รู้จัก Virtual Bank จุดเปลี่ยนเกมธนาคารไทย

รู้จัก Virtual Bank จุดเปลี่ยนเกมธนาคารไทย

รู้จัก Virtual Bank จุดเปลี่ยนเกมธนาคารไทย / โดย ลงทุนแมน
Virtual Bank หรือ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ที่จะเกิดในเมืองไทยเร็ว ๆ นี้
ต้องบอกว่าเป็น จุดเปลี่ยนเกมธุรกิจธนาคาร อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โดยผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Virtual Bank จะไม่มีสาขา ทุก ๆ บริการและผลิตภัณฑ์การเงินจะขับเคลื่อนผ่านทางออนไลน์
ถือเป็นการทำลายต้นทุนกายภาพ ทั้งสาขา, พนักงานสาขา, ตู้ ATM ให้กลายเป็น “ศูนย์” ในพริบตา ที่มาพร้อมความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูงกว่าธนาคารรูปแบบเก่า
และยังเกิดการรวมตัวของธุรกิจต่างอุตสาหกรรมถึง 5 กลุ่ม ที่ต้องการจัดตั้ง Virtual Bank
เมื่อมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจธนาคารจะเกิดการแข่งขันดุเดือดกว่าในอดีตที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมใดก็ตามที่เป็น Red Ocean เข้มข้น
คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ “ลูกค้า”
คำถามที่ตามมาก็คือ ยังเหลือพื้นที่ว่างมากแค่ไหนให้ Virtual Bank ได้สอดแทรกเข้ามาแข่งขัน
เมื่อวันนี้ประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์รวมกันเกือบ 30 ธนาคาร
การเกิดขึ้นของ Virtual Bank ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
นับตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ กดปุ่มปฏิวัติตัวเองมาสู่บริการการเงินดิจิทัล
โดยเบื้องหลังการปรับตัวครั้งนั้น มาจากที่บริษัท Startup ด้านการเงินและกลุ่ม Non Bank กำลังแอบแย่งชิงลูกค้าธนาคารผ่านบริการการเงินดิจิทัล
สิ่งที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ต้องทำคือ การปิดประตู ไม่ให้คู่แข่งเหล่านี้แจ้งเกิดได้สำเร็จ
ทำให้เห็นธนาคารต่าง ๆ มีบริการและผลิตภัณฑ์การเงินดิจิทัลใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ 89.6% ของครัวเรือนประเทศไทย สามารถเข้าถึงบัญชีเงินฝากธนาคารมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับอัตราการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
ดูเหมือนจิกซอว์จะต่อครบหมดทุกชิ้น แต่ความจริงแล้วกลับยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ซ่อนอยู่..
จริงอยู่ว่าแม้ ธนาคารพาณิชย์ ได้เข้ามากระตุ้นให้คนไทยเข้าถึงการเงินในระบบ ผ่านเทคโนโลยี
แต่ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังใช้บริการพื้นฐานทั่วไป เช่น ฝาก ถอน โอน ชำระเงิน
โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า คนไทยเข้าถึงบริการสินเชื่อต่าง ๆ ไม่รวมบัตรเครดิตอยู่ที่ 42% เท่านั้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนและประกันต่าง ๆ มีอัตราการใช้บริการที่ต่ำมาก
เหตุผลเพราะยังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงการเงินในระบบได้ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ไม่มีสลิปเงินเดือน, เป็นพ่อค้าแม่ค้า, ไม่มีความรู้ด้านการลงทุน เป็นต้น
Virtual Bank จึงเป็นไอเดียของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะมาปลดล็อก 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
1. ส่งเสริมให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์การเงินดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีขึ้น
2. เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทั้งประเทศ
3. กระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน
ล่าสุดมี 5 กลุ่มที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รวมตัวกัน เพื่อยื่นขอใบอนุญาตเพื่อจัดตั้ง Virtual Bank คือ
1. Sea Group บริษัทแม่ของ Shopee และ Garena ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ,
วีจีไอ, เครือสหพัฒน์, ไปรษณีย์ไทย
2. SCBX ร่วมกับ KakaoBank, WeBank
3. GULF ร่วมกับ AIS, ธนาคารกรุงไทย และ OR
4. กลุ่มทรู (TrueMoney) ร่วมมือกับ Ant Group
5. กลุ่ม Lightnet Group ร่วมกับ WeLab
ทั้ง 5 กลุ่มนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะประกาศกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกในช่วงกลางปี 2568
จากนั้นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี เพื่อเปิดบริการ Virtual Bank ในช่วงกลางปี 2569
หากสังเกตดี ๆ จะพบว่า แต่ละกลุ่มจะมีบริษัทที่มีฐานลูกค้าอยู่ในมือจำนวนมหาศาล
เช่น Sea Group เจ้าของ Shopee และ Garena ที่มีเครือข่ายการให้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ที่เข้าถึงกลุ่มคนหลากหลายได้ทั่วประเทศ, AIS ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ, TrueMoney ผู้ให้บริการ E-wallet หรือจะเป็นกลุ่มธุรกิจธนาคารอย่าง SCBX, ธนาคารกรุงไทย
ถือเป็นต้นทุนอันล้ำค่าที่จะใช้ต่อยอดเพิ่มจำนวนฐานลูกค้า Virtual Bank ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Sea Group ที่เข้าร่วมยื่นขอใบอนุญาตเพื่อจัดตั้ง Virtual Bank ในเมืองไทย
ที่ใช้จุดแข็งนี้ในการทำธุรกิจดิจิทัลแบงก์ในประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้ชื่อ SeaBank จนประสบความสำเร็จ
ในประเทศอินโดนีเซีย SeaBank เริ่มต้นด้วยการต่อยอดจุดแข็งจาก Shopee ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ที่อยู่ในเครือ Sea Group เหมือนกัน
โดย Shopee เป็นอีคอมเมิร์ซที่ครองส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในอินโดนีเซีย
วิธีการของ SeaBank คือการใช้กลยุทธ์ Mobile-first โดยมีการโปรโมตและทำกิจกรรมการตลาด
ร่วมกับทาง Shopee
พร้อมกับมีการออกผลิตภัณฑ์การเงินดิจิทัลใหม่ ๆ ที่มาตอบโจทย์และเข้าถึงประชากรในอินโดนีเซีย ทำให้ลูกค้ารายย่อยมีสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอย
ส่วนลูกค้า SME ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างและขยายธุรกิจให้เติบโตได้
SeaBank จึงใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็สามารถสร้างฐานลูกค้าในอินโดนีเซียได้กว่า 13 ล้านบัญชี ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีจำนวนมากที่เพิ่งเคยใช้บริการธนาคารเป็นครั้งแรก
ด้วยการให้บริการบนช่องทางออนไลน์เป็นหลักที่เข้าถึงกลุ่ม Underserved ได้ทั่วถึงกว่า ด้วยต้นทุนด้านกายภาพที่ต่ำกว่า
อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มในเครือที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ มีดาต้าและเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน
ทำให้ SeaBank ในประเทศอินโดนีเซียเติบโตรวดเร็ว ใช้เวลาแค่ 18 เดือน ก็สามารถมีกำไรในธุรกิจ
โดยล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 SeaBank มีสินทรัพย์เติบโตเป็น 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไร 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกทั้งการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัล ยังมีความสำคัญต่อประเทศอินโดนีเซียในด้านการเพิ่ม Financial Inclusion
แม้ว่า ประเทศอินโดนีเซีย มีจุดแข็งด้านจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก มี GDP เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี
โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาคการผลิตในกลุ่ม SME จะถูกจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินในอัตราที่ต่ำ โดย SeaBank ถือเป็นหนึ่งในการปลดล็อกเรื่องนี้
กลับมาที่ประเทศไทย Sea Group และพันธมิตร จะทำสำเร็จเหมือนในประเทศอินโดนีเซียได้หรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไปในอนาคต
ส่วนเรื่องที่น่าจับตามองคือการเกิดขึ้นของ Virtual Bank ในประเทศไทย จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของคนไทยแค่ไหน ?
กลุ่มธนาคารเดิมต่างรู้ดีว่าการมาของ Virtual Bank จะเข้ามากัดกินส่วนแบ่งตลาดของตัวเอง
หนึ่งในวิธีการแก้เกมที่น่าจะได้เห็นคือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินและบริการใหม่ ๆ ที่มีข้อเสนอน่าดึงดูดใจเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้ากับ Virtual Bank
พอมีผลิตภัณฑ์การเงินดิจิทัลให้เลือกมากมายผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน ลูกค้าย่อมมีตัวเลือกเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์การเงินที่ตอบโจทย์ตัวเองมากที่สุด
อีกทั้งเป้าหมายหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการออกใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank
เพื่อให้ประชากรกลุ่มรายได้น้อยจนถึงธุรกิจเล็ก ๆ ที่เป็นรากฐานในระบบเศรษฐกิจไทย ที่ในอดีตไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารรูปแบบเดิมด้วยข้อจำกัดสารพัดอย่าง
Virtual Bank จะเข้ามาทำลายข้อจำกัดเหล่านี้ ผ่านนวัตกรรมทางการเงินต่าง ๆ ที่หลายผลิตภัณฑ์จะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือรากฐานเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งกว่าเดิม
พอพื้นฐานมั่นคง การต่อยอดเพื่อสร้างการเติบโตในระบบเศรษฐกิจไทย
ย่อมมีความได้เปรียบกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอ..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon