จากเพื่อนเป็นศัตรู ทำมูลค่า Netflix หายไป 6,000,000 ล้าน ใน 6 เดือน

จากเพื่อนเป็นศัตรู ทำมูลค่า Netflix หายไป 6,000,000 ล้าน ใน 6 เดือน

จากเพื่อนเป็นศัตรู ทำมูลค่า Netflix หายไป 6,000,000 ล้าน ใน 6 เดือน /โดย ลงทุนแมน
“Netflix” เคยเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาการปรับตัวทางธุรกิจชั้นยอด
ด้วยการผันตัว จากร้านเช่าวิดีโอ มาเป็นผู้นำบริการสตรีมมิงของโลก
ตั้งแต่นั้นมา หุ้นของ Netflix เติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างผลตอบแทนเป็น 570 เด้ง
หากวัดจากวันแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2002 กับจุดสูงสุดในปีที่แล้ว
จนกลายมาเป็นหนึ่งในธุรกิจ ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
แต่ในปีนี้ มูลค่าบริษัทของ Netflix กลับร่วงลงมากถึง 70%
คิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 6 ล้านล้านบาท
ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ Netflix ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
นับตั้งแต่วันที่ Netflix ผันตัวจากบริษัทให้เช่าวิดีโอและดีวีดี
มาสู่บริการวิดีโอสตรีมมิงออนไลน์ ในปี 2007
Netflix ใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ หรือจำนวนผู้ใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้มีเพียง Netflix เพียงบริษัทเดียว ที่เริ่มให้บริการวิดีโอสตรีมมิงเท่านั้น
เพราะยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่เริ่มเห็นช่องทางการเติบโตนี้ และได้เข้ามารุกธุรกิจนี้ในเวลาใกล้เคียงกัน
ยกตัวอย่างเช่น
- Amazon เจ้าของแพลตฟอร์ม Amazon Prime Video
ซึ่งในตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า Amazon Video on Demand
- Home Box Office หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ HBO ที่ได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์ม HBO GO ในปี 2010
แต่ก็ต้องบอกว่าในตอนนั้น ทั้งสองบริษัทยังไม่ได้ถือว่าเป็นศัตรูกับ Netflix เสียทีเดียว
เนื่องจากยังไม่ได้เปิดให้บริการสตรีมคอนเทนต์แนวภาพยนตร์หรือซีรีส์อย่างเต็มตัว
นอกจากนี้ สตูดิโอภาพยนตร์ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นคู่แข่งกับ Netflix อย่าง Warner Bros.
ในเวลานั้น ก็ยังคงเป็นพาร์ตเนอร์ที่คอยส่งคอนเทนต์ภาพยนตร์มาสตรีมบนแพลตฟอร์ม Netflix
ช่วงเวลานั้น แม้ Netflix จะเริ่มมีคู่แข่งแล้วก็จริง แต่การเติบโตของบริษัทก็ยังคงร้อนแรง
โดยเหตุผลหลัก ๆ มาจากการที่ Netflix ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการรุกเข้าสู่ตลาดใหม่ เช่น บุกตลาดลาตินอเมริกาและยุโรป
รวมถึงการเข้ามาเปิดให้บริการในไทย เมื่อปี 2016 เช่นกัน
นอกจากพื้นที่การให้บริการแล้ว Netflix ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายพอร์ตคอนเทนต์ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับ Universal Pictures และบริษัทแอนิเมชันยักษ์ใหญ่อย่าง Disney รวมถึงเริ่มสร้างคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์เป็นของตัวเอง ในปี 2012
ตลาดภาพยนตร์แบบสมัครสมาชิก หรือ Subscription Video On Demand
เรียกสั้น ๆ ว่า SVOD ในตอนนั้น ก็เรียกได้ว่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง
หากเราลองมาดูรายได้รวมของบริการ SVOD ทั่วโลก
จะพบว่าในปี 2019 มีรายได้รวมกว่า 1,600,000 ล้านบาท
แต่รายได้ของ Netflix ในปี 2019 มีมากถึง 720,000 ล้านบาท
คิดเป็น 45% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งอุตสาหกรรม
และด้วยความใหญ่ของตลาดกับเทรนด์การเติบโตในอนาคต เหล่าบริษัทที่มีทั้งคอนเทนต์ภาพยนตร์และแอนิเมชันในมือ ก็เริ่มมีความคิดที่จะดึงคอนเทนต์ต่าง ๆ กลับมาจากพาร์ตเนอร์
เพื่อนำมาสร้างจุดแตกต่างด้วยแบรนด์และคอนเทนต์ของตนเอง
จุดนี้เอง ที่ทำให้ตลาดวิดีโอสตรีมมิง
เริ่มมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด
เริ่มตั้งแต่ “Warner Bros.” ได้ประกาศดึงคอนเทนต์ของตัวเองกลับมาจาก Netflix ในปี 2018
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อปีที่ผ่านมา Warner Bros. ก็ได้ทำการถอดบริการ HBO Max ออกจาก Amazon Prime Video อีกด้วย
เช่นเดียวกันกับ Disney ที่ประกาศดึงคอนเทนต์ออกจาก Netflix
หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้คลอดแพลตฟอร์มของตัวเองอย่าง Disney+ ในปี 2019
ล่าสุด เมื่อต้นปี Amazon เพิ่งเข้าซื้อค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง Metro-Goldwyn-Mayer Studios Inc. หรือ MGM มูลค่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นสัญญาณว่า Amazon จะเข้ามาร่วมในสงครามนี้อย่างเต็มตัว เช่นกัน
แน่นอนว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้ จะกลายมาเป็นความท้าทายและโจทย์ทางธุรกิจสำหรับ Netflix
เพราะแม้ว่าที่ผ่านมา Netflix จะประสบความสำเร็จใน Original คอนเทนต์มากพอสมควร
ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์อย่าง Squid Game, Stranger Things หรือ Money Heist
แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในปัจจัย ที่ทำให้ Netflix ประสบความสำเร็จนั้น มาจากปริมาณและความหลากหลายของคอนเทนต์ ซึ่งมีส่วนผสมมาจากแบรนด์ของค่ายอื่น ๆ ด้วย เช่นกัน
เมื่อบริษัทที่เคยเป็นพาร์ตเนอร์ในอดีต ดึงคอนเทนต์ของตัวเองกลับไป
เรื่องนี้ก็จะส่งผลให้ คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของ Netflix มีจำนวนลดลงกว่าแต่ก่อน
เหลือเพียงแบรนด์ที่สร้างขึ้นมาเอง ซึ่งก็ต้องบอกว่าแม้จะมีความทันสมัย แต่การสร้างการรับรู้ต่อตลาดยังคงมีอยู่จำกัด ต่างจากแบรนด์ในตำนาน เช่น Marvel, Star Wars ที่สามารถหยิบนำมาเล่าซ้ำ ๆ ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด
เรื่องนี้ก็กระทบไปยังยอดผู้ใช้งานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยในไตรมาสล่าสุด ยอดผู้ใช้งานของ Netflix ในหลายภูมิภาคเริ่มมีการปรับตัวลดลง
ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ยุโรป, ลาตินอเมริกา จะมีแต่เอเชียที่ยังคงมีการเติบโตอยู่
แต่ด้วยฐานผู้ใช้งานจากฝั่งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่มีมากกว่า
ส่งผลให้ยอดผู้ใช้งานรวมล่าสุดของ Netflix
ลดลงมาอยู่ที่ 221.64 ล้านบัญชี จากไตรมาสก่อนหน้านี้ที่มีอยู่ 221.84 ล้านบัญชี
แม้จะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ประเด็นที่สำคัญคือ
การลดลงในครั้งนี้ นับเป็นการ “ลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี” เลยทีเดียว
แล้วสงครามสตรีมมิงในตอนนี้ เดือดขนาดไหน ?
หากเราลองมาดู ภาพของแต่ละแพลตฟอร์มในตอนนี้ก็จะพบว่า
- HBO และ HBO Max ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั้งหมด 76.8 ล้านบัญชี
โดยในตอนนี้มีบริษัทแม่คือ Warner Bros. Discovery, Inc.
ซึ่งมีภาพยนตร์และซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จในมือมากมาย เช่น Game of Thrones, Dune, Harry Potter, The Batman รวมถึงภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรจากฝั่ง DC
- Disney+ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั้งหมด 137.7 ล้านบัญชี
มีบริษัทแม่คือ Disney ซึ่งอาจพูดได้ว่าเป็นบริษัทที่มีสตูดิโอภาพยนตร์และแอนิเมชันในมือมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Pixar, Lucasfilm และ 20th Century Studios
แน่นอนว่าก็ทำให้ Disney มีลิขสิทธิ์ตัวละคร และภาพยนตร์ในมือมากมาย เช่น ภาพยนตร์แฟรนไชส์อย่าง Marvel, Star Wars รวมไปถึงภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Avatar
- Amazon Prime Video ปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั้งหมด 205 ล้านบัญชี
มีบริษัทแม่คือ Amazon ซึ่งล่าสุดเพิ่งทำการซื้อ Metro-Goldwyn-Mayer Studios Inc. หรือ MGM
ยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่ MGM เป็นผู้ผลิต เช่น หนังสายลับอย่าง James Bond
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่า
แล้วในตอนนี้ บริษัทผลิตภาพยนตร์หันไปทำแพลตฟอร์มของตัวเองกันหมดเลยหรือไม่ ?
คำตอบคือ ยังไม่ทั้งหมด
ปัจจุบัน ยังเหลือบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ระดับโลกอีกหลายบริษัท
ที่ยังเป็นพาร์ตเนอร์กับหลาย ๆ แพลตฟอร์ม และยังไม่ได้กระโดดลงมาแข่งขันอย่างเต็มตัว
ยกตัวอย่างเช่น
- Universal Pictures เจ้าของภาพยนตร์แฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง Jurassic นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของสตูดิโอแอนิเมชันอย่าง DreamWorks Animation
- Columbia Pictures ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man ร่วมกับ Marvel Studios ซึ่งปัจจุบันดำเนินการอยู่ภายใต้บริษัท Sony Group Corporation หรือ SONY
- Paramount Pictures เจ้าของหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Transformers, Mission: Impossible ที่แม้จะมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองแล้วอย่าง Paramount Plus แต่ปัจจุบันยังคงเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี กับหลาย ๆ แพลตฟอร์ม
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเรายังคงสามารถชมภาพยนตร์จากบริษัทเหล่านี้ ได้บนหลายแพลตฟอร์ม
ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถชมภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man: Homecoming ได้ทั้งบน Netflix, Disney+, Amazon Prime Video และ HBO Max
ถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปสถานการณ์ในตอนนี้ได้ว่า เหล่าบริษัทที่มีสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ เริ่มหันไปทำแพลตฟอร์มของตัวเอง จนทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด
และเมื่อแต่ละบริษัทเริ่มมีการจำกัดให้คอนเทนต์ของตัวเอง อยู่แค่ในแพลตฟอร์มของตัวเอง
จึงทำให้แต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีคอนเทนต์ที่ค่อนข้างแตกต่างกันไป
แน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับ Netflix โดยตรง
จากที่เมื่อก่อนเราสามารถค้นหาภาพยนตร์และซีรีส์ได้เกือบทั้งหมดที่นี่
กลับกลายเป็นว่าวันนี้เราต้องเลือก ว่าเราอยากดูคอนเทนต์จากค่ายไหน
- ใครอยากดู Stranger Things ต้องสมัคร Netflix
- ใครเป็นแฟนหนัง Marvel ต้องสมัคร Disney+
- ใครชอบดูหนัง และอยากดู Game of Thrones ต้องสมัคร HBO
สรุปสถานการณ์สงครามสตรีมมิงในตอนนี้ก็คือ อุตสาหกรรมมันเปลี่ยนไปแล้ว
ผู้บริโภคจะไม่ได้เลือกทุกแพลตฟอร์ม แต่จะเลือกเฉพาะที่พวกเขาสนใจ
การดิสรัปชันในรอบที่แล้ว Netflix สามารถแก้เกมได้สำเร็จ
ด้วยการผันธุรกิจเข้าสู่วิดีโอสตรีมมิง จนกลายมาเป็นเคสการปรับตัวทางธุรกิจให้เราได้ศึกษา
ก็เป็นที่น่าติดตามไม่น้อยว่าในวันนี้ ที่ Netflix ต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้ง
บริษัทจะแก้เกมอย่างไร ให้เราศึกษา ในครั้งนี้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.parrotanalytics.com/insights/global-svod-market-share/
-https://seekingalpha.com/article/4488711-why-netflix-will-remain-the-king-of-streaming
-https://www.statista.com/outlook/dmo/digital-media/video-on-demand/video-streaming-svod/worldwide#revenue
-https://www.npr.org/sections/thetwo-way/2017/08/09/542353743/disney-will-end-netflix-deal-and-offer-its-own-streaming-services#:
-https://www.cnbc.com/2019/02/21/hurdles-netflix-faces-as-disney-warner-bros-enter-the-streaming-space.html
-https://www.cnbc.com/2022/04/21/hbo-max-grows-to-76point8-million-subscribers-as-netflix-growth-slows.html
-https://www.britannica.com/topic/Six-Feet-Under
-https://www.warnerbros.com/news/press-releases/warner-bros-and-netflix-announce-expanded-agreement-covering-streaming-content
-Netflix Annual Report 2010
-Netflix Annual Report 2019
-Netflix First Quarter Financial Result 2022

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon