PSA บริษัทท่าเรือสิงคโปร์ 100,000 ล้าน  ที่ไทยอยากชิงส่วนแบ่ง

PSA บริษัทท่าเรือสิงคโปร์ 100,000 ล้าน ที่ไทยอยากชิงส่วนแบ่ง

PSA บริษัทท่าเรือสิงคโปร์ 100,000 ล้าน
ที่ไทยอยากชิงส่วนแบ่ง /โดย ลงทุนแมน
สิงคโปร์ไม่ได้เป็นเมืองท่าระดับโลก เพียงเพราะความโชคดีเรื่องทำเลที่ตั้ง เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้เท่านั้น
แต่เพราะมีบริษัทท่าเรือสิงคโปร์ ที่คอยช่วยดูแล และบริหารกิจการท่าเรือ จนสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ ปีละ 16,000 ล้านบาท
และปัจจุบัน ไทยต้องการชิงส่วนแบ่งรายได้ตรงนี้
ด้วยโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งกำลังถกเถียงกันอยู่ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
PSA สร้างรายได้หมื่นล้านให้สิงคโปร์ได้อย่างไร
แล้วไทย สามารถแย่งส่วนแบ่งตรงนี้ได้ไหม
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้วท่าเรือสิงคโปร์ถูกสร้างขึ้น
เมื่อปี 1819 โดยคุณ Stamford Raffles เพื่อสนับสนุนกิจการเดินเรือของบริษัทการค้าอังกฤษ
ซึ่งเขาชูจุดเด่นของท่าเรือสิงคโปร์ ด้วยการทำให้ที่นี่เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ที่เปิดให้เรือทุกสัญชาติมาใช้บริการ ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เรือจากอังกฤษเท่านั้น
จึงดึงดูดให้มีเรือเข้ามาแวะพักมากมาย ซึ่งตามมาด้วยช่างไม้ ช่างฝีมือ และพ่อค้าจำนวนมาก ทำให้สิงคโปร์สั่งสมทักษะความเชี่ยวชาญ ด้านการเป็นเมืองท่ามาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม ท่าเรือสิงคโปร์ก็ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลอังกฤษ ในฐานะเจ้าอาณานิคม ก่อนที่จะได้รับเอกราช ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย
แต่รัฐบาลมาเลเซียในตอนนั้นมองว่า สิงคโปร์ที่เป็นเพียงเกาะขนาดเล็ก และไม่มีทรัพยากรล้ำค่าใด ๆ จะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจให้กับประเทศ จึงตัดสินใจปล่อยสิงคโปร์ออกไปจากมาเลเซีย
สิงคโปร์จึงต้องพัฒนาประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ การต่อยอดเมืองท่าที่มีดีอยู่แล้ว จึงกลายเป็นจุดแข็งสำคัญ ที่จะทำให้สิงคโปร์อยู่รอดได้
ในปี 1970 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ลงทุนอย่างหนัก เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้าแห่งแรกในอาเซียน แม้ว่าตอนนั้นปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลแถบนี้จะไม่เยอะก็ตาม
และยังก่อตั้ง PSA ให้เป็นหน่วยงานที่คอยดูแลกิจการ ตั้งแต่การพัฒนาท่าเรือ การบริหารตู้คอนเทนเนอร์ ไปจนถึงการกำกับดูแลการเดินเรือ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ซึ่งการลงทุนอย่างหนักก็เริ่มเห็นผล เมื่อมีการขุดคลองสุเอซที่ประเทศอียิปต์ ซึ่งใช้เป็นทางลัดในการเดินเรือระหว่างเอเชียและยุโรป ให้ใช้ระยะเวลาสั้นลง
ทำให้ปริมาณการเดินเรือ ระหว่างทั้งสองทวีปมีมากขึ้น และสิงคโปร์ซึ่งมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงได้รับประโยชน์ไปด้วย
เพราะเพียงแค่ 20 ปี จำนวนตู้ขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตู้ เป็น 5 ล้านตู้ และในตอนนั้น สิงคโปร์กลายเป็นเมืองท่าที่ใหญ่สุดในโลกอีกด้วย
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจแยกกิจการท่าเรือให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้ชื่อใหม่คือ บริษัท PSA Corporation
ส่วนเรื่องดูแลการเดินเรือ ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการมากขึ้น
แล้วปัจจุบัน PSA ใหญ่แค่ไหน ?
หากเราไปดูผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
จะพบว่า
- ปี 2020 รายได้ 109,665 ล้านบาท
กำไร 31,254 ล้านบาท
- ปี 2021 รายได้ 122,523 ล้านบาท
กำไร 37,447 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 209,778 ล้านบาท
กำไร 42,538 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า PSA มีรายได้และกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เหตุผลก็เพราะว่า มาจากจุดแข็งหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
1. บริษัทมีรายได้จากหลายช่องทาง
บริการของ PSA มีทั้งบริการคลังสินค้า ขนส่งสินค้า รวมไปถึงธุรกิจให้บริการขนส่งทางรถไฟในบางพื้นที่
และยังมีรายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์ และให้คำปรึกษา รวมถึงบริการการขนส่ง ให้กับบริษัทเดินเรืออื่น ๆ
2. ทำธุรกิจบริการเดินเรือทั่วโลก
ปัจจุบัน PSA ไม่ได้ทำธุรกิจแค่ในสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจท่าเรือน้ำลึก และคลังสินค้า กว่า 42 ประเทศ ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
พอเป็นแบบนี้ ท่าเรือสิงคโปร์จึงมีโครงข่ายการเดินเรืออยู่ทั่วโลก และเก็บเกี่ยวรายได้เข้ามาจากหลายพื้นที่ โดยแบ่งได้เป็น
- รายได้จากอาเซียน 42%
- รายได้จากยุโรป และอเมริกา 43%
- รายได้จากพื้นที่อื่น ๆ 15%
สิงคโปร์จึงไม่ได้เป็นแค่เมืองท่าปลอดภาษีเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ให้บริการเบื้องหลัง ให้กับการขนส่งทางทะเลทั่วโลก จนสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง
เทมาเส็ก ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์
ได้มากถึง 16,777 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
เมื่อมองกลับมาที่ไทย เรากำลังพยายามผลักดัน
โครงการแลนด์บริดจ์ บริเวณจังหวัดชุมพรและระนอง
เพื่อหวังจะเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมต่อของการค้าโลก
แต่ปัจจุบัน ท่าเรือสิงคโปร์สามารถสร้างโครงข่ายการขนส่งได้ทั่วโลก ทำให้ไทยแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ยาก
นอกจากนี้ ท่าเรือสิงคโปร์ยังสั่งสมความเชี่ยวชาญมายาวนาน และลงทุนในธุรกิจเดินเรือต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่งด้วย
โดยในปีที่ผ่านมา ไทยมีรายได้จากท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของไทย เพียง 9,800 ล้านบาท เรียกได้ว่า รายได้น้อยกว่าท่าเรือสิงคโปร์มากถึง 21 เท่า
และหากเทียบกับรายได้เฉพาะในอาเซียน
ท่าเรือสิงคโปร์มีรายได้ทั้งหมด 88,106 ล้านบาท
ก็ยังห่างจากท่าเรือแหลมฉบังมากถึง 9 เท่า
สรุปแล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะออกมาเป็นอย่างไร
แต่ที่แน่ ๆ คือ โครงการแลนด์บริดจ์ กำลังท้าชนตรง ๆ กับ PSA บริษัทท่าเรือประจำชาติของสิงคโปร์ที่วางเครือข่ายการเดินเรือไว้ทั่วโลก มานานกว่า 200 ปี มาแล้ว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://thaibizsingapore.com/news/%E0%B8%81/directions/psa-singapore-terminals/
-https://en.wikipedia.org/wiki/PSA_International
-http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/singaporeport/singapore.html
-รายงานประจำปี 2565 การท่าเรือแห่งประเทศไทย
-รายงานประจำปี 2022 บริษัท PSA International

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon