Xiaomi เปลี่ยนกลยุทธ์ ขายของพรีเมียม รุกธุรกิจรถ EV หุ้น +290% ใน 1 ปี

Xiaomi เปลี่ยนกลยุทธ์ ขายของพรีเมียม รุกธุรกิจรถ EV หุ้น +290% ใน 1 ปี

Xiaomi เปลี่ยนกลยุทธ์ ขายของพรีเมียม รุกธุรกิจรถ EV หุ้น +290% ใน 1 ปี /โดย ลงทุนแมน
พูดถึงแบรนด์ “Xiaomi” หลายคนน่าจะนึกถึงการขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ที่มีคุณภาพดี แต่ราคาค่อนข้างถูก
แต่รู้ไหมว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น Xiaomi ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 290% จากผลของการเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นขายของในตลาดพรีเมียมมากขึ้น
ไล่ไปตั้งแต่สมาร์ตโฟน หรือกระทั่งสินค้าเรือธงใหม่อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า
แล้วเรื่องนี้มีเบื้องหลังที่น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Xiaomi ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดยคุณ Lei Jun ซึ่งเป็นซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 7 คน
บริษัทเริ่มต้นจากการขายสมาร์ตโฟน ที่ชูจุดเด่นด้านดิไซน์เรียบง่าย มีคุณภาพดี แต่ราคาถูกเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จึงทำให้ขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้น Xiaomi ก็ขยายธุรกิจไปสู่สินค้าเทคโนโลยีอีกมากมาย จนพัฒนากลายเป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่ง และทำยอดขายได้หลักล้านล้านบาท ในแต่ละปี
แต่ผ่านมาถึงช่วงปี 2021 คุณ Lei Jun ก็ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางบริษัทครั้งใหญ่ เพื่อสร้างการเติบโตด้วยโมเดลธุรกิจ “Premiumization”
ซึ่งคือการก้าวเข้าไปในตลาดสินค้าราคาแพง โดยจะขยับคุณสมบัติสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นไปแข่งกับผู้เล่นอย่าง Samsung Galaxy หรือ iPhone
ตัวอย่างเช่น สมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุด Xiaomi 15 Ultra ใช้ชิปตัวท็อป Snapdragon 8 ของ Qualcomm และกล้องมีความละเอียดถึง 200 ล้านพิกเซล เหมือนกับ Samsung Galaxy S25 Ultra
แต่ถ้าเทียบราคารุ่นที่พื้นที่ความจุข้อมูล 512 GB เท่ากัน
- Xiaomi 15 Ultra ราคา 43,000 บาท
- Samsung Galaxy S25 Ultra ราคา 49,000 บาท
- iPhone 16 Pro Max ราคา 57,000 บาท
ส่งผลให้สมาร์ตโฟนของ Xiaomi ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคตลาดพรีเมียมได้ไม่น้อย ซึ่งช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์คือ ปัจจุบัน Xiaomi มีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนอยู่ที่ 13.8% สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นรองเพียง Samsung และ Apple เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่คุณ Lei Jun ก็มองเห็นความเสี่ยงที่น่ากังวลใจ
เพราะก่อนหน้านี้ Xiaomi เคยถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำอยู่พักหนึ่ง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก
อาจทำให้สมาร์ตโฟนไม่สามารถใช้ชิปหรือแอปพลิเคชันของสหรัฐฯ ได้
เขาเลยมองหาธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New Growth ให้กับ Xiaomi ตัวเลือกนั้นคือ “รถยนต์ไฟฟ้า EV”
โดยประกาศกลยุทธ์ Human x Car x Home ที่มุ่งเน้นการเชื่อมต่อสินค้ารถยนต์อัจฉริยะเข้ากับ Ecosystem ของตัวเองอย่างชัดเจน
ซึ่งบริษัทได้ทุ่มเงินลงทุนกว่า 335,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถ EV รวมทั้งเดินหน้าเจรจากับ CATL ให้มาเป็นพาร์ตเนอร์ในการผลิตแบตเตอรี่อีกด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากรถ EV ถือเป็นกลุ่มสินค้าราคาแพง Xiaomi จึงใช้โมเดลธุรกิจ Premiumization เช่นเดียวกัน
โดยเปิดตัวรถ EV รุ่นแรกชื่อว่า Xiaomi SU7 วางจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2024
ซึ่งบริษัทระบุว่า มีคุณภาพทัดเทียมกับผู้เล่นชั้นนำ เช่น อัตราการเร่งสูงกว่า Tesla หรือรถยนต์ไฟฟ้าของ Porsche เสียอีก
แต่ Xiaomi ก็ตั้งราคาขายเริ่มต้นแค่ราว 1 ล้านบาท ถูกกว่าค่ายอื่น ๆ ในรุ่นที่คุณสมบัติใกล้เคียงกันอยู่พอสมควร
รถ Xiaomi SU7 จึงได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก มีคำสั่งซื้อเข้ามาจนสามารถผลิตได้ครบ 100,000 คัน ภายในเวลา 230 วัน ซึ่งนับเป็นแบรนด์แรกที่ทำได้เร็วขนาดนี้
โดยในปี 2024 รถ Xiaomi SU7 มียอดจองถึง 248,000 คัน และส่งมอบไปแล้วกว่า 136,854 คัน
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมียอดขายสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาดรถ EV ประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว แถมยอดขายยังเหนือกว่าคู่แข่งต่างชาติอย่าง Tesla ในบางเดือนอีกด้วย
ซึ่งปัจจุบัน Xiaomi SU7 ยังคงมียอดจองล่วงหน้าเรื่อย ๆ โดยต้องรอการผลิตนานถึง 35-38 สัปดาห์เลยทีเดียว
ทำให้บริษัทมั่นใจว่า จะสามารถทำยอดขายรถ EV ได้เพิ่มขึ้นเป็น 350,000 คันในปี 2025 นี้ จากเดิมตั้งเป้าที่ 300,000 คัน
พร้อมกับจะเริ่มส่งออกรถยนต์ไปขายยังต่างประเทศ ในปี 2027
จากความสำเร็จดังกล่าว Xiaomi จึงได้วางขายรถพรีเมียมอีกรุ่นหนึ่งคือ Xiaomi SU7 Ultra เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในราคาประมาณ 3.7 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังเตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ Xiaomi YU7 ที่มีประสิทธิภาพสูงและระยะขับขี่ไกลกว่าเดิม ในช่วงกลางปีนี้ รวมทั้งจะขยายไปในตลาดต่างประเทศภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนไปในผลประกอบการของบริษัทอย่างไรบ้าง ?
มาลองดูงบการเงินของ Xiaomi ล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2024
- รายได้ 506,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.8%
- กำไร 41,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.4%
ซึ่งถ้าเจาะลึกไปจะพบว่า ธุรกิจสมาร์ตโฟนนั้น
Xiaomi สามารถจัดส่งสมาร์ตโฟนได้ 42.7 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 5.3%
สร้างยอดขายกว่า 238,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.0% เป็นผลจากการขยายฐานลูกค้าไปในตลาดพรีเมียมนั่นเอง
ส่วนธุรกิจรถ EV
มีรายได้แล้วถึง 75,700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้ทั้งหมด
แม้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ธุรกิจรถ EV จะยังขาดทุนอยู่ แต่ก็ส่งสัญญาณเชิงบวก โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้อยู่ที่ 20.4%
ซึ่งถ้าสามารถบริหารต้นทุนและขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้น ก็คงเป็นความหวังอันน่าตื่นเต้นในการทำกำไรให้กับบริษัท
พออาณาจักร Xiaomi ครอบคลุมตั้งแต่สมาร์ตโฟน สินค้าเทคโนโลยี จนกระทั่งรถ EV ก็คงจุดประกายการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในชีวิตประจำวันกับเจ้าตลาดเดิมอย่าง Samsung, Apple และ Tesla
ซึ่งดูเหมือนว่า นักลงทุนค่อนข้างมั่นใจในอนาคตของ Xiaomi อยู่ไม่น้อย และไล่ซื้อหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนมูลค่าตลาดพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 6.3 ล้านล้านบาท
หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 290% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อ 1 ปีที่แล้ว..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon