Impossible Trinity นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 อย่างไร

Impossible Trinity นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 อย่างไร

Impossible Trinity นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 อย่างไร /โดย ลงทุนแมน
รู้ไหมว่า นโยบายทางเศรษฐกิจ 3 อย่างคือ
1. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
2. การอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี
3. การกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
ทั้ง 3 อย่างนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมดไม่ได้
โดยจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้เพียง 2 อย่าง
และถ้าประเทศไหนฝ่าฝืน จะเกิดผลที่ร้ายแรงตามมา
เรื่องนี้เป็นอย่างไร
แล้วที่ผ่านมาเคยมีประเทศไหนฝ่าฝืนหรือไม่
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ทฤษฏีที่ว่าคือ Impossible Trinity ถูกพัฒนาโดย Robert Mundell และ Marcus Fleming สองนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในช่วงระหว่างปี 1960-1963
โดยทั้ง 2 คนบอกว่า นโยบายทางเศรษฐศาสตร์ 3 อย่างจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้เพียง 2 อย่าง ภายใต้ 3 คู่เหตุการณ์
คู่ที่ 1 การใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และการอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี
แต่ธนาคารกลางจะไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ใช้เงินยูโรร่วมกัน โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีค่าคงที่ ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปก็ยังเปิดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าและออกประเทศอย่างเสรีเพื่อเอื้อต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของกรณีนี้คือ
ประเทศสมาชิกจะไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้จะมีธนาคารกลางยุโรปทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายการเงินให้แก่ประเทศสมาชิก
แต่ปัญหาก็คือความแตกต่างกันระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิก
เราลองนึกภาพว่า
วิกฤติหนี้ยุโรปกรีซซึ่งมีหนี้สาธารณะ GDP ที่สูงถึง 180% ต่อ GDP
ขณะที่ประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์กลับมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ประมาณ 48%
คำถามคือ การที่ 2 ประเทศนี้มีสภาพเศรษฐกิจที่ต่างกัน
การนำนโยบายการเงินที่เหมือนกันมาใช้
อาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาที่ถูกต้องมากนัก
ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้ประชาชนในบางประเทศไม่พอใจ เช่น สหราชอาณาจักร จนโหวตให้ประเทศตนเองออกจากสหภาพยุโรป หรือเรียกว่า BREXIT
คู่ที่ 2 การใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
แต่เงินทุนจะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้แบบเสรี
จีนคือ หนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจคู่นี้ โดยจีนจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) พร้อมทั้งสามารถกำหนดนโยบายทางการเงินของประเทศได้อย่างอิสระ
ดังนั้น เราจึงมักได้ยินธนาคารกลางของจีน ประกาศลดค่าเงินหยวนเพื่อช่วยภาคส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
แต่กรณีนี้ จีนต้องมีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งข้อเสียของกรณีนี้คือ การขาดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ ลองนึกภาพว่าถ้าวันดีคืนดีจีนสั่งห้ามไม่ให้นำเงินออกนอกประเทศจีน นักลงทุนก็คงต่างพากันตกใจที่เงินตัวเองถูกกักไว้ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะทำให้มีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรง (FDI) โดยจะส่งผลต่อเนื่องตามมาต่อการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม การที่จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และที่ผ่านมาจีนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนพอสมควร จึงสามารถดึงดูดให้มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มากเช่นกัน
คู่ที่ 3 การอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
แต่อัตราแลกเปลี่ยนต้องเป็นลอยตัว
นี่คือนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้า และการลงทุนในระบบทุนนิยม ซึ่งหลายประเทศนิยมใช้
หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ที่อนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
กรณีของไทยนั้น นอกจากจะมีการอนุญาตให้เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรีแล้ว ธนาคารกลางยังมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินในการปรับเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นไปตามกลไกของตลาด ขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน ของสกุลเงินนั้น
ดังนั้น ค่าเงินของประเทศจะมีความผันผวนสูงกว่า 2 กรณีแรก และในบางครั้งจะสร้างผลกระทบต่อผู้นำเข้าและส่งออก ลองนึกภาพว่า ถ้าเราผลิตสินค้าที่มีต้นทุน แต่ถ้าเราได้รับเงินจากต่างชาติน้อยลง เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนต่างจากที่คาด ก็ทำให้เราขาดทุนได้เช่นกัน
ซึ่งกรณีของประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการบริการสูง การแข็งค่าของเงินบาทที่มากและรวดเร็ว จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นภาระของธนาคารกลางในการเข้ามาดูแลจัดการอัตราแลกเปลี่ยน
และทั้งหมดนี้ก็คือ ความหมายของ Impossible Trinity ที่ลงทุนแมนนำมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ
แต่รู้ไหมว่า ในอดีตมีประเทศหนึ่งที่เคยนำนโยบายดังกล่าวมาใช้พร้อมกันทั้ง 3 อย่าง นั่นคือ ประเทศไทย และผลที่ตามมา ก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่เราเรียกว่า ต้มยำกุ้ง
อย่างที่ 1 คือ ก่อนวิกฤติปี 2540 ประเทศไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ด้วยการผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงนั้น ประเทศไทยกำหนดให้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถแลกเป็นเงินไทยได้ 25 บาท ต่อมาภายหลังก็ปรับขึ้นมาเป็น 26 บาท แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่
อย่างที่ 2 คือ รัฐบาลไทยในขณะนั้น ต้องการทำเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเทียบเท่ากับฮ่องกงในตอนนั้น พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงมีการจัดตั้ง กิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) ขึ้นในปี 2536 เพื่อทำธุรกรรมในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศแล้วนำมาปล่อยกู้ทั้งในและนอกประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจึงมีการจัดตั้งหน่วยงานกิจการวิเทศธนกิจขึ้น
ในตอนแรก การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเหมือนจะเป็นความคิดที่ดี
เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างร้อนแรงโดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2536-2539
GDP เติบโตกว่า 10% ต่อปี นักลงทุนต่างชาติจึงอยากปล่อยกู้ให้ เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยตอนนั้นฮอตสุดๆ
แต่แล้วเศรษฐกิจก็ร้อนแรงเกินไป จนเป็นฟองสบู่..
และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกนโยบายอย่างที่ 3 ที่ท้าทาย Impossible Trinity
นั่นก็คือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมให้การกู้ยืมมีต้นทุนการเงินที่สูง ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป
แต่ตามกฎของ Impossible Trinity ถ้าจะให้เงินเข้าออกได้อย่างอิสระ และมีอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ นโยบายการเงินของประเทศจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ช่วงก่อนวิกฤติการเงินปี 2540 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ (MLR) ในประเทศไทยเคยขึ้นไปสูงสุดถึง 13.75% ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศนั้นอยู่ที่ประมาณ 7-8% หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนั้นห่างกันเกือบเท่าตัว
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ไม่เพียงแต่สถาบันการเงินหลายแห่ง แต่ยังรวมไปถึงบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจึงเร่งกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาลงทุนหรือมาปล่อยกู้ในประเทศกันอย่างมาก
ที่เป็นแบบนี้เพราะทุกคนเชื่อว่า ค่าเงินบาทที่ถูกกำหนดไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะคงที่ตลอดไป ดังนั้นความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจึงถูกมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง
ช่วงนั้นเงินที่กู้มาถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก บางส่วนก็นำไปลงทุนในตลาดหุ้น แต่ประเด็นของเรื่องคือ หนี้ต่างประเทศที่กู้มานั้นเมื่อเวลาสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปี 2539 มีอยู่เพียง 968,000 ล้านบาท
ในช่วงปี 2537-2538 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มขาดดุลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เจ้าหนี้ต่างประเทศเริ่มไม่มั่นใจต่อสภาพเศรษฐกิจไทย และเริ่มเรียกคืนหนี้ที่ปล่อยกู้คืน นั่นหมายถึงคนต้องขายเงินบาทเพื่อไปแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกของตลาดในตอนนั้น เงินบาทต้องอ่อนค่าลง
เมื่อรวมกับการโจมตีค่าเงินจากกองทุน ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศไทยอย่างหนัก
แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย คงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 25 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย จึงนำเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศมาซื้อเงินบาท
แต่การพยุงเงินบาทไปเรื่อย หมายถึงทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงเรื่อย จนสุดท้ายไม่ไหว ต้องยอมแพ้และประกาศลอยตัวค่าเงินบาท โดยเงินบาทอ่อนค่าไปสูงสุดถึง 56 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจหลายแห่งที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศทำให้มูลค่าหนี้เมื่อเทียบเป็นเงินไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า และทำให้ธุรกิจจำนวนมากถึงกับล้มละลาย
ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง และถูกนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์วิกฤติครั้งต่อมา และมักจะเจอคำถามอยู่เสมอว่า วิกฤติครั้งนี้รุนแรงเท่ากับวิกฤติต้มยำกุ้งหรือไม่
การเข้าใจเรื่องการเงินและเศรษฐศาสตร์ ทำให้เรารู้ถึงเหตุผล และความเป็นไปของเศรษฐกิจระดับประเทศ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเป็นบทเรียนไม่ให้เราทำสิ่งที่ผิดพลาดอีกครั้ง
ถ้าวันนั้น เราเลือกที่จะไม่ฝืน Impossible Trinity โดยให้ค่าเงินบาทลอยตัวตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรจะเป็นตั้งแต่แรก ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่คนขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนในข้ามคืนเดียวมากขนาดนี้
ถ้าวันนั้น เราไม่กำหนดนโยบายการเงินของตนเองที่แตกต่างจากต่างประเทศมาก ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่คนกู้เงินจำนวนมากจากต่างประเทศ แล้วเจ้าหนี้ต่างประเทศเรียกคืน
ถ้าวันนั้น เราควบคุมการเข้าออกของเงินไม่ให้เป็นไปอย่างอิสระ ถึงแม้ว่านักลงทุนจะสูญเสียความเชื่อมั่นไปบ้าง แต่เราก็อาจป้องกันการโจมตีค่าเงินได้
สรุปแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น
คงไม่ได้ผิดที่ใครคนใดคนหนึ่ง
แต่มันก็คือผลของการกระทำของทุกฝ่ายในเวลานั้น นั่นเอง..
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Impossible_trinity
-https://tradingeconomics.com/greece/government-debt-to-gdp
-https://tradingeconomics.com/country-list/government-debt-to-gdp?continent=europe
-https://www.investopedia.com/articles/forex/09/chinas-peg-to-the-dollar.asp
-http://www2.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Content&file=contentview&contentID=CNT0002932&categoryID=CAT0000146
-http://www2.fpo.go.th/S-I/Source/word/Word.php?Language=Thai&BeginRec=869&NumRecShow=8&sort=1&search=
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=409&language=eng
- https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=222&language=th
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=80&language=eng
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=81&language=eng
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Thailand#1997–2006
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon