ต้นทุนคงที่ ดาบสองคม ที่ทำให้ธุรกิจ กำไรโตระเบิด หรือขาดทุนหนัก

ต้นทุนคงที่ ดาบสองคม ที่ทำให้ธุรกิจ กำไรโตระเบิด หรือขาดทุนหนัก

ต้นทุนคงที่ ดาบสองคม ที่ทำให้ธุรกิจ กำไรโตระเบิด หรือขาดทุนหนัก /โดย ลงทุนแมน
ต้นทุนของธุรกิจแบ่งได้หลายอย่าง แต่หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุด แบ่งเป็น “ต้นทุนคงที่” และ “ต้นทุนผันแปร”
ข้อแตกต่างคือ ต้นทุนคงที่ จะไม่เปลี่ยนไปตามยอดขาย หรือระดับกิจกรรม
แต่ต้นทุนผันแปร จะสัมพันธ์โดยตรงกับยอดขาย หรือระดับกิจกรรม
ทำให้ในหลาย ๆ กรณี เราจะเห็นบริษัทที่มีต้นทุนส่วนใหญ่ เป็นต้นทุนคงที่
เวลาประกาศผลประกอบการ จะมีช่วงเวลาที่กำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นนิดเดียวก็ตาม
เช่น รายได้โต 10% แต่กำไรกลับโต 50%
ซึ่งกลับกัน ต้นทุนคงที่ ก็อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้จู่ ๆ บริษัทขาดทุนหนักได้เหมือนกัน แม้รายได้จะลดลงนิดเดียว..
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ต้นทุนคงที่ สำคัญในการทำธุรกิจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
อธิบายต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost แบบง่าย ๆ..
ไม่ว่าบริษัท จะผลิตสินค้าหรือให้บริการ ได้มากน้อยแค่ไหน ต้นทุนส่วนนี้ ก็แทบไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
โดยต้นทุนคงที่ คือต้นทุนที่ไม่ได้แปรผันโดยตรงตามปริมาณการผลิตหรือลูกค้า อย่างเช่น ค่าเช่าสำนักงาน, ค่าเสื่อมราคาของอาคาร หรือเครื่องจักรในโรงงาน
ทำให้บริษัทที่มีโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่ เป็นต้นทุนคงที่ เมื่อบริษัทมีรายได้ (หลังหักต้นทุนผันแปร เช่น ค่าวัตถุดิบ) จนถึงจุดซึ่งครอบคลุมต้นทุนคงที่แล้ว
รายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากนั้น ส่วนใหญ่ก็แทบไหลลงเป็นกำไรบรรทัดสุดท้าย
ต้นทุนคงที่ ยังช่วยในการวางแผนการเงินและการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยเฉพาะการกำหนดจุดคุ้มทุน (Break-Even Point) ซึ่งเป็นจุดที่ธุรกิจ จะไม่มีการขาดทุน
โดยจุดคุ้มทุน คือจุดที่รายได้รวม เท่ากับต้นทุนรวม
ซึ่งสามารถคำนวณจุดคุ้มทุนได้จากสูตร
ปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุน = ต้นทุนคงที่ / (ราคาขาย - ต้นทุนผันแปร)
ตัวอย่างเช่น หากเราเปิดร้านขายกาแฟ โดยมี
- ค่าเช่าที่เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่
- ต้นทุนค่ากาแฟ 30 บาทต่อแก้ว ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปร
และร้านขายกาแฟแก้วละ 50 บาท
หากลองคำนวณจุดคุ้มทุน จะได้ดังนี้
ปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุน = 1,000 / (50 - 30) = 50
สรุปได้ว่า หากเราขายกาแฟได้ 50 แก้ว ร้านกาแฟของเราก็จะไม่ขาดทุนแล้วนั่นเอง ซึ่งหลังจากนี้ หากเราขายกาแฟได้มากขึ้น ตั้งแต่แก้วที่ 51 เป็นต้นไป รายได้ส่วนนั้น ก็จะกลายมาเป็นกำไรของร้านนั่นเอง
สมมติเช่น ขายกาแฟได้ 100 แก้ว จะมี
รายได้ 5,000 บาท
ต้นทุนผันแปร 3,000 บาท และต้นทุนคงที่ 1,000 บาท
เป็นกำไร 1,000 บาท
ถ้าขายกาแฟได้ 200 แก้ว จะมี
รายได้ 10,000 บาท
ต้นทุนผันแปร 6,000 บาท และต้นทุนคงที่ 1,000 บาท
เป็นกำไร 3,000 บาท
จะเห็นว่า เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น 100%
กำไรจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 200%
เนื่องจากว่า ยิ่งร้านสามารถขายกาแฟได้เพิ่มขึ้นมากเท่าไร
ร้านกาแฟ ก็จะมีอัตรากำไรที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
เพราะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Economies of Scale จากการที่ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยลดลง เมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนคงที่ทั้งหมด จะถูกเฉลี่ยไปยังสินค้าแต่ละหน่วยที่ผลิต เมื่อผลิตสินค้ามากขึ้น ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยก็จะลดลง
ด้วยเหตุผลที่พูดมา ทั้งการสามารถ Break-Even Point ได้ และเกิด Economies of Scale
จึงทำให้บริษัทที่มีโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่ เป็นต้นทุนคงที่ สามารถมีกำไรที่เติบโตในอัตราที่มากกว่าการเติบโตของรายได้
แต่กลับกัน ถ้าร้านขายกาแฟได้น้อยลง เช่น ขายได้ 80 แก้ว ก็จะมี
รายได้ 4,000 บาท
ต้นทุนผันแปร 2,400 บาท และต้นทุนคงที่ 1,000 บาท
เป็นกำไร 600 บาท
กลายเป็นว่า รายได้ที่ลดลง 20% กลับทำให้กำไรลดลงถึง 40% หรือลดลงในอัตราเร่งเช่นเดียวกัน..
ทั้งนี้ ต้นทุนคงที่ ไม่ได้หมายความว่า จะคงที่ตลอดไป แม้ว่าจะเรียกว่าต้นทุนคงที่ แต่ในระยะยาว ต้นทุนเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน อาจเพิ่มขึ้นเมื่อหมดสัญญา หรือเงินเดือนพนักงาน อาจเพิ่มขึ้นเมื่อมีการปรับเงินเดือน
แล้วโมเดลธุรกิจแบบไหน ที่จะเติบโตในลักษณะนี้ได้ ?
อย่างที่บอกไปว่า บริษัทที่จะเติบโตได้ในลักษณะดังกล่าว จะต้องมีต้นทุนคงที่ในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับโครงสร้างต้นทุนทั้งหมด
เพราะถ้าต้นทุนส่วนใหญ่ เป็นต้นทุนผันแปร บริษัทก็จะไม่ค่อยได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ (ขายได้มากเท่าไร ก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวมากเท่านั้น)
รวมถึงอยู่ในช่วงที่บริษัท ไม่มีการลงทุนอะไรเพิ่มเติมมากนัก ทำให้ต้นทุนคงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูผลประกอบการของบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ SISB
ซึ่ง SISB เป็นธุรกิจที่ต้องมีอาคารเรียน เป็นสินทรัพย์หลัก ทำให้มีค่าเสื่อมราคา ที่ค่อนข้างสูงในแต่ละปี
โดยผลประกอบการธุรกิจหลักของ SISB ในปี 2564 และ 2565
- ปี 2564
รายได้ 1,075 ล้านบาท
กำไร 209 ล้านบาท
- ปี 2565
รายได้ 1,344 ล้านบาท
กำไร 369 ล้านบาท
ขณะที่อัตราการใช้ประโยชน์ห้องเรียน (Seats Utilization)
- ปี 2564
ความจุนักเรียน (Capacity Seats) 4,645 คน
จำนวนนักเรียน 2,434 คน
Seats Utilization อยู่ที่ 52.4%
- ปี 2565
ความจุนักเรียน (Capacity Seats) 4,675 คน
จำนวนนักเรียน 3,114 คน
Seats Utilization อยู่ที่ 66.6%
โดยเราจะเห็นว่าทั้งสองปีนี้ ความจุนักเรียนไม่ได้ต่างกันมากนัก
แต่ในปี 2565 SISB มีนักเรียนมากขึ้น 28% สอดคล้องกับรายได้ของบริษัทที่โต 25%
ในขณะที่ส่วนกำไรของบริษัทนั้น เติบโตถึง 77%
เรื่องนี้เป็นเพราะ ต้นทุนการจัดการศึกษา กว่า 1 ใน 3 เป็นค่าบริหารอาคารเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ มีการเพิ่มขึ้นเพียง 14%
สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าบริษัทมีการสร้างอาคาร ตลอดจนอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ จนครบแล้ว และยังไม่ได้มีแผนที่จะขยายเพิ่มเติม
ถ้าหากปีไหนมีนักเรียนมาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก และโรงเรียนมีรายได้ที่มากขึ้น
พอหักค่าใช้จ่ายผันแปรอื่น ๆ เช่น เงินเดือนครู แม่บ้าน ภารโรง รวมถึงต้นทุนทางการเงินและภาษีออกไปแล้ว
เมื่อต้นทุนคงที่ไม่เพิ่ม หรือเพิ่มไม่มาก
ส่วนที่เหลือก็ไหลลงไปเป็นกำไรแทบจะทั้งหมด ทำให้ SISB มีกำไรโตมากกว่ารายได้ นั่นเอง
ถึงตรงนี้ เราก็คงจะรู้คำตอบแล้วว่า ทำไมบริษัทที่มีต้นทุนคงที่ในสัดส่วนที่สูง อาจทำให้กำไรบริษัทโตระเบิดได้
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนคงที่นั้น ก็เป็นเหมือนดาบสองคม
เพราะถ้าหากเมื่อไรที่รายได้ของบริษัทลดลง
ค่าใช้จ่ายคงที่เหล่านี้ ก็ไม่สามารถลดลงตามไปด้วยง่าย ๆ
ซึ่งหากเป็นแบบนั้น ค่าใช้จ่ายคงที่เหล่านี้ แทนที่จะเป็นตัวช่วยให้บริษัท มีกำไรโตอย่างก้าวกระโดด
กลับจะโดนสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุนคงที่” กัดกิน และเป็นต้นเหตุให้กำไรของบริษัท เหือดหายไป หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นขาดทุนอย่างหนักแทน..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.lmwnmerchantcenter.com/tips-tricks-coke/coke-break-even-boost-sales#:~:text=
-รายงานประจำปี 2565 บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน)
-MD&A ปี 2565 บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon