุนพวกนี้ไว้ เพื่อพยุงธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงนั้นไปให้ได้
ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงก็หันมาปิดจุดตายตรงนี้มากขึ้น ด้วยการใช้โมเดลแบบ Asset-Light ที่พยายามเลี่ยงการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ถาวรหรือต้นทุนคงที่
เช่น ธุรกิจโรงแรม ก็ไม่เป็นเจ้าของโรงแรมด้วยตัวเอง แต่เน้นสร้างรายได้จากการรับจ้างบริหารโรงแรมมากขึ้น
หรือก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ลดความเสี่ยงต้นทุนคงที่สูง
ถ้ามีเหตุการณ์อะไรมากระทบให้ลูกค้าหรือรายได้ หายไปทันทีอีก
นอกจากจุดตายของธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาซัปพลายเชนสูง ตัวอย่างเช่น ธุรกิจยานยนต์
ซึ่งแต่เดิมการผลิตรถยนต์ใช้โมเดลการผลิตแบบสายพาน ที่รถยนต์จะถูกประกอบขึ้นจากการนำชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ มาทยอยประกอบเป็นตัวรถ
ทำให้รถยนต์ 1 คัน จะมีชิ้นส่วนจำนวนมาก ซึ่งก็ตามมาด้วยผู้ผลิตชิ้นส่วน และเป็นซัปพลายเออร์รายย่อยในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ก็มีมากไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งไม่ใช่แค่จำนวนบริษัทย่อยที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรวมการจ้างงานที่สำคัญ จนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศเลยก็ว่าได้
ตัวอย่างเช่น เยอรมนี มีจำนวนซัปพลายเออร์รถยนต์กว่า 700 บริษัท โดยมีการจ้างงานกว่า 800,000 คน
พอเป็นแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งที่ดีของธุรกิจรถยนต์ เพราะช่วยลดความเสี่ยงการผลิตชิ้นส่วนเองทุกอย่าง แถมยังสามารถควบคุมการผลิตตามคำสั่งซื้อได้พอดีอีกด้วย
แม้ดูภายนอกแล้วแข็งแกร่ง แต่จุดแข็งกลับกลายเป็น
จุดอ่อนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่พึ่งพาการผลิตแบบเดิม ๆ จากการมาของโลกรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง
โลกของรถยนต์ไฟฟ้า หน้าตาไม่เหมือนโลกของรถยนต์สันดาป เพราะใช้ชิ้นส่วนลดลงเยอะมาก
แค่เฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน
รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนเพียงหลักสิบ ในขณะที่รถยนต์สันดาปภายในแบบเดิม ต้องใช้ชิ้นส่วนหลักร้อย
นี่ยังไม่รวมชิ้นส่วนอื่น ๆ ในรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการใช้
ชิ้นส่วนน้อยลงจากเดิมมาก
พอเป็นแบบนี้ ในปัจจุบันเราเลยเห็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านรถยนต์มานานอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี กำลังเจอปัญหาในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่าน
เพราะไม่ใช่การเปลี่ยนแค่บริษัทตัวเอง แต่หมายถึงการปรับเปลี่ยนทั้งซัปพลายเชน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์แบบใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
และอีกธุรกิจหนึ่งที่ดูภายนอกแข็งแกร่ง แต่อาจเจอจุดตายของธุรกิจ นั่นคือ การพึ่งพารายได้จากลูกค้าไม่กี่ราย มากเกินไป
ในมุมหนึ่ง ธุรกิจแบบนี้ดีตรงที่มีรายได้ก้อนใหญ่เข้ามาแน่นอน แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าลูกค้ารายใหญ่นั้นยกเลิกสัญญา
รายได้ของธุรกิจก็จะหายไปมหาศาลเช่นกัน
ดังนั้น เราจึงเห็นธุรกิจแบบนี้พยายามทำให้ตัวเองโดดเด่นเฉพาะทางไปเลย เพื่อให้ลูกค้ารายใหญ่เปลี่ยนใจไปใช้บริการเจ้าอื่นได้ยาก
ตัวอย่างเช่น TSMC ธุรกิจรับจ้างผลิตชิปเบอร์ 1 ของโลก
ลงทุนวิจัยและพัฒนาการผลิตชิปที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก
ถ้าถามว่า เปลี่ยนไปใช้บริษัทผลิตชิปเบอร์ 2 และ 3 ของโลกได้ไหม คำตอบคือ ก็ทำได้ แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะอาจต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการวิจัยและพัฒนาใหม่ รวมถึงต้องมาคอยกังวลเรื่องคุณภาพชิปที่ออกมาอีก
ซึ่งนอกจากวงการชิปแล้ว วงการผู้รับจ้างผลิตสินค้าอื่น ๆ (OEM) ก็พยายามสร้างจุดเด่นของตัวเองขึ้นมา เพื่อทำให้ลูกค้ารายใหญ่เปลี่ยนใจไปจ้างรายอื่นยากขึ้นด้วยเช่นกัน
ถึงตรงนี้ ก็คงเห็นแล้วว่า ทุกธุรกิจที่แม้ภายนอกจะดูแข็งแกร่งก็ตาม แต่ทุกธุรกิจก็ยังมีจุดตายเสมอ เหมือนกับอคิลลีส วีรบุรุษกรีกที่แข็งแกร่ง แต่ก็ตายเพราะข้อเท้า
สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่ว่าเราจะหาจุดแข็งของธุรกิจอย่างเดียว แต่ควรหาจุดอ่อนให้เจอว่า อะไรที่ทำให้ธุรกิจของเราเจอปัญหาหนัก แล้วควรปิดความเสี่ยงตรงนั้นอย่างไรดี
ซึ่งในมุมการลงทุนเอง เราก็อาจต้องวิเคราะห์บริษัทนั้นเพิ่มเติมเช่นกันว่า อะไรคือจุดตายของธุรกิจ แล้วธุรกิจนั้นมีแผนรับมือกับเรื่องนี้ได้ดีแค่ไหน
แม้ภายนอกดูแข็งแกร่ง แต่จุดตายเล็ก ๆ แค่เสี้ยวเดียว
ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเจอปัญหาใหญ่ จนกระทบต่อการลงทุนของเราได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon