สรุปหุ้น TOA ที่กำลังจะ IPO

สรุปหุ้น TOA ที่กำลังจะ IPO

26 ส.ค. 2017
สีทนได้
คำโฆษณานี้ทุกคนคงเคยได้ยิน
โฆษณานี้เป็นของสี TOA
และบริษัทนี้กำลังจะเข้าตลาดหุ้น
มีการคาดหมายกันว่าดีลนี้น่าจะเป็นหนึ่งในดีลของ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้
เริ่มแรกนั้น TOA เป็นแบรนด์สีจากประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อเรียกว่า “โต-อะ” (แปลว่า เอเชียตะวันออก) หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ทีโอเอ (TOA) จุดเริ่มต้นของ TOA ต้องย้อนไปในปี พ.ศ. 2507 ถ้านับจนถึงวันนี้ก็กว่า 53 ปีแล้วที่บริษัทอยู่ในตลาดสีบ้านเรามา
TOA เริ่มขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศโดยเข้าสู่เวียดนามเป็นประเทศแรก นับถึงจนวันนี้ บริษัทยังมีโรงงานตั้งอยู่ต่างประเทศอีก 7 ประเทศคือ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์
ในตลาดสีบ้านเรา เชื่อว่าหลายๆ คนคงคุ้นหู คุ้นตากับสียี่ห้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สีทีโอเอ (TOA) ,สีดูลักซ์ (Dulux), สีเบเยอร์ (Beger) และสีโจตัน (Jotun)
แล้วส่วนใครเป็นผู้นำตลาดสีในบ้านเรา?
TOA มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทาสีอาคารในประเทศไทยอยู่ที่ 48.7% สูงสุดเป็นลำดับที่ 1
ตามมาด้วย Dulux 13.8% Beger 13.3% Jotun 8.1% และ Nippon Paint 5.2%
ซึ่งจะเห็นว่าส่วนแบ่งการตลาดของ TOA ทิ้งห่างลำดับที่ 2 อย่างชัดเจน
ในส่วนของตลาดระดับภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศแถบอาเซียนที่ตลาดมีมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านบาท TOA มีส่วนแบ่งเป็นลำดับที่ 2 ของตลาดสีทาอาคาร โดยรายใหญ่ 4 ลำดับแรกคือ Nippon Paint (14%), TOA (13%), Dulux (13%), Jotun (7%)
สี TOA ขายผ่านช่องทางไหนมากสุด?
ช่องทางการจำหน่ายของบริษัทมี 3 ช่องทาง คือ ผ่านผู้ค้าปลีกมากสุดถึง 76% ของรายได้ ที่เหลือคือ ผ่านธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)
ปัจจุบัน TOA จำหน่ายผ่านผู้ค้าปลีกในประเทศไทย 6,080 ราย และในเวียดนาม 787 ราย
สำหรับช่องทาง Modern Trade ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 13% ของรายได้รวม TOA ได้จำหน่ายผ่านทั้ง โฮมโปร ไทวัสดุ โฮมเวิร์ค โกลบอลเฮ้าส์ บุญถาวร และเมกาโฮม โดยช่องทางดังกล่าวจะเติบโตขึ้นตามการขยายสาขาของ Modern Trade
ความน่าสนใจอีกอย่างของTOA คือ การมีเครื่องผสมสีอัตโนมัติ (Auto Tinting Machine) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะทำให้การค้าขายสีเปลี่ยน
เมื่อก่อนร้านขายสีร้านหนึ่ง ร้านค้าจะต้องสต๊อคของทั้งหมดทุกเฉดสี
เครื่องผสมสีทำให้ลูกค้าสามารถออกแบบสีได้ตามความพอใจซึ่งสามารถผสมเสร็จอย่างรวดเร็วภายใน 3 นาที
ตลาดในประเทศถือเป็นตลาดหลักของ TOA เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้กว่า 87% ในขณะที่ 13% เป็นรายได้จากต่างประเทศ
ในช่วงระหว่างปี 2557-2559 รายได้บริษัทเท่ากับ 16,499 ล้านบาท 16,753 พันล้านบาท และ 16,297 ล้านบาท แทบทรงตัวซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
แต่บริษัทกลับสามารถทำกำไรสุทธิในช่วงระหว่างปี 2557-2559 เท่ากับ 1,321 ล้านบาท 2,116 ล้านบาทและ 2,507 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี
เนื่องจาก TOA สามารถเปลี่ยนระบบการผลิตแบบดั้งเดิมมาสู่ระบบอัตโนมัติที่มีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้ลดการสูญเสียวัตถุดิบ และต้นทุนค่าแรงที่ลดลงเนื่องจากความจำเป็นในการใช้พนักงานลดลง
ถ้าเทียบอัตรากำไรสุทธิ กับคู่แข่งในประเทศที่เป็นเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในปี 2559 อัตรากำไรสุทธิ ของ TOA เท่ากับ 15.4% ในขณะที่ Dulux และ Beger อยู่ที่ 6.8% และ 3.2% ตามลำดับ พูดง่ายๆ คือ ขายสี 100 บาท TOA กำไร 15.4 บาทในขณะที่คู่แข่งจะได้เพียง 6.8 บาทและ 3.2 บาท เท่านั้นเอง
สรุปแล้วรายได้ในประเทศไม่โต และกำไรโตได้จากการบีบต้นทุน ซึ่งไม่รู้ว่าจะบีบได้อีกหรือไม่ในอนาคต
และสัดส่วนตลาดต่างประเทศยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับยอดขายในประเทศไทย..
Tag: TOA
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.