Direct Listing เอาหุ้นเข้าตลาดได้ โดยไม่ต้อง IPO

Direct Listing เอาหุ้นเข้าตลาดได้ โดยไม่ต้อง IPO

Direct Listing เอาหุ้นเข้าตลาดได้ โดยไม่ต้อง IPO /โดย ลงทุนแมน
หลายคนที่เป็นนักลงทุน คงคุ้นเคยกับคำว่า IPO
ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นของบริษัทเป็นครั้งแรกต่อตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนไปขยายกิจการ
แต่รู้หรือไม่ว่า ในสหรัฐอเมริกา มีอีกหนึ่งวิธีที่สามารถนำบริษัทเข้าสู่ตลาดได้ โดยไม่ต้อง IPO
เรียกว่า “Direct Listing”
วิธีนี้แตกต่างจาก IPO แบบเดิมอย่างไร
แล้วทำไมบริษัทถึงเริ่มนำมาใช้กัน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติแล้วเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ และคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์
ก็จะมีสิทธิ์ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อระดมเงินทุนครั้งแรกจากนักลงทุนทั่วไปได้
เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Initial Public Offering หรือ IPO
ในการทำ IPO นั้น บริษัทจะออกหุ้นจำนวนใหม่เพิ่มเติม และนำมาเสนอขายให้แก่สาธารณชน
โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คอยทำหน้าที่ดำเนินการช่วยเหลือเกี่ยวกับการแปรสภาพบริษัทให้เป็นมหาชน รวมทั้งออกสำรวจความต้องการซื้อ และกำหนดช่วงราคาขายหุ้น
นอกจากนี้ ยังมีผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ซึ่งอาจเป็นรายเดียวกับที่ปรึกษาก็ได้
ทำหน้าที่ขายหุ้นให้แก่นักลงทุนรายใหม่ โดยที่รับประกันว่าบริษัทจะได้เงินทุนตามที่ตกลง
โดยปกติแล้ว ค่าตอบแทนที่ปรึกษาทางการเงิน และ Underwriter จะขึ้นอยู่กับมูลค่าของการ IPO
และแม้หุ้นเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังไม่ได้แปลว่าผู้ถือหุ้นรายเก่าสามารถขายออกมาได้ทันที
เพราะตามข้อบังคับของ IPO มีกฎการห้ามขายหุ้นส่วนเดิม ของกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นผู้ถือหุ้นคนสำคัญ ในระยะเวลา 180 วันหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือเรียกว่าช่วง Silent Period
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา
ในสหรัฐอเมริกา มีวิธีเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อตลาดอีกแบบ ที่ต่างกับ IPO ในหลายด้าน
เรียกว่า “Direct Listing”
ในการทำ Direct Listing นั้น บริษัทจะเสนอขายหุ้นต่อนักลงทุนโดยตรง ไม่ต้องผ่าน Underwriter
ซึ่งมีข้อเสียคือ หากต้องการออกหุ้นระดมทุนจำนวนใหม่เพิ่ม ก็จะมีความเสี่ยงสูงที่อาจขายหุ้นไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีผู้รับประกันการจัดจำหน่าย
ด้วยเหตุนี้ บริษัทส่วนใหญ่จะใช้วิธี Direct Listing โดยนำหุ้นส่วนเดิมที่ถืออยู่ไปเสนอขาย ซึ่งราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาดตั้งแต่ต้น
ในทางกลับกัน ข้อดีของ Direct Listing คือ
1-กำไรต่อหุ้นไม่ลดลง เพราะไม่มีหุ้นใหม่ จึงไม่กระทบต่อมูลค่าเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นเดิม
2-ประหยัดค่าใช้จ่ายจ้าง Underwriter (ผู้จัดจำหน่าย) เหลือเพียงค่าที่ปรึกษาทางการเงิน
3-ผู้ถือหุ้นรายเก่า สามารถขายหุ้นส่วนเดิมได้ทันที โดยไม่ต้องรอ Silent Period
ที่น่าสนใจคือ ในระยะหลัง เริ่มมีหลายบริษัทหันมาใช้วิธี Direct Listing มากขึ้น
โดยหลักการของ Direct Listing นั้น เหมาะกับบริษัทที่ต้องการสภาพคล่องในการขายหุ้น
มากกว่าระดมทุนเพื่อขยายกิจการ

ซึ่งในปัจจุบัน ธุรกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัปเทคโนโลยี ที่ผ่านการระดมทุนนอกตลาดจากกลุ่ม Venture Capital มาหลายรอบ และเติบโตมีขนาดใหญ่จนไม่จำเป็นต้องหาทุนเพิ่มอีก
เมื่อถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนสถาบันเหล่านั้น ก็ต้องการให้นำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหาช่องทางขายหุ้นที่ถือมานาน หรือเรียกว่าการ Exit
ซึ่งข้อเสียของการ IPO นอกจากทำให้สัดส่วนกำไรต่อหุ้นลดลงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายสูง
โดยจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยี ที่ช่วงแรกยังมีความไม่แน่นอนอยู่
ดังนั้น Direct Listing โดยไม่ออกหุ้นใหม่ จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับสตาร์ตอัปหลายแห่ง
แล้วตัวอย่างของบริษัทจริงๆ มีอะไรบ้าง?
เริ่มจากตัวอย่างบริษัทที่เลือกทำ IPO
Snap แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
มูลค่าตลาดวันแรก 743,000 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง 2,600 ล้านบาท
Lyft แพลตฟอร์มเรียกรถ
มูลค่าตลาดวันแรก 743,000 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง 2,000 ล้านบาท
บริษัทที่เลือกทำ Direct Listing
Spotify แพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์
มูลค่าตลาดวันแรก 930,000 ล้านบาท
ขายหุ้นได้ 17% ของจำนวนที่มีอยู่เดิม
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง 1,085 ล้านบาท
Slack แพลตฟอร์มติดต่อสื่อสารในที่ทำงาน
มูลค่าตลาดวันแรก 713,000 ล้านบาท
ขายหุ้นได้ 22% ของจำนวนที่มีอยู่เดิม
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง 680 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ต้นทุนทางการเงินของวิธี Direct Listing ต่ำกว่า IPO อยู่พอสมควร
ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมสตาร์ตอัปที่ระดมทุนกันได้มากแล้วก่อนเข้าตลาด
เราอาจได้เห็นการจดทะเบียนลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้งขึ้น
โดยในปี 2020 นี้ Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พัก ก็ถูกคาดหมายว่าจะเข้าสู่ตลาดด้วยวิธี Direct Listing เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าบริษัทจะเสนอขายหุ้นด้วยวิธีไหน
สิ่งสำคัญสุดที่เราควรใช้ในการตัดสินใจ ว่าจะซื้อหรือไม่
คือการศึกษาให้เข้าใจถึงพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการ
เพราะการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน คงหนีไม่พ้น
การลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจจริงๆ..
----------------------
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.forbes.com/sites/betsyatkins/2019/10/14/direct-listings-an-alternative-to-the-ipo/#682cc2e35cad
-https://edition.cnn.com/2020/01/21/investing/ipo-direct-listing-spac/index.html
-https://www.investopedia.com/investing/difference-between-ipo-and-direct-listing/
-https://www.fenwick.com/publications/Pages/The-Rise-of-Direct-Listings-Understanding-the-Trend-Separating-Fact-from-Fiction.aspx

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon