สรุป ตำนาน 185 ปี นาฬิกาหรู Patek Philippe ฉบับสมบูรณ์

สรุป ตำนาน 185 ปี นาฬิกาหรู Patek Philippe ฉบับสมบูรณ์

สรุป ตำนาน 185 ปี นาฬิกาหรู Patek Philippe ฉบับสมบูรณ์ /โดย ลงทุนแมน
“Rolls-Royce แห่งวงการนาฬิกา”
ฉายานี้เป็นของ Patek Philippe แบรนด์นาฬิกาสุดหรูอันดับต้น ๆ ของโลก
ซึ่งเป็นนาฬิกาในฝันของใครหลาย ๆ คน
รู้หรือไม่ว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทคนแรก อย่างคุณปาเต็กนั้น ไม่ได้เป็นช่างนาฬิกาอย่างที่หลายคนคิด..
แล้วทำไม จากคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องนาฬิกา
จึงสามารถสร้างแบรนด์นาฬิการะดับตำนาน ที่วันนี้แต่ละเรือน ขายกันตั้งแต่ราคาหลักล้าน ถึงหลักร้อยล้านบาทได้ ?
เรื่องราวที่เกิดขึ้นของนาฬิกาแบรนด์นี้ เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าจะให้พูดถึงจุดเริ่มต้นของ Patek Philippe คงต้องย้อนกลับไป 200 กว่าปีก่อน
โดยเรื่องราวเริ่มต้นมาจากชายที่มีชื่อว่าคุณ Antoine Norbert de Patek หรือคุณปาเต็ก ที่เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1812 ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Piaski Szlacheckie ในประเทศโปแลนด์
เมื่อเขาอายุได้ 10 ขวบ ครอบครัวของเขาก็ได้ย้ายไปอยู่ที่วอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์
โดยชีวิตในวัยเด็กของเขาก็เหมือนกับเด็กทั่ว ๆ ไป ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่น
จนกระทั่งคุณพ่อของเขาได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1828 ชีวิตของเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป..
2 ปีหลังจากที่คุณพ่อของเขาเสียชีวิต
การต่อสู้เพื่อการทวงเอกราชของชาวโปแลนด์คืนจากจักรวรรดิรัสเซีย ก็ได้เริ่มต้นขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “November Uprising” โดยสงครามครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นที่เมืองวอร์ซอ
คุณปาเต็ก ในวัยเพียง 20 ปี จึงไม่รอช้าที่จะกระโจนเข้าร่วมกับกองกบฏโปแลนด์
แม้ในช่วงแรกกองกบฏจะได้รับชัยชนะเล็ก ๆ อยู่บ้าง แต่หลังจากจักรวรรดิรัสเซียส่งกองกำลังมหาศาลเข้ามาเพิ่ม
ด้วยจำนวนที่เป็นต่อ กองกบฏจึงแตกพ่ายไปในที่สุด
และแน่นอนว่าเมื่อกองกบฏเป็นฝ่ายแพ้สงคราม
ทำให้คุณปาเต็ก จึงต้องอพยพออกจากโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1832
โดยเขามีจุดหมายปลายทาง ไกลจากบ้านเกิดออกไปกว่า 1,700 กิโลเมตร สู่ประเทศฝรั่งเศส
หลังจากนั้นเพียง 2 ปี เขาก็ได้อพยพอีกครั้งมาที่เมืองเจนีวา
เมืองทางตะวันตกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับประเทศฝรั่งเศส
ในเวลานั้น เด็กหนุ่มในวัย 22 ปี ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังหลุดเข้ามาในเมืองแห่งนาฬิกาหรู
โดยเมืองแห่งนี้ เป็นที่ที่สมาคมช่างทำนาฬิกาแห่งเจนีวา ซึ่งเป็นสมาคมช่างทำนาฬิกาแห่งแรกของโลก ได้ถูกก่อตั้งขึ้น เหล่าแบรนด์นาฬิกาหรูมากมาย ก็ค่อย ๆ ทยอยเกิดตามมา เช่น
- Vacheron Constantin ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1755
- Breguet ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1775
และแน่นอนว่าด้วยความเคร่งครัดในการผลิต ก็ส่งผลให้แต่ละแบรนด์นั้น ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ ความประณีต และความสวยงาม
ในช่วงแรกที่คุณปาเต็ก อพยพมาที่เมืองเจนีวา เขาได้ลองทำการค้าขายสินค้าหลายอย่าง เช่น สุรา, ไวน์ ทว่าสินค้าเหล่านั้นกลับไม่ได้ขายดีอย่างที่เขาคิด
แต่นอกจากเรื่องการค้าขายแล้ว คุณปาเต็กเองก็มีความสนใจในด้านศิลปะเช่นเดียวกัน
ทำให้เขาได้ไปลงคอร์สเรียน ด้านการวาดภาพกับคุณ Alexandre Calame จิตรกรและช่างแกะสลักชาวสวิสที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น
จากการที่เข้าเรียนการวาดภาพ ทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษางานศิลปะที่กรุงปารีส เมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านงานศิลปะ ของประเทศฝรั่งเศส
และจากการเดินทางไปฝรั่งเศสในครั้งนั้น ทำให้เขาได้รู้จักกับคุณ Louis Jean Marie Moreau สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างสูง ซึ่งได้แนะนำให้เขารู้จักกับการค้าขายนาฬิกาพกพาที่มีราคาแพง
ซึ่งเรื่องนี้เอง ก็ได้ทำให้คุณปาเต็ก รู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก เขาจึงได้เริ่มลองซื้อ-ขาย นาฬิกาพกพาที่มีราคาแพงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ด้วยความสนใจในเรื่องนาฬิกา บวกกับความใกล้ชิดของเขากับคนในตระกูล Moreau
ทำให้ในปี ค.ศ. 1836 เขาได้มีโอกาสพบกับคุณ François Czapek ช่างนาฬิกาชาวโปแลนด์
ที่ในเวลานั้นเป็นเจ้าของบริษัทผลิตนาฬิกาที่ชื่อ “Czapek & Moreau”
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งคู่ยังเคยเป็นทหารที่เข้าร่วมรบกับกองกบฏโปแลนด์ และได้ทำการอพยพออกจากโปแลนด์เหมือนกันอีกด้วย
ด้วยความหลงใหลในนาฬิกาเหมือนกัน ทำให้ทั้งคู่มีโอกาสร่วมกันทำธุรกิจ
จากตอนแรกที่คุณปาเต็ก ยังไม่ได้มีการปรับแต่งหรือดัดแปลงอะไร เป็นเพียงแค่ธุรกิจซื้อมาขายไป
แต่ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็เริ่มมีความคิดที่ว่า หากนำนาฬิกามาตกแต่ง ดัดแปลงให้มีความสวยงามและหรูหรามากขึ้น ก็น่าจะขายได้ในราคาที่สูงยิ่งขึ้นได้
ด้วยไอเดียนี้เอง เขาจึงเริ่มนำนาฬิกาไปให้เหล่าช่างนาฬิกาในเมืองเจนีวา
แน่นอนว่ารวมไปถึงคุณ Czapek ด้วย เพื่อปรับแต่งตัวเรือนด้านนอก
และด้วยฝีมือชั้นยอดของช่างทำนาฬิกา บวกกับความสามารถด้านศิลปะของคุณปาเต็ก
ทำให้นาฬิกาที่ผ่านการปรับแต่งมา สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าเดิม
และเพียงไม่นาน นาฬิกาของคุณปาเต็ก ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนในปี ค.ศ. 1839 คุณปาเต็ก และคุณ Czapek
จึงได้ตัดสินใจร่วมกันก่อตั้งบริษัท “Patek, Czapek & Cie” ขึ้นมา
ภายใต้สัญญาที่ว่า ทั้งคู่จะทำงานเป็นพาร์ตเนอร์กันเป็นเวลา 6 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
ในช่วงแรกนั้น บริษัท Patek, Czapek & Cie ยังไม่ได้มีการจ้างพนักงาน
โดยสิ่งที่ทั้งคู่ทำคือ ออกแบบนาฬิกา เท่านั้น
ขณะเดียวกัน พวกเขาจะทำการรับซื้ออะไหล่จากหลาย ๆ บริษัท และส่งให้ช่างที่มีฝีมือนำไปประกอบ
หลังจากประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็จะทำการตรวจเช็กความสมบูรณ์อีกที
ก่อนที่จะนำไปขาย โดยในช่วงแรก บริษัทมีการผลิตนาฬิกาเพียงปีละ 200 เรือนเท่านั้น
ด้วยคุณภาพที่ดี บวกกับความสวยงามของนาฬิกาจากบริษัท Patek, Czapek & Cie
ทำให้ชื่อของบริษัท รวมถึงชื่อของผู้ก่อตั้งอย่างคุณปาเต็ก ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1844 บริษัท Patek, Czapek & Cie ก็ได้รับเชิญให้จัดแสดงนาฬิกาในงาน French Industrial Exposition ที่กรุงปารีส
ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตสินค้า, นักวิทยาศาสตร์ ได้มาโชว์สินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ
และที่งานนิทรรศการนี้เอง คุณปาเต็ก ได้พบกับคุณ Jean Adrien Philippe หรือคุณฟีลิป ช่างนาฬิกาชาวฝรั่งเศส
เขาคนนี้เป็นบุคคลที่กำลังได้รับรางวัล จากการคิดค้นระบบ Keyless Winding และ Hand-setting System
หรือระบบไขลานและตั้งเวลาของนาฬิกาด้วยปุ่มเล็ก ๆ หรือที่เราเรียกกันว่า “เม็ดมะยม” แทนแบบเดิมที่จะต้องใช้กุญแจแกะด้านหลังออกเพื่อตั้งเวลา
เรื่องนี้ก็ได้ทำให้คุณปาเต็ก รู้สึกประทับใจในผลงานและตัวคุณฟีลิปเป็นอย่างมาก
เขาจึงได้ชักชวนให้คุณฟีลิปมาร่วมงานกับเขา
ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น คุณปาเต็กเองก็กำลังมีปัญหากับพาร์ตเนอร์คนเก่าอย่างคุณ Czapek ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวทางของบริษัท และการทำงานที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยของคุณ Czapek
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ในปี ค.ศ. 1845 ซึ่งก็เป็นปีที่หมดสัญญาการเป็นพาร์ตเนอร์ ระหว่างคุณปาเต็ก และคุณ Czapek พอดี
ทำให้คุณฟีลิป ได้กลายมาเป็นพาร์ตเนอร์คนใหม่ของคุณปาเต็ก โดยทั้งสองคนได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน
- คุณฟีลิป จะรับผิดชอบในการผลิตและคิดค้นนวัตกรรม
- คุณปาเต็ก จะรับผิดชอบในเรื่องการตลาดเป็นหลัก รวมไปถึงมีส่วนร่วมในการช่วยออกแบบนาฬิกา
แล้วจุดเปลี่ยนแรกของบริษัท Patek, Czapek & Cie ก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1851
คุณฟีลิป สามารถสร้างนาฬิกาเรือนแรกของโลกที่ใช้เม็ดมะยมในการตั้งเวลา ซึ่งทำให้สามารถตั้งเวลาได้ โดยไม่ต้องเปิดฝาด้านหลังออก จากที่ก่อนหน้านี้จะต้องทำการเปิดฝาด้านหลังออกเพื่อตั้งเวลา
เมื่อสามารถผลิตได้แล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคุณปาเต็ก ในการทำการตลาด
ซึ่งคุณปาเต็ก ก็ได้เลือกใช้วิธีเปิดตัวแบบที่ไม่มีใครคาดถึง
ด้วยการผลิตนาฬิกาแบบพกพา ที่มีการตกแต่งด้วยเพชรที่เจียระไนรูปกุหลาบ
เพื่อถวายให้กับ Queen Victoria (สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ)
โดยนาฬิกาเรือนนี้ใช้ระบบการไขลานและตั้งเวลาจากเม็ดมะยม ที่บริษัทของเขาคิดค้นขึ้นมา
หลังจากนั้น คุณปาเต็ก ยังได้นำนวัตกรรมนี้ ไปแสดงในงาน Great Exhibition ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ด้วยนวัตกรรมใหม่ บวกกับความสวยงามของนาฬิกา ทำให้ชื่อเสียงของนาฬิกาจากบริษัทของเขา
เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะดี และกลุ่มชนชั้นสูง
ในปีเดียวกันนั้น บริษัทก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อมาเป็น Patek, Philippe & Cie – Fabricants à Genève
เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จจากประเทศในโซนยุโรปแล้ว
คุณปาเต็ก จึงเริ่มมองหาตลาดใหม่ ๆ ถัดไปอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก
นั่นก็คือ ประเทศเกิดใหม่อย่าง “สหรัฐอเมริกา”
ซึ่งในตอนนั้นกำลังเติบโตจากการที่อยู่ในยุคตื่นทอง หลังจากค้นพบแหล่งทองคำในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1848
คุณปาเต็ก ไม่รอช้าที่จะนำแบรนด์นาฬิกาหรู เข้าบุกตลาดสหรัฐอเมริกา
แต่แน่นอนว่า แบรนด์ที่ไม่มีคนรู้จักมาก่อน จะเข้าไปบุกตลาดตรง ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
ก็ต้องบอกว่าโชคนั้นยังพอเข้าข้างคุณปาเต็กอยู่บ้าง เพราะเมื่อเขาเดินทางไปถึงนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาได้มีโอกาสพบกับคุณ Charles Tiffany ซึ่งก็คือผู้ก่อตั้งบริษัทแบรนด์เครื่องประดับหรูที่ชื่อว่า Tiffany & Co.
ด้วยความที่ทั้งสองบริษัทมีความคล้ายคลึงกันในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์หรูเหมือนกัน ทำให้มีกลุ่มลูกค้าในระดับชนชั้นสูงคล้ายกัน
ส่งผลให้ทั้งคู่ตัดสินใจร่วมจับมือกันนับตั้งแต่นั้นมา
ซึ่งจุดนี้เอง ที่นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ระหว่าง Patek Philippe และ Tiffany & Co.
ยังเป็นจุดที่ทำให้แบรนด์ Patek Philippe เริ่มกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะนาฬิกาแบรนด์หรู
แต่ไม่นานหลังจากนั้น ผลจากการที่คุณปาเต็ก เดินทางไปมาหลากหลายประเทศ เพื่อทำการตลาดให้กับแบรนด์ Patek Philippe ก็ได้ส่งผลต่อสุขภาพของเขา
ทำให้ในปี ค.ศ. 1877 คุณปาเต็ก ในวัยเพียง 65 ปี ก็ได้เสียชีวิตลง..
ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คุณ Patek, Léon Mecyslas Vincent de ลูกชายเพียงคนเดียวของคุณปาเต็ก ปฏิเสธที่จะเข้ามารับช่วงกิจการต่อจากพ่อของเขา ทำให้หุ้นส่วนตกไปอยู่ในมือของตระกูล Philippe แทน
โดยในเวลานั้นก็คือคุณ Joseph Antoine Bénassy-Philippe ลูกเขยของคุณฟีลิป ที่ขึ้นมารับช่วงต่อจากคุณปาเต็ก
ต่อมาในปี ค.ศ. 1901 บริษัทแห่งนี้ก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น
Ancienne Manufacture d’horlogerie Patek, Philippe & Cie SA หรือ “Patek Philippe SA”
และในปีเดียวกัน บริษัทก็ได้ทำการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ จากบริษัทที่มีการบริหารกันภายในครอบครัว กลายเป็นบริษัทร่วมทุน หรือบริษัทที่เปิดให้บุคคลภายนอก สามารถเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทได้
ซึ่งก็ส่งผลให้เริ่มมีบุคคลและบริษัทอื่นเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังคงดำเนินการภายใต้การบริหารของคนในตระกูล Philippe
อย่างคุณ Joseph Antoine Bénassy-Philippe และคุณ Joseph Emile Philippe ที่ได้เข้ามารับช่วงต่อหลังจากที่คุณฟีลิป เสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1893
แต่หลังจากนั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1930 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญหน้ากับ
วิกฤติ The Great Depression ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นวงกว้าง แน่นอนว่ารวมถึงบริษัท Patek Philippe ด้วยเช่นกัน
จากเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทย่ำแย่ จนบริษัทถึงขั้นเกือบล้มละลาย ทำให้บริษัทต้องหาเงินทุนจากนักลงทุนเพื่อทำให้บริษัทอยู่รอด
และเนื่องจากคุณ Joseph Emile Philippe ไม่ต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และไม่ต้องการให้บริษัทตกไปอยู่ในมือของคู่แข่ง
ด้วย 2 เงื่อนไขนี้ ผู้สืบทอดรายต่อไปจึงตกไปอยู่ที่ “ตระกูล Stern”
ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทที่ส่งวัตถุดิบหลักให้กับ Patek Philippe มาอย่างยาวนาน
ทำให้ Patek Philippe ดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้ตระกูล Stern นับตั้งแต่นั้นมา จนถึงตอนนี้
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน Patek Philippe เป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาหรู
ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดนาฬิกาหรู ในปี 2023 อยู่ที่ 5.6%
แม้ส่วนแบ่งทางการตลาดอาจเทียบไม่ได้กับ Rolex ซึ่งครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 31.9%
ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ จำนวนของนาฬิกา Patek Philippe ที่มีไม่พอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
อย่างที่รู้กันว่า Patek Philippe มีความละเอียด และความประณีตในการผลิตนาฬิกาแต่ละเรือน
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในแต่ละปี Patek Philippe จะมีปริมาณการผลิตนาฬิกาออกสู่ตลาด เพียงประมาณ 40,000-60,000 เรือนต่อปีเท่านั้น
และด้วยปริมาณที่จำกัด สวนทางกับความต้องการที่มีมากขึ้น
ก็ส่งผลให้นาฬิกาแบรนด์ Patek Philippe กลายมาเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี
จนมีประโยคที่ว่า
“You never actually own a Patek Philippe. You merely take care of it for the next generation.”
หรือที่แปลว่า
“คุณไม่ได้เป็นเจ้าของนาฬิกา Patek Philippe จริง ๆ คุณแค่เพียงเก็บรักษามันไว้เพื่อคนในรุ่นถัดไป”
ทั้งหมดนี้คือตำนานของ Patek Philippe
ที่มีจุดเริ่มต้นจากเด็กชาย ที่เกิดในประเทศโปแลนด์ นามว่า คุณปาเต็ก
บนเส้นทางเกือบ 200 ปี ทั้งมหากาพย์การสร้างแบรนด์ การพบกับหุ้นส่วนทางธุรกิจ การขยายธุรกิจ และการส่งต่อกิจการ สู่ตระกูล Philippe และในที่สุดก็ตระกูล Stern
แต่ไม่ว่าในอนาคต เรื่องราวของ Patek Philippe จะดำเนินไปในรูปแบบไหนก็ตาม
ก็เชื่อได้ว่า นาฬิกาแบรนด์นี้ จะยังคงอยู่ต่อไปบนโลกนี้ อีกอย่างน้อยหลายร้อยปี..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หนึ่งในนาฬิกาที่แพงสุดในโลกตอนนี้คือ Patek Philippe Grandmaster Chime Ref. 6300A
ซึ่งถูกประมูลไปในราคา 1,260 ล้านบาท ในงาน The Only Watch 2019
โดยนาฬิการุ่นนี้ เป็นเรือนที่มีความซับซ้อนที่สุดเท่าที่ Patek Philippe เคยผลิตมา..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon