ธุรกิจเครื่องปรุง เป็นอย่างไร ในช่วง COVID-19

ธุรกิจเครื่องปรุง เป็นอย่างไร ในช่วง COVID-19

ธุรกิจเครื่องปรุง เป็นอย่างไร ในช่วง COVID-19 /โดย ลงทุนแมน
การระบาดของ COVID-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น
และกิจกรรมที่คนนิยม และพูดถึงกันมากอย่างหนึ่ง
คือ การทำอาหารทานที่บ้าน เพราะไม่สามารถออกไปทานอาหารนอกบ้านได้
พอเป็นแบบนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า
แล้วในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์บริษัทเครื่องปรุงรสทั่วโลกเป็นอย่างไร
ดีขึ้นหรือแย่ลง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากเรานับตั้งแต่ช่วงโควิด 19 โดยเฉพาะช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก
ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ในประเทศจีน
เดือนมีนาคม ในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น
และ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนเมษายน
เรื่องนี้ก็ส่งผลให้ธุรกิจอาหารนั้นได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน
ร้านอาหารหลายแห่งต้องมีการปรับตัวเพราะไม่สามารถจำหน่ายหน้าร้านได้ จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบดิลิเวอรีแทน
ในขณะเดียวกันก็มีลูกค้าอีกจำนวนไม่น้อย ที่ผันตัวมาเป็นแม่ครัวพ่อครัวฝึกทำอาหารกินเองอยู่ที่บ้าน เพราะทั้งประหยัดกว่าและยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ไปในตัวในช่วงที่ไม่ได้ออกไปไหน
ซึ่งบริษัทที่ต้องจำหน่ายสินค้าให้กับทั้งร้านอาหารและลูกค้ารายย่อยเหล่านี้ก็คือ บริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสต่างๆ นั่นเอง
แล้วผลประกอบการของแต่ละประเทศในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
เรามาดูตัวอย่างผลประกอบการของบริษัทเครื่องปรุงจากทั่วโลกกัน
โดยเริ่มจากบริษัทในต่างประเทศ อย่างบริษัท McCormick จากสหรัฐอเมริกา
บริษัทขาย Seasoning หรือ ผงและซอสปรุงรส สมุนไพรประกอบอาหาร และอาหารพร้อมทานต่างๆ
ซึ่งรายงานผลประกอบการในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา
บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งตรงกับช่วงที่การระบาดในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 20,000 คน
ตามมาด้วยบริษัท ซีอิ๊วที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง Foshan Haitian
โดยในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 22%
แล้วบริษัทเครื่องปรุงในบ้านเราเป็นอย่างไร?
เริ่มจากบริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน)
ที่จำหน่ายซอสปรุงรสภายใต้แบรนด์ Exotic Food
โดยในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น 62% จากยอดสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในยุโรปจากการกักตุนอาหาร
และมีกำไรเพิ่มขึ้น 561%
ที่น่าสนใจคือ บางบริษัทยังมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นด้วย
เรื่องนี้ก็เป็นเพราะว่า สินค้าบรรจุภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดเล็กขายดีขึ้น
ซึ่งสินค้าเหล่านี้นั้น มีอัตรากำไรสูงกว่า สินค้าที่ขายในปริมาณมากนั่นเอง
อีกกรณีก็คือ บริษัทเครื่องปรุงรายใหญ่ในไทยอีกแห่งหนึ่ง
ที่ชื่อว่า บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ดังอย่างภูเขาทอง และ ซอสฝาเขียว
ที่ถึงแม้ว่ายอดขายจะน้อยลงในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน แต่กลับทำกำไรได้มากขึ้นถึง 14% เพราะลูกค้าประเภทครัวเรือนมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางบริษัทที่ผลประกอบการไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมเท่าไรนัก อย่างเช่นบริษัท Kikkoman เจ้าของซอสถั่วเหลืองชื่อดังจากญี่ปุ่น ที่ทั้งยอดขายและกำไรโดยรวมนั้นลดลง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ก็คือยอดขายจากลูกค้าระดับครัวเรือนนั้นเพิ่มมากขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ
มาถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์บริษัทเครื่องปรุงรสยังถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรม ที่เติบโตได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคประเภทครัวเรือน
ถึงแม้ว่าจะเจอกับมาตรการ Social Distancing ทั่วโลกที่ทำให้ร้านอาหาร หรือ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ชะลอตัวลง แต่ก็ทดแทนด้วยยอดขายจากลูกค้าแบบครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น
เรื่องนี้ก็น่าติดตามต่อไปว่า จะเป็นเหตุการณ์ยาวนานแค่ไหน
และจะทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ขึ้นโดยถาวรหรือไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะสัมผัสได้ก็คือ
คนรอบตัว หรือแม้แต่ตัวเราเอง
ก็คงมีโอกาสได้ทำอาหารฝีมือตัวเองกันบ้าง
และสิ่งนั้นแหละ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือ ธุรกิจเครื่องปรุง..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon