จับปลาสองมือ ดาบสองคม สำหรับคนทำธุรกิจ

จับปลาสองมือ ดาบสองคม สำหรับคนทำธุรกิจ

จับปลาสองมือ ดาบสองคม สำหรับคนทำธุรกิจ /โดย ลงทุนแมน
ตอนเด็ก ๆ เราเคยถูกสอนว่า อย่าจับปลาสองมือ เพราะสุดท้าย เราจะทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง
แต่ในโลกธุรกิจ ไม่มีอะไรตายตัว เพราะการจับปลาสองมือ หรือทำหลายอย่างไปพร้อมกัน บางครั้งล้มเหลวไม่เป็นท่าก็จริง แต่บางครั้งก็อาจสำเร็จทุกท่าได้เช่นกัน
การจับปลาสองมือ เป็นดาบสองคม ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติเวลาทำธุรกิจ เราเลือกโฟกัสว่า ธุรกิจเราจะทำอะไร ขายสินค้าให้ใคร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร เพื่อให้มีเส้นทางที่ชัดเจนมากที่สุด และเพิ่มโอกาสความสำเร็จ
แต่บางครั้ง เมื่อเรามองเห็นโอกาสอะไรบางอย่างในธุรกิจอื่น ก็อาจกระโดดลงไปเล่นด้วย ทั้งที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ที่ตัวเองเคยทำมาก่อนเลย
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ก็มีทั้งออกหัว และออกก้อย
อยู่ที่ความสามารถของผู้บริหาร ปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงจังหวะเวลาของธุรกิจ
ตัวอย่างธุรกิจที่พยายามจับปลาสองมือ แต่ต้องผิดหวัง ก็เช่น BlackBerry ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าตลาดมือถือ ด้วยจุดเด่นพิมพ์อีเมล และรับส่งข้อความระหว่างกันได้แบบเรียลไทม์ จนสามารถขายทั่วโลกได้กว่า 50 ล้านเครื่อง
กระทั่ง iPhone เปิดตัวในปี 2007 BlackBerry เริ่มโดนแย่งลูกค้ามากขึ้น แถม Google ยังสร้างระบบปฏิบัติการ Android ทำให้แบรนด์มือถือผุดขึ้นมากมาย
แทนที่ BlackBerry จะพัฒนามือถือตัวเองใหม่ เปลี่ยนไปเน้นหน้าจอสัมผัส แต่กลับมองว่า มือถือตัวเองยังมีจุดเด่น และเอาทรัพยากรไปพัฒนาระบบปฏิบัติการ QNX บนมือถือตัวเองแทน
การพยายามรักษาตลาดมือถือเดิม แถมยังรุกตลาดใหม่ด้วยระบบปฏิบัติการมือถือ
บวกกับปัญหาการเมืองภายในของ BlackBerry
กลายเป็นว่า BlackBerry ไม่สามารถทำอะไรได้ดีสักอย่าง สู้คู่แข่งไม่ได้ และหลังจากปี 2010 เป็นต้นมา BlackBerry ก็กำไรหดและขาดทุนแทน
สุดท้าย BlackBerry ก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และต้องขายธุรกิจมือถือตัวเองออกไป
ก่อนที่จะกลับมาตั้งหลักใหม่ได้อีกครั้ง ด้วยการหันมาโฟกัสกับบริการซอฟต์แวร์ความปลอดภัย (Cyber Security) ที่ตัวเองถนัด
ซึ่ง Intel ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เพราะมือหนึ่ง ทำเรื่องการออกแบบและพัฒนาชิปให้เล็กลงเรื่อย ๆ
ในขณะที่อีกมือหนึ่ง ก็ทำโรงงานผลิตชิปเป็นของตัวเอง ซึ่งในอดีต ตอนที่ชิปยังไม่มีขนาดเล็กและซับซ้อน เท่ากับในปัจจุบัน และ Intel ยังเป็นเจ้าตลาด บริษัทก็ยังไม่มีปัญหาอะไร
แต่เมื่อ AMD คู่แข่งรายสำคัญ หันไปจ้าง TSMC ที่เป็นโรงงานรับจ้างผลิตชิปโดยเฉพาะให้ผลิตชิปให้ แล้ว AMD โฟกัสแค่การออกแบบ
Intel ก็เริ่มโดน AMD แย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น เพราะไม่สามารถทุ่มเงินและทรัพยากรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตได้เท่า TSMC เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทั้งสองขา
ขาแรก คือ ออกแบบและพัฒนาชิป
ส่วนอีกขา คือ โรงงานผลิตชิป
ในขณะที่ AMD หลังจากตัดส่วนการผลิตไปให้ TSMC
AMD ก็สามารถทุ่มงบและสมาธิไปกับการออกแบบ จนชิปดีขึ้นเรื่อย ๆ และไล่กินส่วนแบ่งตลาดจาก Intel ได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การไล่จับปลาสองมือ บางครั้งก็ไม่ได้แย่เสมอไป
เพราะการลองเสี่ยง เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ หรือโอกาสทำเงินมหาศาล ก็ยังดีกว่าการไม่ลองเสี่ยงอะไรเลย
และถ้าทำได้ดี ก็อาจเป็นการปูรากฐาน Ecosystem ที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น Amazon ที่ก่อตั้งโดยคุณเจฟฟ์ เบโซส ในปี 1994 เป็นแค่เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ ก่อนหันไปขายสินค้าสากกะเบือยันเรือรบ
แต่ใครจะไปรู้ว่า ธุรกิจที่ทำกำไรให้เจ้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจริง ๆ คือธุรกิจคลาวด์ AWS ที่กลายมาเป็น กระดูกสันหลังให้กับบริษัททั่วโลก ไล่ตั้งแต่ Netflix, Airbnb, Facebook, Twitter, Spotify และ Adobe
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน โดยธุรกิจเหล่านี้ ต้องจ่ายเงินค่าพื้นที่เก็บและประมวลผลข้อมูลในคลาวด์ให้กับ Amazon ทุก ๆ ปี
โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ก็มาจากปัญหาการจัดการข้อมูลหลังบ้านของ Amazon เอง ก่อนจะพัฒนาระบบจัดการข้อมูล แล้วปล่อยเป็น Open Source ให้นักพัฒนาภายนอก นำไปต่อยอดได้
แต่ปรากฏว่า ระบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น จนสุดท้าย Amazon พัฒนา AWS ออกมาขายแก่องค์กรต่าง ๆ จนปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของบริษัท
ซึ่ง AWS ทำกำไรจากการดำเนินงานให้ Amazon ถึง 27% มากกว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มีกำไรจากการดำเนินงานในอเมริกาเหนือ 4% และขาดทุนในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
พอเป็นแบบนี้ เราก็คงนึกภาพออกว่า ถ้า Amazon ไม่มีธุรกิจคลาวด์ที่เกิดจากการจับปลาสองมือ วันนี้ Amazon ก็คงมีกำไรที่แทบจะบางมาก
และนอกจากคลาวด์ ก็ยังมีอีกหลายธุรกิจ หลายผลิตภัณฑ์ที่ Amazon ใช้กลยุทธ์จับปลาหลายมือ พัฒนามันขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว เป็นจำนวนมาก
ที่สำเร็จ เช่น Amazon Prime, Kindle, Amazon Echo & Alexa
ที่ล้มเหลว เช่น Amazon Fire Phone, Amazon Restaurants, Amazon Destinations
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ Alphabet เจ้าของ Google, YouTube และ Android ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ในเครือตัวเอง ที่สนับสนุนระหว่างกัน
เช่น ตระกูล Google Workspace ที่มีทั้ง Google Docs, Google Sheets, Gmail, Google Chat, Google Meet
และผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน เช่น Google Search, Google Chrome, Google Maps, Google Photos, Gemini
ซึ่งการทำแบบนี้ ก็เหมือนกับการจับปลาหลายมือ
ในการให้บริการผู้ใช้งานได้ทุกอย่าง ทำให้บางผลิตภัณฑ์ที่ออกมา อาจไม่ได้กำไรเลยก็ได้
แต่สุดท้าย เมื่อมองในภาพใหญ่ของธุรกิจแล้ว การทำแบบนี้ ก็เพื่อให้ Google มี Ecosystem ที่ครบจบ จนสามารถขายโฆษณาได้ทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง
แถมบางผลิตภัณฑ์อย่างเช่น Google Drive, YouTube, Android ก็สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง
สุดท้าย เราคงเห็นแล้วว่า การจับปลาสองมือหรือหลายมือก็ตาม บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป
แต่สิ่งที่ธุรกิจต้องไม่ลืมก็คือ ความเสี่ยงที่ปลาจะหลุดมือไป จนสุดท้ายเราอาจแทบไม่เหลืออะไรเลย ก็ยังมีอยู่เช่นกัน
ซึ่งสิ่งที่สำคัญ นั่นคือ การบริหารทรัพยากร และจัดการความเสี่ยงให้ดี
รู้ว่าตัวเองกำลังลงทุนกับอะไร เสี่ยงเพื่ออะไร
และถ้าพลาดขึ้นมา มันจะไม่ทำให้เราเจ็บตัวหนัก
พร้อมกับถอยออกมามองในภาพรวม ว่าสุดท้ายแล้ว การจับปลาหลายมือ ช่วยให้บริษัทเติบโตได้จริง
หรือเป็นสิ่งที่กำลังบ่อนทำลายบริษัทให้แย่ลงเรื่อย ๆ กันแน่..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon