CPF เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก 4.50% ต่อปี

CPF เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก 4.50% ต่อปี

CPF x ลงทุนแมน
ช่วงที่ 1 ขายผู้ถือหุ้นกู้เดิม 3 - 4 และ 7 ก.พ. 65 และช่วงที่ 2 ขายผู้ลงทุนทั่วไป 21 - 25, 28 ก.พ. และ 1 มี.ค. 65
ย้อนไปเมื่อ 8 - 9 ปีก่อน หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ) ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการลงทุนในประเทศไทย แต่มาวันนี้นักลงทุนทั้งหลายเริ่มคุ้นเคยกันแล้ว โดยที่ผ่านมาหลายบริษัทที่เคยออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ต่างก็ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ก่อนกำหนดกัน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ก็เคยออกตราสารชนิดนี้เมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งจะครบกำหนด 5 ปีเต็ม ในวันที่ 2 มีนาคม 2565 นี้ โดย CPF จะทำการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม และออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่มาทดแทน
สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต้องทำการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ก่อนกำหนดและออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ทดแทน ก็เพราะว่าจะทำให้บริษัทยังคงมีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
ในส่วนของนักลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ จะได้รับผลตอบแทนที่ยังสูงกว่าหุ้นกู้ทั่ว ๆ ไป แม้จะมีความเสี่ยงและความซับซ้อนสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปก็ตาม
ดังนั้น เมื่อ CPF มีแผนจะไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม และออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่มาเสนอขายให้กับทั้งผู้ถือหุ้นกู้เดิมและผู้ลงทุนทั่วไป จึงเป็นโอกาสให้ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิมได้ลงทุนต่อเนื่อง และผู้ลงทุนรายใหม่ ๆ ก็ได้มีโอกาสลงทุนด้วยเช่นกัน โดยผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิมสามารถจองซื้อได้ระหว่างวันที่ 3 - 4 และ 7 กุมภาพันธ์ 2565 และสามารถจองซื้อได้สูงสุดไม่เกินจำนวนหุ้นกู้ CPF17PA เดิมที่ผู้ถือหุ้นกู้ถืออยู่ ส่วนผู้ลงทุนทั่วไปจองซื้อได้ในระหว่างวันที่ 21 - 25, 28 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2565
หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่นี้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรก ไว้ที่ 4.50% ต่อปี จากนั้นจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก ๆ 5 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ ขณะนั้น รวมกับอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มเติมตามสูตรคำนวณที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน
CPF ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ “A+” และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ที่ “A-” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารในระดับสากล โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายในการเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
CPF ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรโดยจำแนกธุรกิจตามลักษณะผลิตภัณฑ์เป็น 3 ประเภทได้แก่ ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ธุรกิจผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ (Farm and Processing) และ ธุรกิจอาหาร (Food) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในด้านคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ ความปลอดภัย และสามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาผ่านการคิดค้นนวัตกรรมด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ CPF ยังให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม และสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมด้วยความใส่ใจในผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกัน CPF ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา CPF ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก เช่น ดัชนี FTSE4Good ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) และ ดัชนี MSCI ESG ซึ่งเป็นการตอกย้ำการดำเนินงานด้านการรับผิดชอบของ CPF
สำหรับผู้ลงทุน อย่าลืมว่า การจะลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้ และต้องทำแบบทดสอบความรู้ก่อนจองซื้อด้วย คือ
1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชนิดนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการผลตอบแทนสูง รับความเสี่ยงได้สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป และสามารถลงทุนระยะยาวได้ (อย่างน้อย 5 ปี)
2. หากเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้อยากจะขายเปลี่ยนมือ ก็สามารถติดต่อธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์แห่งใดก็ได้ แต่ต้องยอมรับด้วยว่า ราคาที่ขายนั้นมีโอกาสจะขาดทุน หรืออาจจะขายไม่ได้ในทันที
3. ต้องไม่ลืมว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ นี้ บริษัทฯ สามารถใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด (ตามเงื่อนไขในข้อกำหนดสิทธิ) หรือ จะคืนเงินต้นก็ต่อเมื่อบริษัทฯ เลิกกิจการ
4. ถ้าบริษัทล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้น ภายหลังจากที่ CPF ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้มีประกัน และเจ้าหนี้สามัญอื่นก่อน ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯอาจได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนทั้งหมด บางส่วน หรืออาจจะไม่ได้เลยก็ได้
5. CPF สามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำกัดเวลา โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนบนดอกเบี้ยค้างชำระ อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขผูกไว้ว่า หากเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้นี้ CPF ก็จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นสามัญได้
6. หากในอนาคต CPF ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่นี้ก่อนกำหนด (เช่นเดียวกับการที่ CPF ไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิมในเดือนมีนาคม 2565 นี้) เงินต้นที่ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับคืนมาเต็มจำนวนนั้น เมื่อนำไปลงทุนต่อกับหุ้นกู้ชุดใหม่ อาจมีโอกาสได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าดอกเบี้ยของหุ้นกู้เดิมก็ได้ (ตามภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะออกหุ้นกู้ชุดใหม่)
7. สมมติว่า ในอนาคต CPF ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้หรือเจ้าหนี้อื่น ก็จะไม่ถือว่าผิดนัดชำระหุ้นกู้ด้อยสิทธินี้ (cross default) ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ CPF คืนเงินต้นก่อนกำหนด นั้นคือ ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธินี้ยังคงต้องถือหุ้นกู้ด้อยสิทธินี้ต่อไปตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
เมื่อได้รับรู้ทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงแบบนี้แล้ว สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากร่างหนังสือชี้ชวน หรือติดต่อสถาบันการเงินทั้ง 7 แห่งนี้
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ยกเว้นสาขาไมโคร) โทร. 1333
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1111
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-888-8888 กด 819
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร. 02-777-6784
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-626-7777
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โทร. 1572
บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)* โทร. 02-165-5555
* ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon