JPARK ธุรกิจให้เช่าที่จอดรถ กำลังจะ IPO เข้าตลาดหุ้น

JPARK ธุรกิจให้เช่าที่จอดรถ กำลังจะ IPO เข้าตลาดหุ้น

10 ก.ย. 2023
JPARK ธุรกิจให้เช่าที่จอดรถ กำลังจะ IPO เข้าตลาดหุ้น /โดย ลงทุนแมน
พูดถึง “ที่จอดรถ” หนึ่งในปัญหาที่น่าปวดหัว สำหรับคนขับรถยนต์ในกรุงเทพฯ
รู้ไหมว่า มีบริษัทหนึ่งที่ได้ไอเดียจากปัญหานี้ มาต่อยอดเป็นธุรกิจให้เช่าพื้นที่จอดรถ จนเติบโตถึงขนาดกำลังจะเข้าตลาดหุ้นได้
โดยบริษัทนี้ชื่อว่า “JPARK”
แล้วเรื่องของ JPARK น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
JPARK หรือ บมจ.เจนก้องไกล ก่อตั้งขึ้นในปี 2541
โดยคุณสันติพล เจนวัฒนไพศาล อดีตวิศวกรขนส่ง
ช่วงแรก บริษัททำธุรกิจให้บริการออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมในการลงทุนโครงการก่อสร้างสนามบินในพื้นที่ต่างจังหวัด
ต่อมา คุณสันติพล สังเกตว่าปัญหาส่วนใหญ่ของคนขับรถยนต์ในกรุงเทพฯ คือเรื่องที่จอดรถ ไม่ว่าจะเป็น
- หาที่จอดรถยาก
- ที่จอดรถไม่ปลอดภัย
- ของใช้ส่วนตัวในรถถูกขโมย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ในปี 2545 ทำให้เขาเกิดไอเดียทำธุรกิจบริการที่จอดรถขึ้นมา จึงได้เริ่มต้นเข้าไปเจรจากับเจ้าของตลาดบริเวณตลาดสามย่าน บนถนนพญาไท
โดยเสนอตัวเข้ารับบริหารพื้นที่จอดรถของตลาด และเก็บค่าบริการที่จอดรถ
ซึ่งโมเดลนี้ถือว่าไปได้สวย ทำให้คุณสันติพลเริ่มขยายพื้นที่บริหารที่จอดรถ ไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ตามมา
ซึ่งพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่ จะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
จนปัจจุบัน บริษัทมีช่องจอดภายใต้การดูแลกว่า 25,000 ช่องจอด
ตัวอย่างพื้นที่จอดรถที่ JPARK ให้บริการ และรับจ้างบริการในตอนนี้ ก็อย่างเช่น
- ลานจอดรถสยามสแควร์
- ลานจอดรถศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
- ลานจอดรถในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ลานจอดรถโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
- ลานจอดรถศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- ลานจอดรถในสนามบินขอนแก่น และสนามบินอุบลราชธานี
ผลประกอบการที่ผ่านมา
ปี 2564 รายได้ 243 ล้านบาท ขาดทุน 11 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 455 ล้านบาท กำไร 55 ล้านบาท
ซึ่งรายได้ทุก 100 บาท จะเป็นต้นทุน 75 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่น 13 บาท และเหลือเป็นกำไร 12 บาท
ทั้งนี้ การขาดทุนในปี 2564 นั้น เป็นผลจากการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย ในส่วนของค่าตัดจำหน่ายสิทธิการใช้สินทรัพย์ เนื่องจากบริษัทมีสัญญาเช่าพื้นที่และอาคารจอดรถเข้ามาใหม่
ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของ JPARK จะแบ่งเป็น
- 61% เป็นการให้บริการที่จอดรถ
- 18% เป็นธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ
- 15% เป็นธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ
- 6% อื่น ๆ โดยจะเป็นรายได้ที่เกิดจากการแบ่งพื้นที่จอดรถบางส่วนที่เหลือ ให้บุคคลภายนอกเช่าเพื่อเปิดร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองว่า ปัญหาเรื่องที่จอดรถในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ทำให้ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน
หากผู้ให้เช่าพื้นที่มีการยกเลิก หรือไม่ให้บริษัทต่ออายุสัญญาเช่าพื้นที่ หรือแม้แต่การปิดเมือง อันเกิดจากความไม่สงบเรียบร้อยหรือโรคระบาด
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก็ต้องติดตามกันต่อว่า หลังจากบริษัทเข้าตลาดหุ้นแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ธุรกิจบริหารพื้นที่ปล่อยเช่าที่จอดรถจะเติบโตมากแค่ไหนหลังจากนี้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ปัจจุบัน JPARK กำลังจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น
โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกนำไปใช้ เพื่อลงทุนโครงการอาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.jenparking.com/about
-https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=527440&lang=th
-https://www.thebangkokinsight.com/news/stock-finance/1107160/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.