กรณีศึกษา สิงคโปร์ เจริญในรุ่นเดียวเพราะ “ระบบการศึกษา”

กรณีศึกษา สิงคโปร์ เจริญในรุ่นเดียวเพราะ “ระบบการศึกษา”

กรณีศึกษา สิงคโปร์ เจริญในรุ่นเดียวเพราะ “ระบบการศึกษา” /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่ง สิงคโปร์เคยเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในทวีปเอเชีย
แต่วันนี้ ชาวสิงคโปร์กลับมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงที่สุด เป็นอันดับที่ 7 ของโลก
หนึ่งในรากฐานสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำของโลกได้นั้น ก็คือ “การศึกษา”
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ที่ผลักดันประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ ให้กลายมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และร่ำรวยในเพียงชั่วอายุคน
แล้วรากฐานการศึกษาของสิงคโปร์ มีหน้าตาเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปในปี 1965 ซึ่งเป็นช่วงที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย
ในตอนนั้นมีเพียงกลุ่มชนชั้นนำของสิงคโปร์เท่านั้น ที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา
โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังเข้าไม่ถึงการศึกษาและเป็นคนไม่รู้หนังสือ
ด้วยความที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ไม่มีขุมทรัพย์ทางทรัพยากรธรรมชาติเลย
ไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบจำนวนมาก
สิงคโปร์ จึงถูกจัดให้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย
แต่หากเรามาเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ของประชากรสิงคโปร์
ในปีที่ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย กับวันนี้
ในปี 1965 รายได้เฉลี่ย 18,000 บาท
ในปี 2022 รายได้เฉลี่ย 2,800,000 บาท
เพิ่มขึ้นเป็น 155 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 57 ปี
ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อปีระดับนี้ เรียกได้ว่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ?
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ก็คือ การลงทุนในประชากรของตัวเอง ด้วยการให้การศึกษา
โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน คือคุณลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์
คุณลี กวนยู มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ว่าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสิงคโปร์
ให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และต้องการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายนี้ “ต้องเกิดขึ้นภายในเพียงชั่วอายุคน”
และเขามีความเชื่อว่า การศึกษา จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
โดยสิ่งที่เขาเข้ามาพัฒนาและปรับปรุง เริ่มตั้งแต่
- มุ่งเน้นการสร้างระบบการศึกษาที่เป็นสากล และมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะ สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของสิงคโปร์
- สร้างครูที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถพัฒนาการสอนแบบมืออาชีพ
รวมทั้งยกระดับมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ ให้ก้าวมาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพด้านการเรียนการสอน ที่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างในสหรัฐอเมริกา หรือในอังกฤษได้

- มีการผลักดันนโยบายการเรียนการสอน แบบสองภาษาอย่างเข้มข้น
โดยให้มีการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ใช้ในการเรียน และการทำงาน
ซึ่งการที่คุณลี กวนยู ต้องการให้ชาวสิงคโปร์สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ก็เพื่อต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาที่นี่
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณภาพด้านการศึกษาของชาวสิงคโปร์ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีความเป็นสากล
เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ในเวลาต่อมา สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เช่น
- มีตลาดกลางซื้อขายน้ำมันขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 3 ของโลก
ชื่อว่า Singapore International Monetary Exchange - SIMEX
- ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำ มีท่าเรือสิงคโปร์
ซึ่งเป็นท่าเรือตู้สินค้า เปลี่ยนถ่ายเรือที่ใหญ่ที่สุดของโลก
- เป็นศูนย์กลางการเงินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากนิวยอร์ก ลอนดอน และฮ่องกง
เมื่อเริ่มเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มเข้ามาลงทุน
ซึ่งก็กลายเป็นอีกส่วนสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตแบบก้าวกระโดด
สะท้อนให้เห็นจากในช่วงระหว่างปี 1960 ถึงปี 1990 นั้น เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตเฉลี่ยปีละ 9%
โดยการลงทุนพัฒนาและให้ความสำคัญในด้านการศึกษาของสิงคโปร์นั้น ไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ ของชาวสิงคโปร์เท่านั้น
แต่ยังทำให้มหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของทวีปเอเชีย และสามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ แม้จะก่อตั้งขึ้นมาได้ไม่นาน
หากเรามาดูข้อมูลจากสถาบันจัดอันดับการศึกษา ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
ระบุว่าในปี 2021 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในทวีปเอเชีย 3 แห่งแรก ประกอบไปด้วย
1. National University of Singapore ของสิงคโปร์
2. Tsinghua University ของจีน
3. Nanyang Technological University ของสิงคโปร์
โดย National University of Singapore ยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 11 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ในอันดับสูงกว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา อย่างมหาวิทยาลัย Princeton, Pennsylvania, Yale รวมไปถึง Columbia
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ งบประมาณด้านการศึกษาของสิงคโปร์
รู้หรือไม่ว่าในปี 2021 งบประมาณด้านการศึกษาของสิงคโปร์ สูงถึง 476,000 ล้านบาท
หรือเฉลี่ยแล้วชาวสิงคโปร์ จะมีงบประมาณด้านการศึกษา คนละ 86,600 บาท
สูงกว่าประเทศไทยถึง 16 เท่า
ที่เฉลี่ยแล้วจะมีงบประมาณด้านการศึกษา คนละ 5,400 บาท

อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับบุคลากรที่ทำอาชีพครู เพราะสิงคโปร์เชื่อว่า ครูถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้การศึกษาของสิงคโปร์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
โดยรัฐบาลจะมีการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพสูง
ในที่นี้ ก็คือ ครูทุกคน ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการสอน ที่สถาบันการศึกษาแห่งชาติของประเทศ
บวกกับในแต่ละปี กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ จะมีการตรวจสอบช่วงเงินเดือนเริ่มต้นของสายอาชีพครู และมีการปรับเงินเดือนของครูให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเสมอ
รวมทั้งยังให้ครูมีค่าล่วงเวลา และโบนัสตามผลงาน
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดึงดูดบัณฑิตที่เก่ง ๆ ให้เข้ามาทำงานในด้านนี้
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ในวันนี้
เกิดขึ้นจากการวางรากฐานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นระบบ
และมีการวางแผน เพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว
ซึ่งมันก็พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เดิมทีประเทศแห่งนี้จะเป็นเพียงแค่เกาะเล็ก ๆ
ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าใด ๆ เลย จนหลายคนมองว่าอาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ
แต่สำหรับคุณลี กวนยู นั้น
เขาเชื่อเหลือเกินว่า แม้จะไม่มีทรัพยากร
แต่เขายังมีขุมทรัพย์อีกอย่าง ก็คือ “ประชากร” ในประเทศของเขาเอง
ที่จะเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มในการพัฒนาเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ได้
จนท้ายที่สุด ก็เหมือนว่าความคิดของคุณลี กวนยู จะถูกต้อง
เพราะการลงทุนในด้านการศึกษา ให้แก่คนของเขาอย่างต่อเนื่อง และทำอย่างจริงจังนั้น
ได้ผลลัพธ์ที่งอกเงย จนทำให้ในวันนี้ สิงคโปร์ กลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและร่ำรวย
ในระยะเวลาแค่ชั่วอายุคน อย่างที่เขาหวังไว้ ในที่สุด..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Singapore
-https://en.wikipedia.org/wiki/Proclamation_of_Singapore
-https://www.bbc.com/thai/international-45722540
-https://www.topuniversities.com/university-rankings/asian-university-rankings/2021
-https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2021
-https://blogs.ntu.edu.sg/hey/2015/03/28/mr-lee-kuan-yew-had-a-vision-for-education/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Four_Asian_Tigers
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=SG
-https://en.wikipedia.org/wiki/Port_of_Singapore
-https://datastudio.google.com/reporting/8bf91139-3edf-4a10-b004-1db027852b23/page/p_wenotxfdpc
-https://asiasociety.org/global-cities-education-network/how-singapore-developed-high-quality-teacher-workforce

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon