สรุป Highlights สำคัญจากงาน Thailand Focus 2024: Adapting to a Changing World

สรุป Highlights สำคัญจากงาน Thailand Focus 2024: Adapting to a Changing World

สรุป Highlights สำคัญจากงาน Thailand Focus 2024: Adapting to a Changing World
SET x ลงทุนแมน
จุดประกายอนาคต ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในโลกการลงทุนและธุรกิจยุคใหม่
รวมประเด็นที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญจากทางฝั่งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่จะมาแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 8 หัวข้อ
แต่ละหัวข้อ มีอะไรที่น่าสนใจ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
งาน Thailand Focus 2024 ในปีนี้มาในธีม Adapting to a Changing World โดยมีตัวแทนจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัวแทนหน่วยงาน หรือองค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชนมาร่วมพูดคุย แสดงศักยภาพ และสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดทุนไทย พร้อมปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
งาน Thailand Focus 2024 ได้รับเกียรติกล่าวต้อนรับ โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการ และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกล่าวเปิดงานโดย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มานำเสนอภาพรวมนโยบายการเงิน
ในช่วงแรกกล่าวต้อนรับ ✨ โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการ และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกล่าวเปิดงาน ✨ โดย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ท่ามกลางความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และสังคม ความสามารถในการปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันหมายความว่าไม่ว่าจะเกิดความเสี่ยงในด้านไหน เราก็พร้อมรับมือ หรือพร้อมลุกกลับมาสู้ใหม่ได้เสมอ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่เราก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศเช่นกัน แต่สิ่งที่เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยแสดงศักยภาพให้ทั่วโลกเห็นคือการปรับตัว และความยืดหยุ่นต่อทุกวิกฤติที่เกิดขึ้น
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ฝากข้อคิด “เราต้องโอบรับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้า และสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น”
ในหัวข้อที่ 2 พูดถึงการฟื้นฟูตลาดทุนไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา โดย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ นำเสนอว่าความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจและการลงทุน ฉะนั้นเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและนำไปปรับใช้กับสถานการณ์จริง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จีงมีกลยุทธ์ 3 ด้าน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนไทย ได้แก่
1) การสร้างความเชื่อใจ และความมั่นใจ ว่าตลาดทุนไทยนี้คืออนาคตที่ยั่งยืน
- เพิ่มความร่วมมือระหว่างผู้ควบคุมกฎ ให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยนำ AI และนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพ
- เพิ่มการบังคับใช้กฎที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในการจัดการผู้ที่กระทำผิด
2) เพิ่มขีดความสามารถของตลาดให้แข่งขันได้
- เพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และเพิ่มแรงจูงใจในภาคธุรกิจลงทุนในธุรกิจใหม่มากยิ่งขึ้น
- สร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ในการลงทุนที่หลากหลาย ไม่หยุดนิ่ง
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโลยี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของนักลงทุนรายใหม่ และประสิทธิภาพในการลงทุนที่มากขึ้น และการตรวจสอบที่ทันท่วงที
3) ความยั่งยืน
- การวาง Position ของตลาดทุนไทย ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม และการเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านการลงทุน ESG
ในหัวข้อที่ 3 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอเรื่องความท้าทายของนโยบายทางการเงิน บริหารความเสี่ยงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงระดับโลก
ในประเด็นที่หลายคนจับตามองถึงการออกนโยบายของธนาคารกลางว่า ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งจากการเมืองในประเทศ และระดับโลก ทำไมดูเหมือนธนาคารกลางไม่ค่อยขยับตัวมากนัก
แต่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่า การออกนโยบายที่ ‘Exactly Right’ หรือเทหมดหน้าตักไปในทางใดทางหนึ่งนั้นไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะมันอาจจะ ‘Exactly Wrong’ ได้เช่นกัน แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง เราก็จะไม่เหลือกันชน หรือทางเลือกอื่น ๆ ไว้เป็นแผนสำรอง
ในภาคธุรกิจเราสามารถคาดเดาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้และบริหารความเสี่ยงนั้น แต่ในโลกทุกวันนี้ เราต้องบริหารความเสี่ยงมากขึ้นและต้องพร้อมมากกว่าเดิม
ฉะนั้นทั้งภาครัฐและเอกชน การออกแบบนโยบายหรือวางกลยุทธ์ที่ดีในตอนนี้ อาจเป็นการให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น (Resilience) ก่อนประสิทธิภาพ (Efficiency) ก็ได้
หัวข้อที่ 4 คือ การปรับตัวของตลาดทุนไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง เป็นหัวข้อแรกที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน โดย
▪️ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
▪️ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
▪️ Mr.Lyndon Chao, Managing Director, Head of Equities and Post Trade, Asia Securities Industry & Financial Markets Association
บทบาทและแนวทางการพัฒนาตลาดทุนของก.ล.ต. ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลบริษัทในตลาดทุน ต้องสร้างความเชื่อมั่น โดยมี 2 เป้าหมายหลักคือ ต่อต้านการฉ้อโกง และ เพิ่มความยุติธรรมใหักับนักลงทุน
นอกจากการกำกับดูแลแล้ว นวัตกรรมที่ ก.ล.ต. จะนำมายกระดับตลาดทุนไทยให้เกิดความยั่งยืน มี 4 ด้าน ได้แก่
1) โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
2) กระบวนการที่ง่ายสำหรับการเริ่มใช้ระบบ
3) การออกโทเคนสำหรับสินทรัพย์
4) การเชื่อมระหว่างธุรกิจดั้งเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องมีมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่น ได้แก่
- มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ของขั้นตอนการตรวจสอบ และกฎเกณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น
- มาตรการวัดหาความผิดปกติ และความผันผวนของราคา
- มาตรการในการเฝ้าระวังและตรวจสอบพฤติกรรมการเทรดที่ผิดปกติ
- มาตรการเพิ่มความคุ้มครองให้นักลงทุนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นภาพรวมการลงทุนของโลก อาเซียน รวมถึงไทย จะเห็นสัญญาณของการไหลออกของเงินออกนอกประเทศไทย
สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ เพื่อสร้างการความเชื่อมั่นว่าไทยคือประเทศที่มีความโปร่งใส และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับสำหรับการยั่งยืนของการลงทุน ได้แก่
- เรียนรู้จากแนวทางของต่างประเทศ
- สร้างแรงจูงใจสำหรับบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดี
- ลดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากจนเกินไป
- เพิ่มความสามารถของโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความโปร่งใส เอื้อนักลงทุนต่างชาติ
หัวข้อที่ 5 -โอกาสพลิกเกม จากธุรกิจใหม่และการย้ายฐานการลงทุน โดย
▪️ ศุธาศินี สมิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
▪️ สมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
▪️ ณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน WHA Group
ในอดีตไทยได้รับผลกระทบเชิงบวกอย่างมากจาก FDI จนทำให้ไทยเป็นจุดหมายการลงทุน และ Supply Chain ระดับโลก
แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนภายในประเทศ แต่ BOI ยังมั่นคงและรักษาพันธกิจขององค์กรในการส่งเสริมการลงทุน โดยเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า ไบโอเทคโนโลยี โดยมองถึงปัจจัยที่อุตสาหกรรมนั้นจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้ประเทศไทย
Gulf ในฐานะผู้นำด้านพลังงาน ก็ไม่สามารถอยู่เฉยได้ จำเป็นต้องลงทุนในพลังงานสะอาดทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม นอกจากนั้น Gulf ก็ลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น Data Center หรือ Cloud Business ซึ่งเป็นหัวใจหลักของโลกดิจิทัล
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานด้านถนน ท่าเรือ โทรคมนาคม ประเทศไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน
ยกตัวอย่าง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ความเชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้ายังน้อย มีความกังวลเรื่องที่ชาร์จ
แต่ตอนนี้ประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่าเรามีความพร้อม ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายภาครัฐที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ความร่วมมือระหว่างองค์กร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
หัวข้อที่ 6 - ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของการแพทย์และความเป็นอยู่ที่ดี โดย
▪️ ดร.อัครพล คุรุศาสตรา ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
▪️ ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา (ททท.)
▪️ นพ.นิพัฒน์ กุหลาบขาว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น Hub of Medical and Wellness Tourism แล้ว เป้าหมายต่อไปคือการเป็น Valley of Medical and Wellness หรือสวรรค์ของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
โดยการจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ การเลือกพื้นที่ในการพัฒนาเพื่อสร้างความแตกต่าง และเพิ่มขีดความสามารถ
ปัจจุบันประตูที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้เปิดแล้ว แต่เราต้องเปิดประตูนี้ให้กว้างขึ้นอีกจากกลุ่มประเทศ CLM รวมถึงจีน รวมไปถึงเปิดประตูใหม่จากนักท่องเที่ยวในทวีปแอฟริกา อินโดนีเซีย
ในฝั่งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นอกจากจะประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยแล้ว ททท.เป็นผู้สนับสนุน ผู้ให้บริการและผู้อำนวยความสะดวก และพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้เกิดขึ้น
โดยมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่อเดือนที่เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าในปี 2025 ประเทศไทยจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวกลับไปแตะที่ 39 ล้านคนต่อปีอีกครั้ง และเราเห็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป (Long-Haul Flight) นั้น เพิ่มมากขึ้นจาก 23% เป็น 27% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประเทศตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อสูงด้วย
ทุกวันนี้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น เพราะคนรู้แล้วว่าการรักษานั้นมันแพงกว่าการป้องกันมาก ฉะนั้นคนที่รู้สึกว่าตัวเองสุขภาพกลาง ๆ ก็อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้นไปอีก เช่น อยากรู้ว่า DNA หรือยีน ของเราเป็นอย่างไร ต้องกินอาหารแบบไหน ออกกำลังกายแบบไหน เพื่อให้เหมาะกับตัวเรามากที่สุด
หัวข้อ 7 - การพลิกโฉมห่วงโซ่อุปทาน ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล โดย
▪️ ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัด (Country Managing Director) ของบริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย
▪️ วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส
▪️ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ก่อนที่สินค้า 1 ชิ้น จะมาสู่มือของผู้บริโภค (End Users) นั้น มีผู้เล่นที่อยู่ในนั้นเยอะมาก ตั้งแต่การสังเคราะห์ การขุดเจาะ แปรรูป ผลิต ขนส่ง จัดจำหน่าย ฉะนั้นการเข้ามาของนวัตกรรม จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการผลิตนั้นสูงขึ้นมาก
ปัจจุบันไม่ใช่แค่บริษัทสตาร์ทอัพ หรือบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลก
แต่บริษัทที่ผลิตสินค้าทั่ว ๆ ไปก็สามารถทำ Digital Transformation เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องต้นทุน และคุณภาพได้ไม่แพ้กัน
เช่น ในไลน์การผลิต AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่ การวิเคราะห์จำนวนสินค้าที่ต้องผลิตจากข้อมูลในอดีต การคำนวณเส้นทางการขนส่ง หรือ ลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจมีประเภทหลัก ๆ คือ B2B (การขายสู่ผู้ประกอบการ) และ B2C (การขายสู่ผู้บริโภค) เมื่อรวมกันในบาง Supply Chain มันอาจจะเป็น B2B2B2B2C ที่มีหลายตัวกลางมาก ๆ แต่ในปัจจุบันเราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากจากแพลตฟอร์มออนไลน์จีน ที่เปิดโอกาสให้ B ตัวแรกที่เป็นโรงงานได้เจอกับ C โดยตรง ฉะนั้นผู้เล่นที่อยู่ตรงกลาง ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และหาทางปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับมัน
และเมื่อเทคโนโลยีมันรุกล้ำพื้นที่ของเรามากขึ้น ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก ปัจจุบันภาพจาก Gen AI ก็แยกยากขึ้นไปทุกขณะ และอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือข้อมูลความเป็นส่วนตัว เพราะทุก smart device มีการเก็บข้อมูลอันล้ำค่าของเราทั้งสิ้น
ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการชาร์จแบตโทรศัพท์ก็ใช้เป็นข้อมูลได้ คนที่ชอบชาร์จตอนแบตใกล้หมด มีแนวโน้มชอบความเสี่ยง แต่สำหรับคนที่ขี้กังวล ชอบความปลอดภัย แบตมือถือ 80% ก็ต้องชาร์จ ก็อาจจะเหมาะกับสินค้าบางอย่างมากกว่า
หัวข้อที่ 8 - การรับมือสภาพภูมิอากาศ โอกาสและความท้าทาย ⚡️ โดย
▪️ ปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
▪️ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
▪️ Yashovardhan Lohia ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)
ท่ามกลางความเสี่ยง ความผันผวน การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศดูจะเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
บทบาทของภาครัฐในการต่อสู้กับ Climate Change คือการสร้างสมดุล ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนที่อยากมีส่วนร่วม ตลอดจนไปถึงการตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ในที่สุด
ในขณะที่ภาคเอกชนอย่างบางจากก็มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2011 ที่เรียกว่า Carbon Accounting บัญชีคาร์บอน ที่ทำให้บางจากสามารถประเมินความเสี่ยงจากการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และการวัดผลเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามมาตรฐานสากล และบางจากเองเป็นผู้ริเริ่มการใช้น้ำมันชีวภาพรายแรก ๆ จนตอนนี้กลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมไปแล้ว
โดยการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้น ระยะเวลาที่ถูกต้องก็สำคัญ ก่อนที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นที่นิยม การลงทุนในเหมืองลิเธียมไอออนนั้นมีราคาตันละ 1,000 เหรียญ แต่ในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 18,000 เหรียญต่อตันเข้าไปแล้ว
ฉะนั้นในการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม Timing ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับ Pricing เช่นเดียวกัน
ความท้าทายของธุรกิจขนาดใหญ่เช่นเคมีภัณฑ์ คือ ต้นทุนของการเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรที่สุดในท้องตลาดทันที ก็อาจไม่ส่งผลดีต่อผู้บริโภคเช่นกัน ดังนั้นความท้าทายคือ การวางแผนเพื่อสร้างความสดุลในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้น
สรุป
จะเห็นได้ว่าเมื่อสวมหมวกของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการลงทุน เราก็จะเห็นมุมมองความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน วิกฤติแบบเดียวกัน บางอุตสาหกรรมได้รับผลเยอะ บางอุตสาหกรรมได้รับผลน้อย บางธุรกิจโดนบีบให้หาโอกาสใหม่ ๆ บางคนมองเห็นอนาคตจากนวัตกรรมที่ล้ำสมัย
สิ่งหนึ่งที่เราสามารถถอดบทเรียนจาก SET Thailand Focus 2024 ได้ก็คือ อย่ากลัวที่จะโอบรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจนำมาซึ่งโอกาสใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้
แล้วคุณล่ะ ในฐานะผู้อ่าน พนักงาน นักลงทุน หรือผู้กำหนดนโยบาย
คุณเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน ไว้มากขนาดไหน?
รับชมงาน Thailand Focus 2024: Adapting to a Changing World ย้อนหลังได้ที่
https://www.set.or.th/th/thailandfocus/2024/summary

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon