กรณีศึกษา KBank รุกตลาดเวียดนาม ปล่อยสินเชื่อ 15,000 ล้าน ภายในปี 2022

กรณีศึกษา KBank รุกตลาดเวียดนาม ปล่อยสินเชื่อ 15,000 ล้าน ภายในปี 2022

KBank x ลงทุนแมน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดสาขาแรกในประเทศเวียดนาม
โดยสาขานครโฮจิมินห์จะนับว่าเป็นสาขาที่ 10 ของธนาคารกสิกรไทยที่อยู่ในต่างประเทศ
ซึ่งการรุกตลาดเวียดนามในครั้งนี้อยู่ภายใต้พันธกิจของการเป็นธนาคารระดับภูมิภาคที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ หรือ Regional Bank of Choice
ต้องบอกว่า ยุทธศาสตร์หลักของธนาคารกสิกรไทยคือการก้าวไปสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3
หรือพูดง่าย ๆ คือกลุ่มประเทศอาเซียน และ 3 ประเทศอย่าง จีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มีเครือข่ายบริการกว่า 16 แห่ง
พันธมิตร 84 แห่งทั่วโลก และมีฐานลูกค้ารวม 1.85 ล้านคน
ความน่าสนใจคือ ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งได้รับรางวัล ไพรเวทแบงก์ด้านการสื่อสารการตลาดดิจิทัลยอดเยี่ยมในเอเชีย หรือ Best Private Banking for Digital Marketing & Communication in Asia จาก PWM Wealth Tech Awards 2021
และรางวัลดิจิทัลไพรเวทแบงกิ้งแห่งปีของประเทศไทย หรือ Digital Private Banking of the Year - Thailand จาก Asset Triple A: Digital Awards 2021
ปัจจัยเหล่านี้ ย้ำความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทยในภูมิภาคอาเซียน
ที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ ธนาคารกสิกรไทย ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในประเทศเวียดนาม
ที่ประชากรมากกว่า 70% มีการเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต และเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
คำถามคือ ทำไมเวียดนามถึงได้เป็นจุดมุ่งหมายของเหล่านักลงทุน ?
เราคงต้องเริ่มจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ GDP ของเวียดนาม
GDP เวียดนามนั้นเติบโตราว ๆ 6-7% เฉลี่ยต่อปี มาตั้งแต่ปี 2010-2019
ตัวเลขนี้เยอะขนาดไหน ?
ถ้าเราลองเปรียบเทียบการเติบโตของ GDP ของประเทศไทย
ที่เติบโตเพียง 3-4% เฉลี่ยต่อปี มาตั้งแต่ปี 2010-2019
หมายความว่า GDP ของเวียดนาม เติบโตเฉลี่ยต่อปี มากกว่าประเทศไทยเกือบ 1.5 เท่า
อีกทั้ง ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
ส่งผลให้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก และหลาย ๆ ประเทศมีการเติบโตของ GDP ที่ติดลบ

ความน่าสนใจคือ เวียดนาม เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตของ GDP ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของโควิด 19
ซึ่ง GDP ของประเทศเวียดนาม สามารถเติบโตได้ 2.9% สวนทางกับหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาค
ถ้าเราลองดูการเติบโตของ GDP ของ 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ปี 2020 GDP ของฟิลิปปินส์ ติดลบ 9.6%
ปี 2020 GDP ของไทย ติดลบ 6.1%
ปี 2020 GDP ของอินโดนีเซีย ติดลบ 2.1%
เหตุผลเหล่านี้ ทำให้เวียดนาม เป็นเพียงไม่กี่ประเทศ “ทั่วโลก” ที่มีการเติบโตของ GDP ในวิกฤติโควิด 19
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ โครงสร้างเศรษฐกิจของเวียดนามที่สนับสนุนการเติบโตในระยะยาว
ในปี 2021 เวียดนามมีจำนวนประชากรที่ 97.1 ล้านคน
ซึ่งจำนวนนี้ทำให้เวียดนามมีประชากรที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน
เป็นรองเพียงประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์
ต้องบอกว่า 74.1 ล้านคน หรือราว ๆ 76% ของประชากรทั้งประเทศ อยู่ในวัยแรงงาน
และอัตราค่าแรงของชาวเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกด้วย
ถ้าเราลองดูข้อมูลของ Trading Economics จะพบว่า
ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของฟิลิปปินส์ จะอยู่ที่ราว ๆ 10,800 บาทต่อเดือน
ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของไทย จะอยู่ที่ราว ๆ 10,400 บาทต่อเดือน
ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของอินโดนีเซีย จะอยู่ที่ราว ๆ 11,000 บาทต่อเดือน
แต่ว่า ในปี 2021 ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนาม จะอยู่เพียง 6,300 บาทต่อเดือน
พูดง่าย ๆ คือ จำนวนประชากรส่วนมากอยู่ในวัยแรงงาน บวกกับ อัตราค่าแรงที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง จะส่งผลให้ เวียดนาม กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของหลาย ๆ บริษัทใหญ่ทั่วโลก
ปัจจัยสุดท้ายคือ โครงสร้างประเทศที่สนับสนุนการส่งออก และนำเข้า
ประเทศเวียดนาม ถือเป็นหนึ่งจุดศูนย์กลางสำคัญในด้านการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน
เวียดนามมีพรมแดนที่ติดกับประเทศจีน ที่เป็นจุดศูนย์รวมการค้าของโลก
มากไปกว่านั้น เวียดนามยังมีพื้นที่ที่ติดกับทะเลจีนใต้ ทำให้การขนส่งทางเรือนั้นเป็นไปอย่างสะดวกสบาย
ที่น่าสนใจคือ เวียดนามมีท่าเรือมากกว่า 320 ท่าเรือ
ซึ่ง 160 กว่าแห่งเป็นท่าเรือที่รองรับการขนส่งระหว่างประเทศ
โดยเวียดนาม มีท่าเรือสำคัญ ๆ อย่าง ท่าเรือไซง่อน (Saigon) และ ท่าเรือกั๊กไล (Cát Lái)
ซึ่งท่าเรือกั๊กไล ถือว่าเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม
อีกทั้งยังติดอันดับ Top 10 ท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดในอาเซียน อีกด้วย
เหตุผลเหล่านี้ ส่งผลให้ เวียดนามกำลังกลายมาเป็น “ผู้ส่งออกสินค้าสำคัญ”
อย่างโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์
โดยสะท้อนไปยังการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment (FDI)
ที่สูงถึง 500,000 ล้านบาท ในปี 2021
แล้วธนาคารกสิกรไทย จะได้อะไรจากการรุกตลาดเวียดนามในครั้งนี้ ?
ต้องบอกก่อนว่า ธนาคารในประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตของกำไรที่สูงมาก
โดยจากข้อมูลของ Statista ยังพบว่า
Return on Equity (ROE) หรือ กำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้นของธนาคารเวียดนามสูงถึง 15-20%
ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับธนาคารในภูมิภาค หรือธนาคารในประเทศไทย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ธนาคารในประเทศเวียดนาม มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่สูง
ในปี 2021 อัตราส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเวียดนาม เฉลี่ยแล้วจะอยู่ราว ๆ 4.5%
ซึ่งตัวเลขนี้สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน
อีกทั้ง เวียดนามกำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด
ปัจจัยเหล่านี้ จะนำไปสู่การขยายเมือง การเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ
และความต้องการในการกู้เงินเพื่อขยายธุรกิจ
ซึ่งการเปิดสาขาในครั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท
มียอดเงินฝาก 1,200 ล้านบาท ภายในปี 2565
และจะสามารถสร้างฐานลูกค้าได้มากกว่า 8 ล้านราย ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ธนาคารกสิกรไทย เป็นองค์กรที่มีการปรับตัวเข้าหาการเปลี่ยนแปลงอยู่สม่ำเสมอ
ยกตัวอย่างบริการ K PLUS ที่มีบริการ Machine Lending Program
ความน่าสนใจคือ ธนาคารกสิกรไทยจะใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า
เพื่อยื่นข้อเสนอเงินกู้ให้กับผู้ที่มีแนวโน้มต้องการเงินสดและมีคุณสมบัติเหมาะสม
หรือบริการอย่าง K PLUS Beacon ที่ถูกพัฒนามาสำหรับผู้ใช้ที่มีปัญหาทางสายตา ซึ่ง K PLUS Beacon จะเข้ามาช่วยผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตารวมถึงผู้สูงอายุ ส่งผลให้ ลูกค้าสามารถใช้งานระบบด้วย คำสั่งเสียง เช่น การโอนเงิน หรือการชำระบิล
จากตัวอย่างนี้ เราคงพอเห็นว่า ธนาคารกสิกรไทย นั้นมีการปรับตัวเข้าหาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หรือพูดง่าย ๆ ธนาคารกสิกรไทยคือองค์กรที่มีความ Agile หรือ มีความคล่องตัวค่อนข้างสูง
ความน่าสนใจคือ พนักงานทุกคนจะต้องเรียนรู้ และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับเปลี่ยนเข้าหานวัตกรรมใหม่ ๆ
ต้องบอกว่า ธนาคารกสิกรไทยจะมีหลายทีมในองค์กรที่ช่วยกันระดมความคิด
คอยช่วยกันแก้ปัญหา และที่สำคัญคือมีการรับฟีดแบ็กจากทุก ๆ ความคิดเห็น
เพื่อมาพัฒนาบริการอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมกับการขยายตลาดไปยังเวียดนาม
ธนาคารเองก็ได้เปิดรับบุคลากรที่มีศักยภาพหลากหลายทักษะมากกว่า 500 ตำแหน่ง
เข้ามาร่วมงานทั้งในประเทศไทย และทีมงานที่อยู่ประจำสาขานครโฮจิมินห์
อีกทั้ง ธนาคารกสิกรไทย ยังมีการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาให้กับพนักงานปัจจุบัน
ทั้งการรีสกิล ทักษะด้านภาษา และความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ ธนาคารกสิกรไทย มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง
ซึ่งการที่ธนาคารเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และมีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล
ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ ธนาคารกสิกรไทย สามารถปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมและพฤติกรรมของชาวเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แล้ว ธนาคารกสิกรไทย มีกลยุทธ์อะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมาย ?
โดยกลยุทธ์หลักในการขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน จะเน้นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลแบงกิ้งที่พัฒนาใช้ในระดับภูมิภาคของธนาคาร (Regional Digital Banking)
กลยุทธ์แรกคือ การปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Lending) ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศเวียดนาม (Local Large Corporate)
โดยการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ จะมุ่งเป้าไปยังธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการค้า และอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค
กลยุทธ์สองคือ การร่วมลงทุนของ KVision
KVision คือบริษัทลูกในเครือของ ธนาคารกสิกรไทย
ที่เน้นการลงทุนในบริษัท Startup ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ
ที่น่าสนใจคือ KVision จะเข้ามาช่วยพัฒนาการบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก และสินเชื่อบุคคลที่ตรงต่อความต้องการของคนในท้องถิ่น

กลยุทธ์สุดท้ายคือ การร่วมลงทุนกับพันธมิตรเชิงธุรกิจที่มีศักยภาพ
ที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ ธนาคารกสิกรไทย กำลังพูดคุยกับหลายกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน
ที่จะร่วมลงทุนเพื่อสร้าง Ecosystem ที่จะขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าที่สถาบันการเงินยังเข้าไม่ถึง (Unbank) และกลุ่มวัยแรงงานที่เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
ต้องบอกว่า ในปี 2021 ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายที่จะส่งมอบบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล ผ่านสินเชื่อดิจิทัล KBank Biz Loan
KBank Biz Loan จะเน้นการเจาะตลาดลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กหรือร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการเงินหมุน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,500 ล้านบาท จากลูกค้า 25,000 ราย
ความน่าสนใจคือ
ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อได้สูงสุดถึง 36 เดือน
วงเงินกู้สูงสุดถึง 100 ล้านดงเวียดนาม หรือประมาณ 150,000 บาท
ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 1.4% ต่อเดือน
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ธนาคารกสิกรไทย ยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่
อย่าง IPOS VN., Haravan และ KiotViet
รวมถึง Sendo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก
จากการที่ธนาคารกสิกรไทยมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งแบบนี้ จะเป็นตัวช่วยให้ ธนาคารกสิกรไทย สามารถส่งมอบบริษัทที่ตรงใจลูกค้า และสร้างโซลูชันทางการเงินสำหรับผู้ค้าออนไลน์
มากไปกว่านั้น ในปี 2022 ธนาคารกสิกรไทยจะขยายการให้บริการไปสู่ลูกค้ารายย่อยท้องถิ่นของประเทศเวียดนามอย่างจริงจัง ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง ของธนาคารกสิกรไทย
เช่น แอปพลิเคชัน K PLUS
กลยุทธ์เหล่านี้ ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของ KBank ในการรุกตลาดเวียดนาม เลยทีเดียว
ท้ายที่สุดแล้ว คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า
“การเปิด KBank สาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม คือการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในธุรกรรมการเงินยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัลแบงกิ้ง (Disruptive Banking / Digital Banking) ของธนาคารกสิกรไทย”
สุดท้ายแล้ว การที่ประชากรเวียดนามมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่า 70%
และส่วนมากเป็นประชากรรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการเติบโตของเทคโนโลยี
การบรรลุเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และมียอดเงินฝาก 1,200 ล้านบาท ภายในปี 2565
จึงเชื่อว่า เป็นไปได้สำหรับธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นผู้นำด้าน​​ดิจิทัลแบงกิ้ง
ต้องบอกว่า การเปิดสาขาที่นครโฮจิมินห์ คือการมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค
ตอนนี้ KBank มีเครือข่ายการให้บริการในกลุ่มประเทศ AEC+3 รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง และพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก มีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน
ประเทศเวียดนามจึงเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจมาก และเป็นประตูสู่โอกาสใหม่ของ KBank..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon