กรณีศึกษา “การยกธงขาว” ของห้างโตคิว ในประเทศไทย

กรณีศึกษา “การยกธงขาว” ของห้างโตคิว ในประเทศไทย

กรณีศึกษา “การยกธงขาว” ของห้างโตคิว ในประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
ช่วงนี้เราคงได้เห็นหลายธุรกิจพยายามดิ้นรน
และประคองตัวให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายธุรกิจ ที่ตอนนี้ต้องตัดสินใจยุติกิจการลง
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ห้างสรรพสินค้า “โตคิว”
ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้
เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย กว่า 35 ปี
แต่วันนี้ โตคิว กำลังจะต้องลาประเทศไทยไปแล้ว
โตคิวคือใคร และน่าสนใจอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ห้างโตคิว (TOKYU) เป็นห้างสรรพสินค้าในเครือ โตคิว กรุ๊ป
ซึ่ง โตคิว กรุ๊ป คือบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลาย
อย่างเช่น พัฒนาและให้บริการระบบรถไฟในโตเกียว, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจค้าปลีก
โตคิว กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 หรือเมื่อ 110 ปีที่แล้ว
โดยปัจจุบัน โตคิว กรุ๊ป จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในประเทศญี่ปุ่น และมีมูลค่าบริษัทประมาณ 230,000 ล้านบาท
ห้างโตคิว ได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งปี พ.ศ. 2528 โดยเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง ซึ่งถ้านับถึงวันนี้ห้างสรรพสินค้าโตคิวในไทย มีอายุกว่า 35 ปี
ขณะที่ปัจจุบัน ห้างโตคิว ได้เช่าพื้นที่ของมาบุญครองเซ็นเตอร์ ทั้งหมด 4 ชั้น
และเช่าพื้นที่มากถึง 12,000 ตารางเมตร ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของบรรดาผู้เช่าทั้งหมดของมาบุญครองเซ็นเตอร์
ช่วงแรกที่ห้างโตคิวเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย
การแข่งขันในสมัยนั้นยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
ทั้งจำนวนห้างสรรพสินค้าที่ยังมีไม่มาก
และการซื้อของออนไลน์ที่ยังไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนในปัจจุบัน
นอกจากนั้นแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา
ห้างโตคิว ก็ได้ผ่านวิกฤติต่างๆ ในประเทศไทยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
ปี พ.ศ. 2540 วิกฤติต้มยำกุ้งที่มีศูนย์กลางของวิกฤติคือประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2546 การระบาดของเชื้อไวรัส SARS
ปี พ.ศ. 2547 การระบาดของโรคไข้หวัดนก
ปี พ.ศ. 2549-2550 เหตุการณ์รัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครอง
ปี พ.ศ. 2556-2557 วิกฤติการเมืองไทย และเหตุการณ์ “Shutdown Bangkok” ซึ่งกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของห้างโตคิว
จะเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมา ห้างโตคิวแห่งนี้ ก็เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาตลอด แต่อย่างไรก็ตาม โตคิว ก็ยังคงผ่านวิกฤติเหล่านั้นมาได้
นอกจากนั้นแล้ว ห้างโตคิว ยังเคยขยับขยายไปเปิดสาขาที่สอง ที่ พาราไดซ์ พาร์ค บนถนนศรีนครินทร์ ในปี พ.ศ. 2558
แต่เนื่องด้วยสาขาที่ พาราไดซ์ พาร์ค ประสบผลขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน จึงทำให้ต้องยุติกิจการลงใน ปี พ.ศ. 2562 หลังจากเปิดไปได้เพียง 4 ปีเท่านั้น
ขณะที่ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยพร้อมทั้งรายได้ของประชากรไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้คนจำนวนมากมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น
เรื่องนี้ ตามมาด้วยการขยายตัวของธุรกิจศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ที่เปิดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาเป็นคู่แข่งสำคัญของโตคิว
วันนี้สิ่งที่เราเห็น ไม่เพียงแต่การแข่งขันภายในธุรกิจห้างสรรพสินค้าเท่านั้น
แต่ธุรกิจนี้ยังมีคู่แข่งทางอ้อม ที่สามารถแย่งจำนวนคนที่จะเดินทางมาห้างสรรพสินค้าไปได้
เช่น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Hypermarket), ร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง (Specialty stores), คอมมิวนิตีมอลล์, ร้านขายสินค้าปลอดภาษีอากร (Duty-free) และ Outlet ที่ขายของลดราคา
เราจึงสังเกตได้ว่า ช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้นทุกที
แต่คู่แข่งที่ดูจะน่ากลัวที่สุดในวันนี้ของบรรดาธุรกิจศูนย์การค้า คือ แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่า “อีคอมเมิร์ซ”
รู้ไหมว่า มูลค่ารวมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย เติบจาก 2 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2557 มาอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการเติบโตถึงเท่าตัว ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น
ซึ่งเรื่องนี้ ก็ยิ่งส่งผลให้คนเดินทางไปศูนย์การค้าน้อยลงกว่าเดิม และทำให้รายได้ของห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง รวมถึง ห้างโตคิว ลดลงเรื่อยๆ
เมื่อรายได้ที่เข้ามามีน้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) อย่างเช่น ค่าเช่าพื้นที่ห้าง หรือค่าจ้างพนักงานประจำ ไม่ได้ลดลงตาม
ก็ตามมาด้วยผลขาดทุนต่อเนื่องของบริษัท
ผลประกอบการ บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด
ปี พ.ศ. 2560 รายได้ 1,291 ล้านบาท ขาดทุน 288 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 1,238 ล้านบาท ขาดทุน 90 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 1,141 ล้านบาท ขาดทุน 194 ล้านบาท
และยิ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้น
เมื่อปีนี้เกิดการระบาดของโควิด 19 ทั่วโลก
จนประเทศไทย ต้องปิดประเทศไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้
ห้างโตคิว ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ
ซึ่งเป็นโลเคชันยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ก็ได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย
ด้วยปัญหาขาดทุนสะสมหลายปี
บวกกับโรคระบาดที่กำลังทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาเหมือนเดิม และยังอาจส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปซื้อของออนไลน์ มากกว่าการออกมาเดินห้าง
ล่าสุด ห้างโตคิว ก็ต้องยอมยกธงขาว
เตรียมยุติกิจการในประเทศไทย ภายในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2564
ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้ไม่นาน Isetan ห้างสัญชาติญี่ปุ่นอีกราย ก็เพิ่งอำลาประเทศไทยไปเช่นกัน
การปิดตัวลงของห้างโตคิว อาจกำลังส่งสัญญาณเตือนธุรกิจห้างสรรพสินค้ารายอื่นๆ
ว่าวันนี้ ธุรกิจห้างสรรพสินค้าในวันข้างหน้า อาจไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเคยเห็นในอดีตอีกแล้ว
เพราะถ้าห้างสรรพสินค้า
ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดึงดูดใจให้คนเดินทางมาได้
ก็คงเป็นเรื่องยาก ที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้า..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon