สรุป แนวคิด 3 CEO ใน CLUBHOUSE คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย | คุณปลา iberry | คุณเป้ BBQ Plaza

สรุป แนวคิด 3 CEO ใน CLUBHOUSE คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย | คุณปลา iberry | คุณเป้ BBQ Plaza

สรุป แนวคิด 3 CEO ใน CLUBHOUSE คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย | คุณปลา iberry | คุณเป้ BBQ Plaza
เมื่อคืนนี้ ลงทุนแมนได้เปิดห้องพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจอาหารทั้ง 3 ท่านบน Clubhouse
ทั้งคุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย, คุณปลา iberry และคุณเป้ BBQ Plaza
เราพูดคุยกันเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว” ของโลกในยุคนี้
โดยมีผู้ร่วมเข้าฟังพร้อมกันแบบสดๆ สูงสุดถึง 7,000 คน
บทความนี้จะเป็นสรุปทั้งหมด สำหรับเรื่องราวที่พูดคุยกัน
ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลย..
เริ่มต้นจากเรื่องแรก วิกฤติโควิดที่ผ่านมา เป็นอย่างไร และ CEO แต่ละท่านมีวิธีรับมืออะไรบ้าง?
“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และถ้าไม่ปรับเราก็เหนื่อย”
นี่คือประโยคแรกของคุณปลาที่บอกกับเรา
อย่างเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยมีปัจจัยของโรคระบาดเข้ามาเป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วขึ้นไปอีก
จากเดิมที่ 90% ของธุรกิจเครือ iberry อยู่ที่หน้าร้าน เพราะนอกจากจุดเด่นด้านอาหารแล้ว ยังเน้นไปที่เรื่องประสบการณ์ของลูกค้าด้วย
พอเกิดโรคระบาดที่ทำให้ต้องปิดหน้าร้าน ก็ต้องรีบปรับตัวอย่างรวดเร็ว
เพราะธุรกิจมีต้นทุนที่ต้องแบกรับ ทั้งค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน และที่สำคัญคือวัตถุดิบของสดจำนวนมาก
แต่คุณปลาก็เลือกที่จะรับมืออย่างรวดเร็ว โดยสามารถแตกแบรนด์ “เจริญแกง” ร้านข้าวแกงแบบดิลิเวอรี ได้ ภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน
ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่
นอกจากนั้นยังมีการปรับองค์กร ให้สามารถก้าวทันกับไลฟ์ไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
ในส่วนของคุณเป้เอง ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกับคุณปลา
ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก และบางอย่างก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน..
โดยเธอมองว่า โรคระบาดแม้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่ก็เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ที่อีกไม่นานมนุษย์ก็จะหาทางออกจากเรื่องนี้ได้
สิ่งสำคัญคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคต่างหาก
เพราะสุดท้ายลูกค้าจะเป็นคนเลือกเองว่าสิ่งไหนเหมาะสุดกับพวกเขาที่สุด
สำหรับคุณต๊อบเขามีแนวคิดที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงว่า
เมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึง “มีอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนแปลง?” และ “อะไรที่จะยังคงอยู่ไปอีกนาน?”
สำหรับสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง คุณต๊อบก็มีมุมมองคล้ายกับคนอื่นๆ ก็คือ พฤติกรรมของผู้บริโภค
วิธีการทำงาน หรือโครงสร้างองค์กร
แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง คุณต๊อบมองว่า จะยังมีสิ่งที่อยู่ต่อไปได้อีกนานเลยก็คือ
1.คนจะรักสุขภาพมากขึ้น 2.คนจะรักโลกมากขึ้น และ 3.ทุกๆ คนยังคงชอบของอร่อย
ทำให้คุณต๊อบต้องวางกลยุทธ์ในการทำธุรกิจใหม่ ด้วยแนวทาง “3 Go”
เพื่อให้แบรนด์ยังอยู่รอด และเติบโตท่ามกลางวิกฤติได้
1.Go firm
หาทางลดต้นทุน ทำธุรกิจให้ตัวเบาและคล่องตัว เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
2.Go Board
ขยายตลาดให้กว้าง และกระจายความเสี่ยง โดยจะไม่ได้ผลิต และจำหน่ายสินค้าแค่รูปแบบเดียว
แต่จะพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่สามารถดึงจุดเด่นของเถ้าแก่น้อยออกมาได้
และจะไม่ได้วางขายอยู่แค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะขยายฐานไปหลายๆ ประเทศ
3.Go Global
การขยายตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นแบรนด์ระดับโลก
ซึ่งจะมีตลาดในสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแปรสำคัญ โดยมีสแน็กสาหร่ายเป็นสินค้าหลัก
และคงรสชาติที่อร่อยไว้ แต่จะปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับเทรนด์สุขภาพมากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณต๊อบกำลังเร่งทำอย่างจริงจัง เพราะคุณต๊อบมองว่า
“ถ้าไม่ปรับตัว เราก็คงค่อยๆ หายไป..”
สำหรับหัวข้อถัดไป ก็คือ วิธีสร้างแบรนด์ และขยายธุรกิจ
ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ คุณเป้มักจะเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรให้แบรนด์สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้”
ซึ่งวิธีของ BBQ Plaza มักจะเป็นการให้ความสำคัญกับทุกกระแส และต้องขยับให้เร็ว
เพื่อให้ตัวเองเป็น First Mover
โดยการทำแบบนี้จะทำให้เราใช้ทุนน้อย แต่ได้ผลลัพธ์ที่มาก
และวิธีนี้จะทำให้แบรนด์กลายเป็นที่พูดถึงอยู่ตลอดเวลา
อย่างเช่น กระแส Clubhouse
ซึ่ง BBQ Plaza ก็ถือเป็นแบรนด์แรกๆที่เข้ามามาจับกระแสนี้อย่างรวดเร็ว
จนกลายเป็นที่พูดถึงทั่วโลกโซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้ คุณเป้ยังมองว่าหากจะขยายธุรกิจ
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “พฤติกรรมของผู้บริโภค”
เพราะหากผู้บริโภค กำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราก็ต้องพร้อมขยับไปให้ทัน
ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ก็คือ เทรนด์รักสุขภาพ
โดยเรื่องนี้เกิดจากการที่คุณเป้สังเกตว่า ลูกค้าของ BBQ Plaza มักจะนิยมสั่ง เมนูหรือชุดเซตผักมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้คุณเป้เกิดไอเดียที่จะปั้นแบรนด์ใหม่ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น
และเกิดเป็นแบรนด์
ดังนั้นคุณเป้จึงนำเอาเรื่องนี้มาสร้างเป็นแบรนด์ Charna ร้านชาบู ที่เน้นผักสดใหม่เป็นพระเอกของร้าน
ในมุมมองเรื่องการขยายธุรกิจไปแบรนด์ใหม่ๆ
คุณปลา เธอมองว่าปัจจุบันเธอขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน
เพราะด้วยธุรกิจเดิม มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี ทำให้เมื่อบริษัทเปิดแบรนด์ใหม่ๆ ลูกค้าเก่าจากแบรนด์ดั้งเดิมก็จะตามไปใช้บริการ เพราะมั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน เท่าๆกับแบรนด์ในเครือ
และสำหรับคุณต๊อบ ที่ในช่วงนี้มีการขยายไปทำธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่น ชานมขวดที่พึ่งเปิดตัวไปไม่นาน
เขาก็มีมุมมองว่า ในสมัยนี้การทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
เพราะด้วยช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ที่เป็นโซเชียลมีเดีย สามารถทำให้คนรู้จักสินค้าได้ในทันที
แต่ความยากคือ การทำอย่างไรให้สินค้านั้น มันอยู่ได้ยั่งยืน
จนกลายเป็นสินค้าที่สามารถติดตลาดได้เป็นสิบๆปี
ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ที่ใครก็ตามที่อยากจะทำธุรกิจ ควรจะหาคำตอบให้เจอ..
นอกเหนือจากเรื่องที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น
อีกหนึ่งเรื่องอย่าง “กัญชา และกัญชง” ที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้างตอนนี้
จนอาจกลายเป็นความท้าทายใหม่ที่กำลังจะเกิดกับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ทั้งสามคนมีมุมมองกับเรื่องนี้อย่างไร?
เรื่องนี้ทุกคนให้คำตอบเหมือนกันว่า “กำลังศึกษา” อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำมาใช้กับสินค้า อย่างคุณปลา เริ่มทดลองศึกษาความเป็นไปได้ในการ นำกัญชงหรือกัญชา มาประกอบอาหารแล้ว เธอยังบอกว่าได้ชิมแล้วด้วย รสชาติดี
แต่ยังกังวลเรื่องต้นทุนว่าจะแพงไปหรือไม่
โดยคุณเป้เสริมว่า เรื่องข้อกฎหมาย และความเสี่ยงของผู้บริโภค ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
ต้องดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ จะต้องมีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง
เพื่อให้มั่นใจได้ว่าถ้านำมาผลิตเป็นอาหาร จะปลอดภัยกับลูกค้าจริงๆ
ส่วนคุณต๊อบ ยังมองว่าการนำกัญชาเข้ามาเป็นส่วนประกอบในอาหาร และเครื่องดื่มโดยตรง
ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับตลาดในประเทศ จึงอาจเริ่มทดลองตลาดจากการผสม “กลิ่น” ก่อน
แต่สำหรับตลาดต่างประเทศการทำสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาเลย ก็ถือว่าน่าสนใจมาก
เพราะว่าหลายๆ ประเทศก็เริ่มคุ้นเคยกับสินค้าประเภทนี้กันบ้างแล้ว
ซึ่งสุดท้ายแล้ว “กัญชา” จะเป็นเพียงกระแสหรือเทรนด์ ก็ต้องดูหลายๆ ปัจจัยในระยะยาว
ทั้งเรื่องคุณภาพสินค้า และผู้เล่นในตลาด
รวมทั้งดูว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถตอบโจทย์ให้กับลูกค้ากลุ่มไหนบ้าง
ในเรื่องไลฟ์สไตล์ส่วนตัวผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน มีวิธีบริหารเวลาอย่างไร?
แม้ว่าทั้ง 3 CEO จะมีวิธีการบริหารธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป
แต่กลับมีบางเรื่องที่คล้ายๆกัน นั่นก็คือ การให้เวลากับครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ
คุณปลามองว่า การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในรูปแบบหนึ่งที่สามารถมีความสุขไปกับช่วงเวลาตรงนี้ได้ โดยไม่ได้แบ่งว่า เวลาไหนทำงาน เวลาไหนไม่ทำงาน เธอสามารถทำงานไป และเล่นกับลูกไปได้
คุณต๊อบเล่าว่าสมัยก่อนโควิด 19 เขาไปทำงานต่างประเทศก็จะพาลูกไปด้วย และนั่นก็ถือว่าเป็นการเที่ยวกับลูกไปในตัว แต่พอมาเจอ โควิด 19 ทำให้เขาตั้งใจว่าจะมีเวลากับลูกอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพราะเขาไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีเหตุการณ์อะไรที่ร้ายแรงกว่านี้อีกหรือไม่
คุณเป้ กล่าวว่าชีวิตเธอมี 2 โหมด โหมดที่ 1 คือทำงาน และโหมด 2 คืออยู่กับลูก เธอชอบไปแคมปิง โดยขับรถไปเอง และที่สำคัญคือ เธอจะเอาเตาปิ้งบาร์บีคิวพลาซ่าไปแคมปิงด้วย..
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ในช่วงท้ายของการพูดคุยใน Clubhouse ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังถาม CEO ทั้ง 3 ท่านได้
เริ่มจากคำถามของคุณปลา ว่าสนใจจะฉีกแนวไปทำร้านอาหารของประเทศอื่นบ้างหรือไม่
หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากอาหารไทยมาแล้วหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือ ยันข้าวต้มปลา
โดยคุณปลาได้บอกว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจที่เกิดขึ้นของเธอจะเริ่มต้นมาจากสิ่งที่รู้จัก
ในที่นี้ก็คือ รู้ว่ามันอร่อย หรือไม่อร่อยอย่างไรจะได้นำไปบอกเชฟได้ จึงเลือกทำแต่อาหารไทยมาโดยตลอด
ซึ่งคุณปลาก็มองว่า อาหารไทยมีเสน่ห์ในตัว และมีความหลากหลายแต่อยู่แล้ว
และเราในฐานะคนไทย ก็มีความเข้าใจ และสามารถในการยกระดับคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก
ดังนั้นจะยังเน้นที่อาหารไทยอยู่
ถัดมาที่คำถามของคุณเป้ ที่ถามถึงมุมมองของการนำบาร์บีก้อน ไปทำการตลาดร่วม กับแบรนด์อสังหาริมทรัพย์อย่าง “แสนสิริ”
ซึ่งคุณเป้ได้ตอบว่า เพราะด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ผู้คนต้องเผชิญความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นด้านของการใช้ชีวิต หรือทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนจะเริ่มหันกับไปให้ความสำคัญ กับเรื่องพื้นฐาน นั่นก็คือปัจจัย 4 มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือที่อยู่อาศัย
ดังนั้น คุณเป้จึงได้เลือกที่จะไปพาร์ตเนอร์ชิปกับแบรนด์ด้านอสังหาริมทรัพย์ อย่างแสนสิริ
ซึ่งคุณเป้ก็ได้ทิ้งท้ายว่า กำลังจะมีแคมเปญที่ทำร่วมกับแสนสิริ ปล่อยออกมาในเร็วๆนี้อีกด้วย
และคำถามสุดท้าย ซึ่งถามคุณต๊อบว่า คิดอย่างไรกับการตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
แทนที่จะขายให้กับบริษัทที่เคยติดต่อมาขอซื้อบริษัทด้วยเงิน 3,000 ล้านบาท
ซึ่งคุณต๊อบก็ได้ให้คำตอบว่า ในตอนนั้นที่ตัดสินใจไม่ขายกิจการ เพราะยังเห็นโอกาสของธุรกิจอยู่
และในตอนนี้ก็วางแผนว่าในอนาคต จะยังคงทำธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารเหมือนเดิม
แต่จะเน้นเป็นการนำ นวัตกรรม ใส่ลงไปในอาหาร และเครื่องดื่มแทน
หลังจากนั้นก็มีคำถามเรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์
ในฐานะคนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วอย่างเถ้าแก่น้อย มีคำแนะนำอย่างไรให้คุณปลา และคุณเป้ ที่ยังไม่ได้นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
คุณต๊อบมีมุมมองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย
แต่สำหรับคุณต๊อบ การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์มันสามารถช่วยทำให้เป้าหมายของเขาเป็นจริง
โดยเขามองว่า ควรใช้การเข้าตลาดเป็นเพียงเครื่องมือ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายว่าอยากเข้าตลาดหลักทรัพย์
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามันสามารถช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ ก็ควรเข้าตลาดหลักทรัพย์
แต่ถ้าเราไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการได้ โดยที่ไม่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้า
คุณปลา กล่าวว่าการจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่นั้น จะขึ้นกับจังหวะของตลาด และความพร้อมของตัวเอง ซึ่งจะต้องขยายธุรกิจให้เหมาะสมต่อไป
คุณเป้ กำลังศึกษาอยู่ และต้องเรื่องจังหวะเวลา และสภาพตลาดเช่นกัน
แต่ความพร้อมขององค์กรมีอยู่แล้ว ในวันใดหากตัดสินใจเข้าตลาด ก็สามารถทำได้ทันที
ปิดท้ายด้วยคำพูดจากคุณต๊อบ
“อะไรที่เกิดขึ้นมันดีเสมอ”
ให้มองว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นแค่เกม อย่าไปกลัว และยอมแพ้
ตราบใดที่เรายังไม่ยอมแพ้ นั่นแปลว่าเกมยังไม่จบ
เราแค่ต้องผ่านด่าน มันไปให้ได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon