ผู้สนับสนุน.. จาก “หนองหว้า” ของไทย ถึง “ผิงกู่” ของจีน ต้นแบบจาก “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาสังคมโลก

ผู้สนับสนุน.. จาก “หนองหว้า” ของไทย ถึง “ผิงกู่” ของจีน ต้นแบบจาก “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาสังคมโลก

29 ต.ค. 2018
ผู้สนับสนุน..
จาก “หนองหว้า” ของไทย ถึง “ผิงกู่” ของจีน
ต้นแบบจาก “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาสังคมโลก
โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี ที่หมู่บ้านซีฟานเกอจวง (Xifan Gezhuang) ตำบลยู่โค (Yukou) เขตผิงกู่ (Pinggu) ประเทศจีน ที่ เครือซีพี โดยประธานอาวุโส คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555
ปัจจุบันโครงการนี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลจีน ทั้งในแง่ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร อาหารปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อม
ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนในประเทศจีนด้วย “ศาสตร์พระราชา” ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และ “โมเดล 4 ประสาน” ที่เป็นการร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่ายให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ระหว่าง รัฐบาล, เกษตรกร, สถาบันการเงิน และบริษัทเอกชน
แนวคิดนี้ ไม่เพียงเป็นต้นแบบให้นานาประเทศมาขอศึกษาดูงาน แต่ยังเป็นรายงานกรณีศึกษาหลายฉบับของ Harvard Business School มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตร
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2560 Harvard Business School ก็ได้เชิญคุณธนินท์และผู้บริหารเครือซีพีไปบรรยายให้นักศึกษาฟังเกี่ยวกับโครงการผิงกู่ ภายใต้หัวข้อ “Rapid Development of China & CP Group’s Strategy”
ถ้าพูดถึงโครงการผิงกู่ ก็ต้องย้อนกลับไปถึงวันแรกที่ซีพีเริ่มลงทุนในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ.2521
ตามนโยบายเปิดประเทศของ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนในเวลานั้น ได้เชิญคุณธนินท์ให้ช่วยเสนอแนวคิดสำหรับโครงการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้าง ชิงหนงซุน (Xing Nong Cun)” หรือ “หมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัย” หรือ “หมู่บ้านใหม่ (New Village)”
ซึ่งเวลานั้นเอง คุณธนินท์เพิ่งเริ่มดำเนินงาน “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามโครงการปฏิรูปที่ดินของภาครัฐเพื่อการเกษตรกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยใช้ “ศาสตร์พระราชา” ในการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและให้คนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีตามสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติและภูมิหลังทางเศรษฐกิจ-สังคม
โครงการ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า คืออะไร?
โครงการนี้ไม่ใช่การนำที่ดินมาแจกเกษตรกร แต่เป็นการปฏิรูปปรับปรุงที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตและมีรายได้เลี้ยงตัวอย่างต่อเนื่อง
ในตอนแรก พื้นที่โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้ากว่าพันไร่ ล้วนเป็นดินทรายเสื่อมโทรม ชาวบ้านมีทางเลือกแค่การปลูกมันสำปะหลังและยังต้องรอให้ฝนฟ้าเป็นใจช่วยให้เติบโต ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่จะสร้างรายได้ให้มากกว่า
คุณธนินท์จึงเสนอวิธีดำเนินงานโครงการฯ ในรูปแบบ 4 ประสาน เพื่อพัฒนาการเกษตรครบวงจร โดยซีพีดำเนินการให้ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีการผลิต ไปจนถึงการบริหารจัดการด้านการตลาด และกำไร
เริ่มจากการประสานงานกับส่วนราชการอำเภอพนมสารคาร เพื่อรวบรวมที่ดินแห้งแล้ง 1,253 ไร่ มาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน แล้วคัดเลือกเกษตรกร 50 รายเข้าร่วมโครงการ และกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพจำนวน 18 ล้านบาท โดยมีเครือซีพีเป็นผู้ค้ำประกัน
เงินกู้ดังกล่าว ถูกนำมาใช้จ่ายเป็นค่าที่ดิน ค่าสร้างบ้านพักสำหรับครอบครัวเกษตรกร ค่าสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกร ค่าระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในโครงการ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงหมู
เกษตรกรทั้ง 50 คนในโครงการ ได้รับที่ดินจัดสรรคนละ 24 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โรงเรือนเลี้ยงหมูและบ้านพัก 4 ไร่ และเป็นสวนเกษตร 20 ไร่
จากนั้นเครือซีพีนำหมูแม่พันธ์ 30 ตัวและหมูพ่อพันธ์ 2 ตัวมาให้เกษตรกรเลี้ยง และเมื่อผลิตลูกหมู ที่มีอายุ 8 สัปดาห์ ก็จะนำมาขายคืนให้แก่โครงการฯ ในราคาประกันตัวละไม่ต่ำกว่า 70 บาท ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะผลิตลูกหมูได้อย่างน้อยปีละ 480 ตัว
ซึ่งหมูจากโครงการฯ ถือเป็นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์หมูเกรดพรีเมียมของเครือซีพี ที่ส่งขายในห้างใหญ่และทั่วโลก
นอกจากนั้น เกษตรกรยังมีอาชีพเสริมเป็นการทำสวน เช่น สวนมะม่วง หรือเพาะเห็ดขาย เพื่อช่วยสร้างรายได้อีกทาง
ภายในเวลา 10 ปี กลุ่มเกษตรกรทั้ง 50 คน สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ทั้งหมด ทำให้แต่ละคนได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 24 ไร่ซึ่งรวมถึงบ้านพัก และโรงเรือนเลี้ยงหมูโดยสมบูรณ์
ถึงตรงนี้ เครือซีพี จึงได้ถอนตัวจากการบริหาร ส่วนเกษตรกรก็รวมตัวกันจัดตั้งบริษัท “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” จำกัด ร่วมกันถือหุ้นคนละ 200 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 100 บาท ตั้งเป้าหมายว่า บริษัทต้องอยู่ได้และสมาชิกเกษตรกรต้องอยู่ดี กินดี
มาถึงปัจจุบัน เกษตรกรที่ร่วมโครงการมาตั้งแต่ต้นหลายราย ยังคงมุ่งพัฒนาฟาร์มหมูและทำอาชีพเสริมอื่นเช่นทำสวนมะม่วง หรือ เลี้ยงไก่ชน และบางรายก็ยังคงอยู่ในชุมชนแต่เลิกเลี้ยงหมู แล้วหันมาทำสวนเป็นอาชีพหลัก เช่น สวนยางนา เป็นต้น โดยมีเพียง 5 รายที่ขายทรัพย์สินให้คนนอกแล้วย้ายออกไปทำอาชีพอื่น
ซึ่งบริษัทหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ยังคงสั่งซื้อพันธ์หมู อาหารหมู ยา และวัคซีนป้องกันโรคจากเครือซีพีมาขายให้เกษตรกร พร้อมกับรับซื้อลูกหมูจากเกษตรกรในราคาประกันหรือสูงกว่าแล้วขายกลับคืนให้เครือซีพีส่วนหนึ่ง ขายให้ลูกค้าทั่วไปส่วนหนึ่ง เรียกได้ว่าบริษัทเป็นเหมือนตัวแทนเกษตรกรรายย่อย
คุณภักดี ไทยสยาม ประธานกรรมการบริษัทหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าคนปัจจุบัน กล่าวไว้ว่า
“โครงการนี้สำเร็จได้เพราะความร่วมมือของเกษตรกรทุกคน ที่ช่วยกันพลิกฟื้นผืนดิน นำมูลหมูมาใช้ปรับปรุงบำรุงดิน จนดินที่ปลูกอะไรไม่ขึ้นกลายเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ หว่านเมล็ดพันธ์อะไรลงไปก็งอกงาม เดี๋ยวนี้ ในพื้นที่ส่วนกลางเรามีกระทั่งป่านิเวศและสวนสมุนไพรซึ่งกำลังจะพัฒนาต่อไปในแง่ธุรกิจของบริษัท”
ปัจจุบัน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า นอกจากจะกลายเป็นชุมชนต้นแบบให้ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้ามาเรียนรู้เพื่อการพัฒนาแล้ว ยังเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่เคยได้รางวัล 5 ส สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน สร้างวินัยระดับประเทศ จากงานประกวดของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อปี พ.ศ. 2555
นี่คือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ที่คุณธนินท์และเครือซีพีทำมายาวนานหลายทศวรรษตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” แล้วนำไปต่อยอดจนมีชื่อเสียงระดับโลกกับโครงการ “ไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี”
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.