PANEL กำลังจะ IPO ขยายธุรกิจรองรับกลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มโรงแรมท่องเที่ยว

PANEL กำลังจะ IPO ขยายธุรกิจรองรับกลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มโรงแรมท่องเที่ยว

PANEL กำลังจะ IPO ขยายธุรกิจรองรับกลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มโรงแรมท่องเที่ยว
PANEL x ลงทุนแมน
30 กว่าปีก่อน มีบริษัทหนึ่งเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท เพื่อนำเข้าวัสดุตกแต่งภายในจากยุโรป
จากนั้นใช้เวลาไม่นาน ก็ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงเจ้าเดียวในไทยของ MANUSA แบรนด์ประตูอัตโนมัติชั้นนำจากสเปน
เริ่มสะสมความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในวงการประตูห้องผ่าตัด ประตูสุญญากาศ ประตูกันรังสี และประตูเฉพาะทางต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ
ล่าสุดในปี 2567 ธุรกิจนี้กำลังจะเกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่
ด้วยการเข้ามา IPO ในตลาดหลักทรัพย์ mai จำนวน 50,000,000 หุ้น คิดเป็น 26.32% ของทั้งหมด
เรากำลังพูดถึง บริษัท เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PANEL
ธุรกิจของ PANEL น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ใคร ๆ ก็น่าจะรู้จักประตูกันเป็นอย่างดี
แต่สินค้าของ PANEL ต่างจากประตูที่เราคุ้นเคยทั่วไป ตรงที่มีความพิเศษและระบบอัตโนมัติต่าง ๆ
อธิบายง่าย ๆ ถ้าแบ่งสินค้าและบริการของ PANEL ตามโครงสร้างรายได้ปี 2565 จะประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ๆ
51% สินค้าสำหรับสถาปัตยกรรมภายใน สำหรับห้องประชุมโรงแรม ศูนย์ประชุม และอาคารสำนักงาน
เช่น ประตูหมุน, ประตูอัตโนมัติ, ผนังกระจกกันเสียง, แผ่นซับเสียง, พรมเก็บเสียง, ห้องเก็บเสียงเคลื่อนที่
42% สินค้าสำหรับสถานพยาบาล
เช่น ประตูห้องผ่าตัดห้อง ICU และห้อง CCU, ประตูกันรังสี สำหรับห้อง X-ray, ห้อง MRI และห้อง CT SCAN
7% บริการต่าง ๆ
เช่น บริการขนส่ง ติดตั้ง ตรวจเช็กสภาพ, บริการซ่อมบำรุง, บริการหลังการขาย
ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านประตูอัตโนมัติ และผนังบานเลื่อนกันเสียงเคลื่อนที่ จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ MANUSA ประเทศสเปนมากว่า 23 ปี
ทำให้ชื่อเสียงของ PANEL เป็นที่รู้จักกันอย่างดี
และสินค้าของ PANEL ก็ได้เข้าไปอยู่ในอาคารหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น
- กลุ่มโรงแรม เช่น ห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม, ห้องประชุมในโรงแรม
- กลุ่มโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลชั้นนำ, ศูนย์สุขภาพสัตว์, หอผู้ป่วย ศูนย์ผ่าตัดและเอกซเรย์ต่าง ๆ
- กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เช่น สถานศึกษา, ศาสนสถาน, อาคารราชการ, องค์กรระหว่างประเทศ
ทีนี้ ถ้าถามว่าจุดแข็งของ PANEL น่าสนใจอย่างไร ?
เรื่องแรก PANEL มองว่าตัวเองอยู่ในกลุ่ม Niche Market ที่มีคู่แข่งน้อย
หมายความว่า PANEL ต้องตีตลาดด้วยความเชี่ยวชาญของตนเอง จนทำให้ลูกค้ามั่นใจได้จริง ๆ
ซึ่งการยืนหยัดมาได้ตลอด 30 กว่าปี คงเป็นเครื่องพิสูจน์จุดนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาคือ การสร้างตัวเลือกสินค้ามาตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ
นอกเหนือไปจาก MANUSA แบรนด์นำเข้าจากประเทศสเปน
ที่การันตีคุณภาพด้วยมาตรฐาน EUROPEAN STANDARD PREN 1605, AIR PERMEABILITY CLASS 6 (EN 12426)
PANEL ยังเข้ามาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อจำกัด
ด้วยแบรนด์ PANELÉS ที่ PANEL ผลิตและออกแบบเอง
โดยเปลี่ยนแหล่งนำเข้าวัสดุ เพื่อลดต้นทุนด้านการจัดซื้อ
แต่ทั้งหมดนี้ ยังคงอยู่ภายใต้มาตรฐานของ MANUSA
มากไปกว่านั้น PANEL ยังให้บริการลูกค้าแบบ One stop service
ด้วยระบบติดตามงานขาย, บริการหลังการขาย ไปจนถึงบริการดูแลสินค้าหลังหมดประกัน
พูดง่าย ๆ ว่า PANEL ไม่เปิดช่องว่างที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความไม่ประทับใจเลยจริง ๆ
เมื่อลองมาสังเกตผลประกอบการของ PANEL ที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2563 รายได้รวม 86.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16.9 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 68.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11.0 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 110.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.9 ล้านบาท

โดยในช่วงสามปีล่าสุด PANEL สามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 40% และอัตรากำไรสุทธิ 15% -19%

ล่าสุดในช่วง 9 เดือน สิ้นสุด 30 กันยายนปี 2566 PANEL มีรายได้รวม 90.5 ล้านบาท เติบโต 59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 10.4 ล้านบาท เติบโต 333% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สะท้อนได้ว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด ทำให้การนำเข้าและการก่อสร้างล่าช้า
แต่ PANEL ก็ยังคงรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2563-2565 ไว้ได้ถึง 32.74%

ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา PANEL สามารถครองใจลูกค้าได้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
แต่โอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต ยังต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ
สิ่งที่ PANEL วางแผนต่อไปก็คือ การสร้าง Dealer ผ่านระบบตัวแทนในประเทศไทยให้ครบทุกภูมิภาค
ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคตะวันออก และภาคใต้
รวมทั้ง การสร้าง Dealer ผ่านระบบตัวแทนต่างประเทศ ทั้งในอินเดีย, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย ฯลฯ

แน่นอนว่า เมื่อ PANEL ตัดสินใจรุกหนักในตลาดเช่นนี้ การเดินเกมธุรกิจจำเป็นต้องครบลูป
เพราะเมื่อมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ จำนวนสินค้าส่งมอบ ก็ต้องมีให้พร้อมด้วย

จุดนี้เอง จึงเป็นวัตถุประสงค์ในการ IPO จำนวน 50,000,000 หุ้น คิดเป็น 26.32% ของทั้งหมด
เพื่อเป็นเงินทุนผลักดันให้ธุรกิจเติบโต ประกอบด้วย

- สร้างโรงงานแห่งใหม่ และการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ 140 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตรวมจากเดิม 250 บานต่อเดือน ขึ้นมาเป็น 700 บานต่อเดือน
เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
- ชำระคืนเงินกู้ 30 ล้านบาท จากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดินสร้างโรงงานแห่งใหม่
- เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ

ซึ่งหลังจากนี้ การเติบโตของธุรกิจ PANEL จะเป็นอย่างไร ก็น่าติดตามไม่น้อย..

Reference
-https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=546354&lang=th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon