Big C จาก จิราธิวัฒน์ สู่มือ เจ้าสัวเจริญ วันนี้กำลังกลับเข้าตลาดหุ้น

Big C จาก จิราธิวัฒน์ สู่มือ เจ้าสัวเจริญ วันนี้กำลังกลับเข้าตลาดหุ้น

12 ก.ค. 2023
Big C จาก จิราธิวัฒน์ สู่มือ เจ้าสัวเจริญ วันนี้กำลังกลับเข้าตลาดหุ้น /โดย ลงทุนแมน
Big C เคยจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย และได้ออกจากตลาดหุ้นไป เมื่อ 6 ปีก่อน
แต่ไม่นานมานี้ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ BJC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เตรียมจะนำ Big C กลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง
แล้วเส้นทางของ Big C เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
แรกเริ่มของ Big C นั้น เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มเซ็นทรัล ตระกูลจิราธิวัฒน์ และกลุ่มอิมพีเรียล ตระกูลกิจเลิศไพโรจน์
โดยเปิดสาขาแรกในปี 2537 ตรงถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งถือเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของไทย
ต้องบอกว่า Big C ในช่วงนั้นถือว่าไปได้สวย กลุ่มเซ็นทรัลจึงรีแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตหลาย ๆ แห่งของตนเอง เปลี่ยนมาเป็น Big C ด้วย อย่างเช่น
- ห้างเซ็นทรัลซูเปอร์สโตร์ ของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้ง 2 สาขา ได้เปลี่ยนเป็น Big C วงศ์สว่าง และ Big C ราษฎร์บูรณะ
- หรือช่วงที่กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้าซื้อกิจการของกลุ่มโรบินสันในปี 2539 Save One Supercenter ก็ถูกโอนมาอยู่กับ Big C ซึ่งในเวลาต่อมา กลายเป็น Big C สาขารังสิต
แต่หลังจากนั้น วิกฤติเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 ก็ได้เกิดขึ้น กลุ่มเซ็นทรัลเองก็ต้องเผชิญปัญหาอย่างหนัก จึงต้องยอมขายหุ้น Big C ให้แก่ Casino Group จากฝรั่งเศสให้เข้ามาถือหุ้นใหญ่
ซึ่ง Big C เองก็ได้เติบโต ขยายสาขาไปเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศไทยเอง รวมถึงประเทศเวียดนามอีกด้วย
ในปี 2553 Casino Group ได้เข้าซื้อกิจการ Carrefour ไฮเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่อีกรายในไทย ด้วยมูลค่าการซื้อกิจการในครั้งนั้นกว่า 35,000 ล้านบาท และเปลี่ยน Carrefour ทุกสาขาให้กลายเป็น Big C ทั้งหมด
ส่งผลให้ในตอนนั้น ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทย เหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย คือ Big C และ Tesco Lotus
โดยหลังจาก Big C รวมเข้ากับ Carrefour แล้ว ก็มีสาขาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 71 สาขา เป็น 105 สาขา ตีตื้น Tesco Lotus ซึ่งถือเป็นรายใหญ่สุดในตอนนั้น ที่มีสาขาอยู่ราว 121 สาขา ขึ้นมาได้
มาในปี 2559 เจ้าของ Big C ได้ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง เมื่อ Casino Group ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จึงต้องเปิดประมูล เพื่อขาย Big C ออกไป
สุดท้าย เป็นเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ชนะการประมูล ได้ Big C ในประเทศไทยไป
และได้ทำคำเสนอซื้อ Big C เพื่อถอนออกจากตลาดหุ้นไปในปี 2560 โดยดีลในครั้งนั้นมีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาท
ซึ่งทางกลุ่มเซ็นทรัลเอง ก็ได้มีการตัดขายหุ้น Big C ในไทยทั้งหมดที่เหลือราว 50,000 ล้านบาท ให้แก่ BJC เพื่อนำเงินไปซื้อสิทธิ์บริหาร Big C ในประเทศเวียดนาม ที่ประมูลมาได้จาก Casino Group นั่นเอง
ถือเป็นการปิดฉากธุรกิจ Big C ในไทยของกลุ่มเซ็นทรัล นับตั้งแต่นั้น
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทาง BJC เตรียมนำ Big C เข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ซึ่งคาดการณ์กันว่า จะระดมทุนได้ราว 18,600 ล้านบาท
โดยธุรกิจ Big C นั้นจะอยู่ภายใต้ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC)
ซึ่งนอกจากเป็นเจ้าของ Big C ที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเจ้าของ Big C ในประเทศลาว และกัมพูชา อีกด้วย
โดยรูปแบบสาขาของ Big C จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ
- ไฮเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 154 สาขา
- ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 47 สาขา
- ร้านค้าขนาดเล็ก (Mini Big C) จำนวน 1,430 สาขา
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ และตลาด Open-Air รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ เช่น ร้านกาแฟวาวี, Asia Books, ร้านขายยา Pure และ SiRi Pharma อีกด้วย
แล้วผลประกอบการของ Big C ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ?
ปี 2564 รายได้ 111,107 ล้านบาท กำไร 7,333 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 113,573 ล้านบาท กำไร 6,757 ล้านบาท
ถ้าให้สรุปเส้นทางของ Big C ง่าย ๆ ก็คือ
- ก่อตั้งโดยกลุ่มเซ็นทรัล
- กลุ่มทุนต่างชาติ Casino Group เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
- เข้าตลาดหุ้นไทยครั้งแรก
- เจ้าสัวเจริญ ซื้อต่อมา รวมเข้ากับ BJC และนำออกจากตลาดหุ้นไป
- และมาวันนี้ Big C กำลังจะเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง
ซึ่งก็เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญเหมือนกัน ที่ “C” เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรก ของทั้ง Central
Chirathivat ผู้ก่อตั้งเซ็นทรัล
Casino กลุ่มทุนต่างชาติ
และ Charoen ชื่อของคุณเจริญ เจ้าของ BJC ที่เป็นเจ้าของ Big C ในปัจจุบัน..
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2565, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
-https://corporate.bigc.co.th/about
-http://siamchart.com/stock/SECTOR
-https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B4%
-https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1036813
-https://mgronline.com/columnist/detail/9630000007743
-https://www.kaohoon.com/breakingnews/88269
-https://www.kaohoon.com/column/569967
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.