กาแฟ Amazon ขายดีกว่า Starbucks

กาแฟ Amazon ขายดีกว่า Starbucks

กาแฟ Amazon ขายดีกว่า Starbucks / โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยไหมว่ากาแฟ Amazon หรือ Starbucks ขายดีกว่ากัน?
ทุกคนคงรู้ดีกว่ากาแฟ Starbucks เป็นกาแฟเบอร์หนึ่งของโลก และกาแฟ Amazon ก็น่าจะเป็นกาแฟเบอร์หนึ่งของคนไทย ซึ่งเป็นของ ปตท.
และ อยากรู้ไหมว่า ปตท. ขายกาแฟได้กำไรเท่าไร ขายน้ำมันได้กำไรเท่าไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ภายใต้ธุรกิจน้ำมัน ปตท. นั้น มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ ขายน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ ปตท. มีส่วนแบ่งตลาด 40% และน้ำมันหล่อลื่น ที่ ปตท. มีส่วนแบ่งตลาด 38%
แต่นอกจากนั้น บริษัทได้พยายามเพิ่มศักยภาพของสถานีบริการน้ำมัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เข้าออกปั๊มทุกวัน จึงเกิดเป็นธุรกิจค้าปลีก (Non-Oil) เสริมขึ้นมา
ทั้งที่เป็นแบรนด์ของ ปตท. เอง และแบรนด์ที่ ปตท. เป็นตัวแทนแฟรนไชส์ เช่น ร้านกาแฟ Café Amazon, ร้านสะดวกซื้อ Jiffy, ติ่มซำ ฮั่วเซ่งฮง, โดนัท Daddy Dough และ ไก่ทอด Texas
ในส่วนของ Café Amazon นั้น ปตท. เริ่มต้นธุรกิจนี้เมื่อปี 2545 ด้วยแนวคิดที่ให้ร้านเป็นจุดพักผ่อนของคนเดินทาง จึงถูกพัฒนาออกแบบในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ บรรยากาศผ่อนคลาย
ผ่านไป 15 ปี มีทั้งหมดประมาณ 2,000 สาขา ยอดขาย 140 ล้านแก้วต่อปี และยังขยายเพิ่มอีกปีละ 300 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 3,000 สาขา ใน 3 ปีข้างหน้า
รู้ไหมว่า
มูลค่าตลาดกาแฟของไทย อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท
ซึ่ง Café Amazon มีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 40%
ขณะที่อันดับสอง เป็นของ Starbucks มีส่วนแบ่ง 30%
รายได้ ปี 2557 Café Amazon 3,500 ล้านบาท / Starbucks 3,985 ล้านบาท
รายได้ ปี 2558 Café Amazon 5,400 ล้านบาท / Starbucks 4,998 ล้านบาท
รายได้ ปี 2559 Café Amazon 8,000 ล้านบาท / Starbucks 6,051 ล้านบาท
จะเห็นว่า เมื่อ 4 ปีก่อน รายได้ของ Café Amazon ยังตามหลัง Starbucks อยู่
แต่หลังจากนั้นร้านกาแฟสัญชาติไทยรายนี้ก็ชนะ ฝรั่ง ได้ในที่สุด
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเริ่มขยายสาขาไปในห้างสรรพสินค้า ที่เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
ปัจจุบัน รายได้ของ Café Amazon เมื่อเทียบกับ ธุรกิจน้ำมันของ ปตท. เป็นอย่างไร?
ปี 2559 ธุรกิจน้ำมัน ปตท. มีรายได้รวม 485,273 ล้านบาทโดยมีสัดส่วน
98% มาจากธุรกิจขายผลิตภัณฑ์น้ำมัน หรือประมาณ 472,000 ล้านบาท
2% มาจากธุรกิจค้าปลีก Non-Oil หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นของ Café Amazon 8,000 ล้านบาท หรือเกินครึ่งหนึ่ง
ขณะที่ กำไรก่อนหักค่าเสื่อม หรือ EBITDA อยู่ที่ 23,677 ล้านบาท โดยมีสัดส่วน
84% มาจากธุรกิจขายผลิตภัณฑ์น้ำมัน หรือ 19,920 ล้านบาท
16% มาจากธุรกิจค้าปลีก Non-Oil หรือ 3,757 ล้านบาท
รู้ไหมว่า
ผลิตภัณฑ์น้ำมัน มีอัตรากำไรเพียง 4%
ขณะที่กลุ่มค้าปลีก มีอัตรากำไรสูงถึง 30%
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่จะเห็น ปตท. ออกมาตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการทำธุรกิจกลุ่มค้าปลีก Non-Oil เพราะสามารถมีอัตรากำไรที่ดีกว่ามาก
แน่นอนว่า ปตท. คงไม่ได้เลิกสนใจทำธุรกิจขายน้ำมัน เพราะถือเป็นหนึ่งในภารกิจของบริษัท ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องจัดหาพลังงานมาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
ที่สำคัญ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปั๊มน้ำมัน เป็นรากฐานที่ช่วยผลักดันยอดขายในกลุ่มค้าปลีก ทุกวันนี้มีคนใช้บริการปั๊ม ปตท. วันละ 1.8 ล้านราย ซึ่งบางส่วนของคนกลุ่มนี้ ก็มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์ค้าปลีกต่างๆ
เมื่อแบรนด์มีความแข็งแรง จนยืนได้ด้วยตัวเอง เช่น Café Amazon จึงค่อยสามารถขยายไปนอกปั๊มได้อย่างมั่นคง
นอกจากนี้ ยังทำให้ ปตท. สามารถขยายไปยังต้นน้ำของธุรกิจกาแฟได้อีกด้วย โดยมีการลงทุนในโรงคั่วเม็ดกาแฟ เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับ Café Amazon
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
จริงๆแล้วทรัพย์สินที่เรามีอยู่ในมือ บางที ตัวมันเองอาจจะทำกำไรได้ไม่มาก
แต่ถ้าเรารู้จักพลิกแพลงต่อยอด แต่งเติมให้กับทรัพย์สินเดิม
จากก้อนหิน ก็อาจกลายเป็นพลอยที่มีมูลค่ามหาศาล
ในกรณีของ ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันที่มีคนเข้าถึงเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
ปตท. จึงต่อยอดด้วยการเสนอขายสินค้าชนิดอื่น ที่ลูกค้าน่าจะต้องการในชีวิตประจำวัน
หากเปิดปั๊มขายน้ำมันอย่างเดียว ถึงแม้ว่ามีลูกค้ามาก แต่ได้กำไรน้อย
หากเปิดร้านกาแฟอย่างเดียว อาจจะมีอัตรากำไรดี แต่มีลูกค้าน้อย
ดังนั้นการหาส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างสองผลิตภัณฑ์ จะทำให้บริษัทมีความได้เปรียบทางธุรกิจแบบทวีคูณ
และต่อไป ปตท. คงไม่หยุดอยู่แค่ร้านกาแฟ
ล่าสุด ปตท. เปิดโครงการว่าจะทำธุรกิจโรงแรมในปั๊มน้ำมัน
สรุปแล้ว ปั๊ม ปตท. คงไม่ใช่ธุรกิจค้าน้ำมันอีกต่อไป
แต่ ปตท. กำลังจะกลายมาทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
สุดท้ายคู่แข่งที่ต้องชายตามอง ปตท. อาจจะไม่ใช่ เอสโซ่ เชลล์ หรือ บางจาก
แต่จะกลายเป็นบริษัทที่เรานึกไม่ถึงอย่าง โลตัส บิ๊กซี และ เซ็นทรัล..
----------------------
<ad> ใครที่ทำธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น หอพัก อพาร์ทเม้นท์ บ้านเช่า หรือ โกดัง แล้วพบปัญหาปวดหัวกับการ ออกบิล การบันทึกผู้พักย้ายเข้า-ออก อยากให้มาลองใช้บริการเว็บแอพพลิเคชั่น apartmentery.com ที่จะช่วยบริหารธุรกิจให้เช่าทุกแบบได้ผ่านเว็บ ช่วยประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และบริหารงานได้จากทุกที่
ติดต่อได้ที่ 02-402-6969
Facebook page: https://facebook.com/apartmentery
----------------------

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon