อินเทอร์เน็ต จาก อวกาศ

อินเทอร์เน็ต จาก อวกาศ

อินเทอร์เน็ต จาก อวกาศ / โดย ลงทุนแมน
ในอนาคต ไม่ว่าเราอยู่ส่วนไหนของโลก
เราจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบเดิมอีกต่อไป
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มหาเศรษฐีของโลกกำลังสนใจทำกัน
พวกเขามองเห็นอะไรจากการลงทุนนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในกลางปี 2016 Unesco's Broadband Commission รายงานว่ามีแค่ 43% ของประชากรโลกเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
แสดงว่าถ้าเราเชื่อมต่อคนทั่วโลกได้สำเร็จ มูลค่าของตลาดในหลายธุรกิจอาจเติบโตได้อีกหลายเท่าตัว
แต่ในโลกนี้มีหลายพื้นที่ที่ยังเป็นพื้นที่ชนบท ที่ไม่คุ้มค่าลงทุนในการใช้เสากระจายสัญญาณ
แต่ถ้ากระจายสัญญาณเครือข่ายมาจากนอกโลกก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ดาวเทียมเพื่อกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากอวกาศ จึงเป็นทางเลือกที่น่าจับตามอง
ใครเข้ามาในธุรกิจนี้บ้างแล้ว?
ถ้าเราลองนึกถึงแนวคิดที่ว่าจะเชื่อมต่อคนทั้งโลกแล้ว
เราน่าจะต้องนึกถึง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานบริษัทเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้แนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเฟซบุ๊กเช่นกัน
มาร์คได้เริ่มสร้างดาวเทียมขึ้นเพื่อหวังที่จะทดลองใช้สำหรับทวีปแอฟริกา
ถ้าทำสำเร็จ ในโลกนี้ก็น่าจะได้คนที่เล่นเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นอีกเยอะ
แต่โชคไม่เข้าข้างเฟซบุ๊กเท่าไหร่
ในเดือนกันยายน 2016 จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ซึ่งก่อตั้งโดย อีลอน มัสค์ ได้เกิดระเบิดขึ้นทำให้ดาวเทียมของมาร์คที่กำลังจะถูกส่งขึ้นไปหายวับไปพร้อมกัน
ดาวเทียมของเฟซบุ๊กเองต้องชะลอโครงการออกไป
ซึ่งทำให้ มาร์ค กับ มัสค์ เองไม่ถูกกันนับตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาไม่นานบริษัท SpaceX ก็ได้เปิดแผนกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วโลกเช่นกัน
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Elon musk ทำการปล่อยดาวเทียม Microsat-2a and Microsat-2b เพื่อทดสอบโครงการ Starlink
โครงการ Starlink นี้มีเป้าหมายที่จะทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึง Internet ได้จากทุกๆที่
ตัวเลขที่น่าตกใจคือ
ดาวเทียมทั้งหมดที่จะส่งขึ้นไปมีทั้งหมดประมาณ 12,000 ดวงซึ่งมากกว่าดาวเทียมที่โคจรรอบโลกในปัจจุบันถึงประมาณ 3 เท่า
สำหรับมูลค่าของตลาดนี้ มัสค์คาดว่าจะอาจจะมากถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปีและจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อมีคนเข้าสู่อินเทอร์เน็ตมากขึ้น
นอกจากมาร์ค กับ มัสค์แล้วยังมีใครอีก
Boeing บริษัทเครื่องบินเบอร์หนึ่งของโลกก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ซึ่งมีข่าวลือว่าได้มีการพูดคุยกับ Apple เพื่อเป็นพันธมิตรในงานนี้เช่นกันซึ่งอาจจะทำให้ ในอนาคตคนที่ใช้ Iphone อาจจะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องพึ่งพาค่ายมือถือ
Samsung บริษัทมือถือของเกาหลีก็ได้เริ่มทำโครงการนี้เหมือนกัน
แต่คู่แข่งโดยตรงที่น่าจับตามากที่สุด คงไม่พ้นบริษัท One Web ที่เคยใกล้ชิดกับ SpaceX มาก่อน
บริษัทนี้เป็นใคร
ชื่อเดิมของบริษัทคือ World Vu เป็นดูแลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ให้กับกูเกิ้ลและได้สิทธิ์ในการดูแลแถบความถี่คลื่นวิทยุขนาดใหญ่อีกด้วย
ในปี 2014 เกร็ก ไวเออร์ ประธานบริษัทคนปัจจุบันซึ่งเคยทำงานอยู่ที่กูเกิ้ลได้เข้าร่วมกับบริษัทนี้และในขณะนั้นเองบริษัทนี้ก็มีการทำงานที่ใกล้ชิดกับ SpaceX ของมัสค์เช่นกัน
ในปลายปี 2014 ไวเออร์ และ มัสค์ได้มีแผนที่จะสร้างโรงงานดาวเทียมขนาดใหญ่ร่วมกันที่ Florida และ Colorado รวมถึงร่วมกันสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ได้ข้อตกลงกันชัดเจน
ต้นปีถัดมา ไวเออร์ได้รับเงินสนับสนุนจาก Virgin Group และ Qualcomm ในการสร้างและขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ พร้อมกับล้มแผนที่จะทำกับ SpaceX ทันที
ทำให้มัสค์ไม่พอใจอย่างมาก
ไม่กี่วันถัดมา มัสค์โต้ตอบด้วยการเปิดตัวบริษัท SpaceX เข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมที่ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตอย่างทางการพร้อมกับจะสร้างโรงงานดาวเทียมที่ Seattle
และในปี 2017 One Web ได้จับมือกับ Blue Origin ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งอวกาศก่อตั้ง โดย เจฟฟ์ เบโซส เจ้าของบริษัทแอมะซอน ซึ่งเจฟฟ์ เบโซส บุคคลที่รวยที่สุดในโลกขณะนี้นี่เอง
เหตุผลหลักเนื่องจาก One Web เป็นบริษัทดาวเทียมอย่างเดียวไม่ได้มีกระสวยอวกาศที่จะขนส่งเช่นเดียวกับ SpaceX
แม้ว่ามูลค่าของตลาดอินเทอร์เน็ตจากอวกาศนี้อาจจะไม่ได้ใหญ่มาก
อย่างที่มัสค์คาดการณ์รายได้ต่อปี ก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท
เมื่อเทียบกับธุรกิจอย่าง Walmart มีรายได้มากถึงปีละ 15 ล้านล้านบาทอาจจะดูเล็กไปเลย
แต่ถ้าเรามองกว้างออกไปมากกว่านั้น
ลองรวมกับมูลค่าของธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้
และ การชนะในธุรกิจนี้อาจจะหมายถึง
การได้ครอบครองการเชื่อมต่อของทุกคนในทั่วโลก
อำนาจนี้น่าจะทรงพลังจนประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้..
----------------------
<ad> หนังสือลงทุนแมน 2.0 วางแผงแล้วหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
โหลดแอพลงทุนแมนอ่านฟรีได้ที่ https://www.longtunman.com/app
ลงทุนแมนมี instagram twitter youtube line@ แล้ว ติดตามได้โดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon