S&J บริษัทในเครือสหพัฒน์ 8,000 ล้าน  ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ให้หลายแบรนด์ดัง

S&J บริษัทในเครือสหพัฒน์ 8,000 ล้าน ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ให้หลายแบรนด์ดัง

S&J บริษัทในเครือสหพัฒน์ 8,000 ล้าน
ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ให้หลายแบรนด์ดัง /โดย ลงทุนแมน
เวลาเราไปเลือกซื้อเครื่องสำอาง ตามห้างสรรพสินค้า หากเราลองพลิกหลังกล่องหรือขวด เพื่อดูที่มาของสินค้า จะเห็นว่า เครื่องสำอางจากหลายแบรนด์ เช่น
- ครีมกันแดด แบรนด์มิสทิน
- ครีมรองพื้น แบรนด์ศรีจันทร์
- ครีมหมักผม แบรนด์วัตสัน
ต่างก็มีผู้ผลิตคนเดียวกัน ก็คือ บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ S&J ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัท ของเครือสหพัฒน์ เจ้าของมาม่าและฟาร์มเฮ้าส์
ที่น่าสนใจก็คือ S&J มีรายได้ในปี 2565 สูงถึง 6,000 ล้านบาท ทั้งที่แทบจะไม่มีแบรนด์สินค้า เป็นของตัวเองเลย
เรื่องราวของ S&J เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
S&J เริ่มต้นธุรกิจในปี 2523 ภายใต้ชื่อ บริษัท เอส แอนด์ เจ อาหารสําเร็จรูป จํากัด โดยเป็นบริษัทผลิตอาหารสําเร็จรูป ของเครือสหพัฒน์
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำธุรกิจรับจ้างผลิตเครื่องสําอาง และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จํากัด ในปี 2526
S&J ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2531 ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท ราว 8,000 ล้านบาท
แล้ว S&J ประกอบธุรกิจอะไรบ้าง ?
บริษัท S&J ประกอบธุรกิจหลัก โดยการรับจ้างออกแบบ หรือ ODM
ไปจนถึงรับจ้างผลิต หรือ OEM ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิวและแต่งหน้า ให้แก่แบรนด์สินค้าต่าง ๆ และยังเป็นผู้ผลิตของใช้ สำหรับใช้ในห้องน้ำ อย่างสบู่ อีกด้วย
เรียกได้ว่า S&J ให้บริการแบบครบวงจร สำหรับบริษัทลูกค้า ที่ต้องการขายเครื่องสำอาง แบรนด์ตัวเอง
โดยทำตั้งแต่การออกแบบ วิจัยและพัฒนา จัดหาวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย ไปจนถึงการผลิต ตรวจสอบคุณภาพ และจัดส่งสินค้า
ซึ่งมีลูกค้าเป็นแบรนด์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ในสัดส่วน
ในประเทศ 55%
ต่างประเทศ 45%
โดยตัวอย่างสินค้าที่ S&J ผลิตให้แบรนด์ต่างประเทศ คือ น้ำหอมแห้ง ของ The Body Shop แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง สัญชาติอังกฤษ
ซึ่งนอกจากลูกค้าเดิมแล้ว S&J ยังมีการผลิตสินค้าให้กับเครื่องสำอางแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ด้วย เช่น
- โฟมล้างหน้า แบรนด์ Clear Nose
- ครีมกันแดดทาตัว แบรนด์ Mizumi
S&J ยังมีบริษัทลูกอีกหลายบริษัท ที่ประกอบธุรกิจสนับสนุนธุรกิจหลัก และผลิตสินค้าอื่น ๆ เช่น
- บริษัท ท้อปเทร็นด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
เป็นผู้ผลิตและจัดหาบรรจุภัณฑ์ ที่ใช้กับเครื่องสำอาง
- บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูเค) จำกัด
เป็นผู้ให้บริการทางด้านการตลาด และจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับการผลิตเครื่องสำอาง
- บริษัท อี เอฟ จำกัด
เป็นผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภค แบรนด์ EXFAC และ BIO EX
เราลองมาดูผลประกอบการของ S&J กัน
ปี 2563 รายได้ 4,415 ล้านบาท กำไร 276 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 5,033 ล้านบาท กำไร 373 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 6,077 ล้านบาท กำไร 504 ล้านบาท
จะเห็นว่า ทั้งรายได้และกำไรของบริษัท มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รายได้เติบโตเฉลี่ย 19% ต่อปี
เติบโตมากเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางไทย
แล้วลักษณะธุรกิจแบบ S&J มีจุดแข็ง และความท้าทาย อย่างไรบ้าง ?
ข้อได้เปรียบของธุรกิจ OEM ส่วนใหญ่ก็คือ การมีฐานลูกค้าเดิมที่มั่นคง
เพราะถ้าหากแบรนด์แบรนด์หนึ่ง เลือกบริษัทซัปพลายเออร์เพื่อผลิตสินค้าให้ชิ้นหนึ่งแล้ว ก็มักจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง
จึงมีลูกค้าประจำ กลับมาสั่งออร์เดอร์ซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ เช่น มิสทิน ก็เป็นลูกค้าเก่าแก่ของ S&J มาอย่างยาวนาน
ในทางกลับกัน ก็ทำให้เป็นเรื่องยาก ที่บริษัทจะดึงลูกค้าประจำจากเจ้าอื่น ซึ่งนี่ก็นับเป็นหนึ่งในความท้าทายของ S&J ด้วย
นอกจากนี้ S&J ก็มีคู่แข่ง ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่มาผลิตสินค้าให้แบรนด์เครื่องสำอางไทยด้วย
โดยตัวอย่างของคู่แข่งจากต่างประเทศ มักจะมาจากจีน
โดยแบรนด์ไทยบางแบรนด์ มักจะเลือกสินค้าจากผู้ผลิตสัญชาติเกาหลีใต้มาวางจำหน่าย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์
ในขณะที่ผู้ผลิตสัญชาติจีน ก็มีความได้เปรียบ ในเรื่องของต้นทุนที่ถูกกว่า และสินค้าที่มีความหลากหลายมากกว่า
ทำให้คู่แข่งเหล่านี้ กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ S&J ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
คุณดนัย ดีโรจนวงศ์ ผู้บริหารบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์มิสทิน ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ความสำเร็จของมิสทินในจีน มาจากความตั้งใจในการทำตลาด และการทำวิจัยและพัฒนา ร่วมกับพันธมิตรอย่าง S&J
นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของผู้ผลิตไทยในสายตาคนจีน ยังเป็นไปในทิศทางบวก โดยคนจีนมองว่า สินค้าที่มาจากประเทศไทย เป็นสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพที่ดี
ทำให้ 95% ของสินค้ามิสทิน ที่ขายในจีนนั้น จะถูกแปะป้าย Made in Thailand
แต่หากเราลองไปพลิกดูสินค้ามิสทิน ที่วางขายอยู่ในไทย จะพบว่าหลายชิ้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องแต่งหน้านั้น กลับถูกแปะป้าย Made in China..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://snjinter.com/th/about-us/
-https://www.thebetter.co.th/news/business/8129
-https://www.thansettakij.com/business/marketing/575627
-รายงานประจำปี 2565 ของบริษัท
-รายงานความยั่งยืนปี 2564 ของบริษัท

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon