MaxValu ซูเปอร์มาร์เก็ต สัญชาติญี่ปุ่น ที่กำลังเจอความท้าทาย ในไทย

MaxValu ซูเปอร์มาร์เก็ต สัญชาติญี่ปุ่น ที่กำลังเจอความท้าทาย ในไทย

MaxValu ซูเปอร์มาร์เก็ต สัญชาติญี่ปุ่น ที่กำลังเจอความท้าทาย ในไทย /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่าแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างชาติ ที่คนไทยคุ้นเคย มีชื่อไหนบ้าง
ชื่อของ MaxValu (แม็กซ์แวลู) น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น
ตั้งแต่ MaxValu มาเปิดที่ไทย ก็ได้รับความสนใจ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ภาพของ MaxValu ในวันนี้ อาจไม่ได้สดใสเหมือนวันวานเท่าไรนัก
แล้ว MaxValu กำลังเจอความท้าทายอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

MaxValu เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต สัญชาติญี่ปุ่น บริหารงานโดย AEON Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการเงิน รวมทั้งมีธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบของซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ MaxValu กว่า 600 สาขา เป็นหนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีจำนวนสาขา และชื่อเสียงมากสุดในญี่ปุ่น
และ AEON Group ก็มีธุรกิจศูนย์การค้ากว่า 200 แห่ง ในญี่ปุ่นด้วย
นอกจากในประเทศญี่ปุ่นแล้ว AEON Group มีธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ในประเทศอื่น ๆ อีก ภายใต้แบรนด์ MaxValu เช่น มาเลเซีย จีน และไทย
สำหรับประเทศไทย MaxValu เข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2527 หรือเมื่อ 41 ปีก่อน ในชื่อ บริษัท สยามจัสโก้ จำกัด โดยชื่อเดิมของ MaxValu ชื่อว่า ห้างจัสโก้ (JUSCO)
โดยคำว่า JUSCO ก็มาจากคำว่า Japan United Stores Company
ห้างจัสโก้สาขาแรก เปิดที่ถนนรัชดาภิเษก
และต้องบอกว่า ในช่วงแรกนั้น ห้างจัสโก้ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนต้องขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ห้างจัสโก้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากมีหนี้สินสกุลเงินตราต่างประเทศในระดับสูง ทำให้ห้างจัสโก้ จำเป็นต้องทยอยปิดสาขาที่ขาดทุนลงไปเรื่อย ๆ เหลือเพียงไม่กี่แห่งในเวลานั้น
ต่อมาในปี 2550 AEON Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของห้างจัสโก้ ยังคงมองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ทำให้ยังคงให้เงินช่วยเหลือห้างจัสโก้ และต่อมาได้รีแบรนด์ห้างจัสโก้ มาเป็น MaxValu และเปลี่ยนชื่อบริษัท สยามจัสโก้ จำกัด มาเป็น บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด อย่างในปัจจุบัน
ซึ่งได้เปิด MaxValu Supermarket สาขาต้นแบบสาขาแรก ที่ถนนนวมินทร์
เน้นขายสินค้าในชีวิตประจำวัน สินค้าพร้อมทาน และกลุ่มสินค้าอาหารสด ที่มีความหลากหลาย และได้คัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรการด้านสุขอนามัย ในระดับที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น
จึงได้รับความนิยมจากคนไทย ที่ชื่นชอบสินค้าญี่ปุ่น รวมถึงคนญี่ปุ่น ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
จากนั้นก็มีการขยายสาขา MaxValu Supermarket มาเรื่อย ๆ จนตอนนี้มีทั้งหมด 35 สาขา กระจายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งก็ยังมีจำนวนสาขาไม่มาก เมื่อเทียบกับ Tops Supermarket ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต รายใหญ่สุดในประเทศไทย ที่มีเกือบ 200 สาขา (ไม่รวมสาขา Tops Daily)
นอกจากนี้ MaxValu ยังขยายร้านในรูปแบบโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 300 ตร.ม. ภายใต้แบรนด์ “MaxValu ทันใจ” เน้นเปิดในทำเลชุมชน โดยมีสินค้ากลุ่มอาหาร ทั้งอาหารพร้อมทานและอาหารสด เป็นสินค้าหลัก
ซึ่งได้เพิ่มจำนวนสาขา จน MaxValu ทันใจ มีกว่า 50 สาขาในไทย
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา MaxValu ทันใจ ก็ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องทยอยปิดสาขาปีละ 1-2 สาขา แต่ก็ไม่พอจะหยุดเลือดที่ไหล
กระทั่งปี 2563 บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ตัดสินใจปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร รวดเดียวกว่า 20 สาขา แล้วหันมาโฟกัสที่ MaxValu Supermarket เช่นเดิม
แล้วที่ผ่านมา ผลประกอบการของ MaxValu ในไทยเป็นอย่างไร ?
บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต MaxValu
(ปิดรอบบัญชี สิ้นเดือน มี.ค. ของทุกปี)
ปี 2564 รายได้ 6,133 ล้านบาท กำไร 40 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 5,690 ล้านบาท กำไร 105 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 4,943 ล้านบาท ขาดทุน 42 ล้านบาท
ปี 2567 รายได้ 4,441 ล้านบาท ขาดทุน 186 ล้านบาท
ต้องบอกว่า MaxValu ที่ไทย กำลังเจอกับความท้าทายไม่น้อย สะท้อนจากรายได้ที่ลดลงทุกปี และพลิกจากกำไร มาเป็นขาดทุน
ซึ่งรายได้ที่ลดลง ส่วนหนึ่งก็มาจากการปิดสาขาก่อนหน้านี้
และอีกส่วนหนึ่งคือ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในสมรภูมิค้าปลีก ที่ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเยอะขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อเจ้าตลาดเดิมอย่าง 7-Eleven ที่ยังขยายสาขาอยู่เรื่อย ๆ และยึดทำเลศักยภาพไป
คู่แข่งอย่าง Tops Supermarket ที่เข้าใจตลาดไทยเป็นอย่างดี
ร้านทางเลือกอย่าง CJ MORE และ CJ Supermarket ที่รุกยึดพื้นที่ย่านชุมชน
หรือแม้แต่ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มดิลิเวอรี ที่ตอบโจทย์ความสะดวกของคนยุคใหม่ อยากได้อะไร ก็สั่งผ่านปลายนิ้ว
ต่างก็ทำให้ MaxValu ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขัน และถูกแย่งลูกค้าไปเรื่อย ๆ
แต่ก็ต้องยอมรับว่า แม้ผลประกอบการจะดูไม่สดใส ก็ยังมีอีกหลายคน ที่ชื่นชอบ และเลือกเข้า MaxValu มากกว่าร้านอื่น ๆ ซึ่งพวกเขา ก็คงไม่อยากเห็นภาพ MaxValu สาขาใกล้บ้าน ทยอยถูกปิดไป
ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่า MaxValu ในประเทศไทย จะปรับกลยุทธ์อะไร เพื่อต่อกรกับคู่แข่ง และสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง..
อีกเรื่องที่หลายคนอาจสงสัยคือ แล้ว บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวข้องอะไรกับบริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย
คำตอบคือ ทั้งคู่เป็นบริษัทในเครือ AEON Group เหมือนกัน
สำหรับ AEONTS ถูกก่อตั้งโดยบริษัท อิออน ไฟแนนเชียล เซอร์วิส จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งธุรกิจหลักของ AEONTS คือ การให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย (Retail Finance) ประกอบไปด้วยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
โดยที่ปัจจุบัน AEONTS ถือหุ้น 3.8% ในบริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด ด้วยเช่นกัน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า AEON Group เป็นหนึ่งในบริษัทค้าปลีกที่มีอายุยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งช่วงแรกธุรกิจของ AEON Group เป็นการค้าขายผ้ากิโมโนและของใช้ทั่วไป
ก่อนที่จะกลายมาเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจค้าปลีก และให้บริการทางการเงิน รายใหญ่ของญี่ปุ่นในตอนนี้
โดยที่ AEON Group ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2301 หรือเมื่อ 267 ปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นตรงกับในสมัยอยุธยาเลยทีเดียว..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon