หุ้นไทยแบบไหน ที่น่าจะไม่มีวันโดน Forced Sell -30%

หุ้นไทยแบบไหน ที่น่าจะไม่มีวันโดน Forced Sell -30%

หุ้นไทยแบบไหน ที่น่าจะไม่มีวันโดน Forced Sell -30% /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นหุ้นหลายตัวในตลาดหลักทรัพย์ไทยโดน Forced Sell อย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น
ซึ่งหุ้นหลายตัวที่โดน Forced Sell มักมีคุณสมบัติที่เหมือนกันก็คือ
- มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนที่มากเกิน 20%
เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ราคาหุ้นจะยิ่งตกหนัก
- ผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นนั้นไปค้ำประกัน เพื่อกู้เงินทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศ หรือต่างประเทศ
- เมื่อราคาหุ้นตก ถึงระดับที่ผู้ปล่อยกู้กำหนดไว้ ก็จะถูกเรียกเงินมาเพิ่ม (Margin Call) ซึ่งหากผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะถูกบังคับขายหุ้นเพื่อชำระคืนหนี้ทันที (Forced Sell)
และเมื่อราคาตกลงมา หากธุรกิจของบริษัทนั้นเป็นธุรกิจที่นักลงทุนรายย่อย รวมถึงนักลงทุนสถาบัน ยังไม่มั่นใจว่าจะเข้าไปรับซื้อดีไหม การบังคับขายอาจดันราคาลงไปจนติด Floor โดยที่ไม่มีใครมารับซื้อเพื่อช่วยพยุงราคาไว้
คำถามที่น่าสนใจในเวลานี้ก็คือ
แล้วหุ้นไทยแบบไหน ที่ไม่น่าจะมีวันได้เกิดเหตุการณ์นี้ ?
คำตอบอาจมีหลายข้อ ซึ่งลงทุนแมนจะยกตัวอย่างมา 4 ข้อสำหรับหุ้นบริษัทไทยที่ถูก Forced Sell จนราคาติด Floor ได้ยาก
1) บริษัทที่ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีสัดส่วนนัยสำคัญ ตัวอย่างของบริษัทในกลุ่มนี้ ก็เช่น ธนาคารกรุงเทพ
รู้หรือไม่ ธนาคารกรุงเทพ ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่แบบมีนัยสำคัญสักรายเดียว โดยมี %Free Float หรือ สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย สูงถึง 98.54%
Free Float ที่สูง ก็สะท้อนถึงการกระจายตัวของผู้ถือหุ้นที่มาก ซึ่งก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ราคาหุ้นจะได้รับผลกระทบ ในเรื่อง Forced Sell จากผู้ถือหุ้นรายใดรายหนึ่ง
อย่างไรก็ตามต้องหมายเหตุว่า
บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีสัดส่วนมาก ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแย่เสมอไป เพราะแสดงว่าบริษัทนั้นมีแรงผลักดันจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีส่วนได้เสียเป็นจำนวนมากกับบริษัท
มีการศึกษาว่า บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้ก่อตั้ง หุ้นจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนมากกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน
2) หุ้นที่มีลักษณะกิจการที่คนมั่นใจ จับต้องได้ มีแบรนด์เป็นที่นิยม จะมีคนรอซื้ออยู่มากหากราคาตกลงอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น หุ้น CPALL เจ้าของ 7-Eleven, หุ้น CPN เจ้าของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่คนใช้บริการอยู่ทุกวัน หรือหุ้น BH โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ต้องยอมรับว่าหากหุ้นโดน Forced Sell ราคาตกลงมามากถึง -10% -20% -30% ในวันเดียว ย่อมจะมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยเข้าไปรับซื้อหุ้น ถ้าธุรกิจยังแข็งแกร่งอยู่
3) หุ้นที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เช่น AOT ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 70% เพราะเป็นไปได้ยากที่กระทรวงการคลังจะกู้เงินจากสถาบันการเงินแล้วโดน Forced Sell ขายทุกราคา
4) หุ้นที่นักลงทุนสถาบันรายใหญ่ เช่น กองทุน, สำนักงานประกันสังคม, ธนาคาร, บริษัทประกัน เข้าถือกระจาย ๆ ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น TISCO
เพราะเมื่อราคาตกลงมา -10% -20% -30% ในวันเดียว ก็ย่อมที่จะมีผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่เข้ามาวิเคราะห์ หากกิจการไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมที่จะมีโอกาสเข้ามารับซื้อด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก
สรุปแล้ว เราในฐานะนักลงทุน
การซื้อหุ้น อาจต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในกรณีที่แย่ที่สุด
บางคนคิดถึงแต่วันที่ดี ๆ คิดถึงโอกาสเติบโต
อย่างในกรณีที่แย่ที่สุด ที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดน Forced Sell ก็คือ การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ก่อตั้งบริษัทนั้นขึ้นมา โดนบังคับขายหุ้น จนไม่เหลือหุ้นอยู่ในบริษัทนั้นแล้ว..
แล้วคำถามที่น่าสนใจต่อไปก็คือ
ผู้บริหารเหล่านั้นจะยังมีความสนใจในการดำเนินธุรกิจต่อไปเหมือนเดิมได้อย่างไร..
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon