ทำไม ขสมก. ถึงขาดทุนสะสม 100,000 ล้าน

ทำไม ขสมก. ถึงขาดทุนสะสม 100,000 ล้าน

ทำไม ขสมก. ถึงขาดทุนสะสม 100,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
“141,751 ล้านบาท” คือตัวเลขขาดทุนสะสมของ ขสมก.
หรือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ขสมก. ยังถือเป็นรัฐวิสาหกิจไทย ที่มียอดขาดทุนสะสม มากเป็นอันดับที่ 2 เป็นรองเพียง การรถไฟแห่งประเทศไทย เท่านั้น
แล้วทำไมรถเมล์ ที่คนแน่นอยู่ทุกวัน
แต่ยังขาดทุนมากมายขนาดนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ขสมก. หรือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 หรือเมื่อ 48 ปีก่อน
โดยเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่เดินรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
รวมถึงเป็นผู้ให้ใบอนุญาตแก่บริษัทเอกชน ที่เข้ามาเดินรถเมล์ในพื้นที่
หากใครใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ จะเห็นว่ารถเมล์แต่ละสาย มักอัดแน่นไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน
โดยผลประกอบการของ ขสมก. ที่ผ่านมา
ปี 2563 รายได้ 8,611 ล้านบาท ขาดทุน 4,227 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 7,745 ล้านบาท ขาดทุน 4,735 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 7,374 ล้านบาท ขาดทุน 8,461 ล้านบาท
จะเห็นว่า ผลการดำเนินงานของ ขสมก. ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีรายได้ลดลง ขณะที่ขาดทุนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง
โดยการขาดทุนที่ติดต่อกันมานาน ทำให้ ขสมก. มีการขาดทุนสะสมแตะ 141,751 ล้านบาท ในสิ้นปี 2565
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ ขสมก. ขาดทุนมากขนาดนี้ ก็มีตั้งแต่
- ขึ้นค่าโดยสารแทบไม่ได้
- หนี้สินมหาศาล
- การถูกแทนที่ด้วยขนส่งอื่น ๆ
เนื่องด้วยลักษณะธุรกิจของ ขสมก. ที่เน้นการให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทำให้ต้องมีการตรึงราคาค่าโดยสารไว้ ไม่ให้สูงจนเกินไป
ดังนั้น การปรับราคาค่าโดยสารขึ้น จึงเป็นไปได้ยาก
เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง
นี่ยังไม่รวมในบางกรณีที่ต้องให้บริการ โดยให้ส่วนลดหรือไม่เก็บค่าโดยสาร
ซึ่งรายได้สวนทางกับต้นทุนต่าง ๆ ทั้งเงินเดือนพนักงาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของ ขสมก. ค่าเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
โดยการที่ไม่สามารถปรับค่าโดยสาร ให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงได้ เป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ ขสมก. ขาดทุนอย่างหนัก
จนทำให้ต้องกู้เงินมา เพื่อเสริมสภาพคล่อง และนำไปสู่เหตุผลที่สอง ก็คือ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย..
ที่ผ่านมา ขสมก. มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
และจากรายงานประจำปี 2565 ระบุว่า หนี้สินรวมของ ขสมก. นั้น สูงถึง 140,177 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินที่มีดอกเบี้ยกว่า 126,000 ล้านบาท
ด้วยหนี้สินที่พอกพูนมหาศาล ทำให้ ขสมก. ต้องเสียค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีราว 2,000 ถึง 3,000 ล้านบาท หรือมากถึง 30% ของรายได้ในแต่ละปี..
หรือพูดง่าย ๆ ว่า ทุกรายได้ 100 บาท ขสมก. ต้องนำเงินไปจ่ายดอกเบี้ย 30 บาท การมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงมาก จึงกลายเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ ขสมก. มีผลการดำเนินงานขาดทุนมาโดยตลอด นั่นเอง
และอีกเหตุผลสำคัญ ก็คือ การมีระบบขนส่งอื่น ๆ เข้ามาแทนที่มากขึ้น..
ในปัจจุบันที่ระบบขนส่งขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้า เริ่มเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อย ๆ
และยังมีบริการเรียกรถออนไลน์อย่าง Grab, LINE MAN หรือ Robinhood ที่มีฐานผู้ใช้งานอยู่จำนวนมาก
ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น
แม้บางครั้งจะต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
เหตุผลนี้ส่งผลให้รถเมล์บางเส้นทางที่วิ่งมาอย่างยาวนาน ต้องปิดตัวลง เพราะมีจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง นั่นเอง
แล้วมีหนทางไหนบ้างที่จะช่วย ขสมก. พลิกฟื้นธุรกิจได้ ?
เราลองมาวิเคราะห์กัน
เมื่อไม่สามารถขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งเป็นรายได้หลักได้ ดูเหมือนว่า ทางรอดเดียวของ ขสมก. คงหนีไม่พ้น การควบคุมต้นทุนให้ดีขึ้น
หากเรามาดูต้นทุนหลักของ ขสมก. จะพบว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องผลประโยชน์ของพนักงาน เป็นต้นทุนหลักที่ ขสมก. แบกรับอยู่ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 31% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
นอกจากนี้ จากรายงานประจำปี ยังพบว่า ขสมก. มีจำนวนพนักงานต่อจำนวนรถโดยสารอยู่ที่ 4.5 คนต่อรถ 1 คัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยสากล ซึ่งอยู่ที่ 3.6 คนต่อรถ 1 คัน
จึงปฏิเสธได้ยากว่า ขสมก. จำเป็นต้องควบคุมต้นทุนส่วนนี้ให้ได้ และบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ในแง่ของโมเดลธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคที่เส้นทางรถไฟฟ้ามีมากขึ้น
ขสมก. ก็ควรปรับตัวมาเป็นระบบเสริม หรือ Feeder โดยอาจลดจำนวนเส้นทางที่ทับซ้อนกับเส้นทางรถไฟฟ้าลง และเน้นรับส่งผู้โดยสาร เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าแทน
ทั้งนี้ อาจต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เพราะต้องทำให้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าถูกลงด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย นั่นเอง
ซึ่งวิธีนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ ขสมก. สามารถควบคุมต้นทุนให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
สรุปแล้ว สาเหตุสำคัญที่ ขสมก. ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก จนมีการขาดทุนสะสมกว่าแสนล้านบาทนั้น มาจากการไม่สามารถปรับราคาค่าโดยสาร ซึ่งเป็นรายได้หลัก ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นได้ กับภาระดอกเบี้ย ที่ต้องจ่ายในแต่ละปี
ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีความพยายามที่จะปฏิรูป ขสมก. ให้สามารถทำกำไรได้
ก็ต้องรอดูต่อไปว่า รัฐวิสาหกิจที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลังของการคมนาคมในกรุงเทพฯ แห่งนี้ จะสามารถพลิกฟื้นกลับมามีกำไร และแก้ปัญหาขาดทุนสะสมเรื้อรัง ได้สำเร็จหรือไม่..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-รายงานประจำปี 2565 ของ ขสมก.
-https://th.wikipedia.org/wiki/องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon