ทำไม ROE สูง เป็นได้ทั้ง หุ้นที่ดี และ กับดัก สำหรับนักลงทุน..

ทำไม ROE สูง เป็นได้ทั้ง หุ้นที่ดี และ กับดัก สำหรับนักลงทุน..

ทำไม ROE สูง เป็นได้ทั้ง หุ้นที่ดี และ กับดัก สำหรับนักลงทุน.. /โดย ลงทุนแมน
Return on Equity (ROE) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่นักลงทุนหลายคน นิยมใช้ในการวิเคราะห์บริษัท
ซึ่งบางคน ถึงกับตั้งเกณฑ์เป็นตัวเลขที่ชัดเจนไว้เลยว่า บริษัทที่ตัวเองจะลงทุนนั้น จะต้องมีค่า ROE สูงกว่าที่กำหนด
ทำไม ROE ถึงสำคัญ
และการนำไปใช้ มีอะไรที่เราควรระวัง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Return on Equity (ROE) หรืออัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น
เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางการเงินอันดับต้น ๆ ที่นักลงทุน มักนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร ของธุรกิจ
โดยจะคำนวณมาจากสูตร ROE = กำไรสุทธิ x 100 / ส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย
ซึ่งค่าที่ได้ จะออกมาในรูปของเปอร์เซ็นต์
ถ้าหากว่าบริษัทไหนมี ROE ที่สูง ก็แปลว่าบริษัทนั้น สามารถนำเงินของผู้ถือหุ้น ไปสร้างผลตอบแทนได้ดี หรือมีประสิทธิภาพมาก
โดยเราสามารถนำ ROE ไปเปรียบเทียบในอดีต
เปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ไปจนถึงวิเคราะห์การเติบโตของบริษัท
ซึ่งถ้าหากบริษัทไหน สามารถรักษาระดับ ROE ให้คงที่ หรือเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทนั้น ก็จะถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว
เพราะแสดงว่า สามารถนำเงินของนักลงทุน หรือทรัพยากรของบริษัท ไปลงทุนต่อจนงอกเงยขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันและเติบโตได้ดีในระยะยาว
แล้วบริษัทที่มี ROE สูง แปลว่าบริษัทนั้น มีความสามารถในการทำกำไรสูง จริงเสมอไปไหม ?
การตัดสินว่าบริษัทที่มี ROE สูง เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งนั้น เราอาจต้องมองลึกลงไป ถึงโครงสร้างต้นทุนของบริษัท
โดยเฉพาะ “หนี้สิน” ของบริษัทนั้น ๆ เพราะในบางครั้ง ROE ที่สูง อาจเป็นผลมาจากหนี้ที่บริษัทไปกู้มาก็ได้
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างผ่านเคสของนาย A และนาย B โดยทั้งสองคนต้องการเปิดธุรกิจร้านกาแฟเหมือนกัน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นราว 1 ล้านบาท
ซึ่งที่มาของเงินทุนตั้งต้นนั้น โดยหลักแล้วก็จะมาจากเงินของตัวเอง (ส่วนของผู้ถือหุ้น) และเงินที่ไปกู้ยืมมา (หนี้)
เริ่มกันที่นาย A ซึ่งมีเงินอยู่เพียง 5 แสนบาท นั่นเท่ากับว่า นาย A จะต้องกู้เงินอีก 5 แสนบาทจากธนาคาร เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะเปิดร้านได้
ซึ่งก็เท่ากับว่า ร้านกาแฟของนาย A มีสินทรัพย์อยู่ทั้งหมด 1 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ 5 แสนบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นอีก 5 แสนบาทนั่นเอง
ในขณะที่นาย B มีเงินเพียง 3 แสนบาท และต้องกู้เงินจากธนาคารอีก 7 แสนบาท เพื่อให้เพียงพอในการเปิดร้าน
โดยถ้าหากเมื่อผ่านไป 1 ปีแล้ว ร้านกาแฟของนาย A ทำกำไรได้ 1 แสนบาท กำไรก้อนนี้ ก็จะกลายเป็นกำไรสะสม และเข้าไปรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้น
ซึ่งถ้าหากเราคำนวณ ROE ของร้านกาแฟของนาย A ก็จะออกมาอยู่ที่ประมาณ 18%
ซึ่งมาจากกำไร 1 แสนบาท หารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 5.5 แสนบาทนั่นเอง (500,000 + 600,000 / 2)
ขณะที่ฝั่งร้านของนาย B ซึ่งทำกำไรได้ 1 แสนบาทเท่ากัน
ROE ร้านของนาย B จะสูงถึง 29% โดยคำนวณมาจากกำไร 1 แสนบาท หารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 3.5 แสนบาท (300,000 + 400,000 / 2)
ซึ่งถ้าหากเรามองเผิน ๆ จากค่า ROE เราอาจคิดว่า ร้านกาแฟของนาย B มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่านาย A
แม้ร้านกาแฟทั้งสองแห่ง จะใช้เงินลงทุนตั้งต้นเท่ากัน และทำกำไรได้เท่ากัน แต่ถ้าหากว่ามีโครงสร้างเงินทุนที่ต่างกัน ก็จะส่งผลให้ ROE ต่างกันมากทีเดียว
โดยที่ร้านของนาย B มีค่า ROE ที่สูงนั้น มาจากการที่มีส่วนทุนของตัวเองน้อยมาก ซึ่งทำให้ตัวหารน้อยลงไปด้วยนั่นเอง
แต่การที่เงินทุนตั้งต้นของนาย B หลัก ๆ มาจากหนี้สินที่ไปกู้ธนาคารมา ก็มาพร้อมกับภาระดอกเบี้ย ที่อาจส่งผลต่อกำไร และความเสี่ยงที่สูงกว่า
เพราะการมีหนี้ที่ค่อนข้างเยอะ อาจทำให้ธุรกิจประสบปัญหาได้ หากธุรกิจซบเซา จนไม่มีเงินพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยหรือแม้แต่คืนเงินต้น รวมถึงในอนาคต อาจขอกู้เงินลำบากขึ้นด้วย
แล้วเราควรดู ROE คู่กับอะไร ?
คำตอบคือ “หนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ D/E Ratio นั่นเอง
โดย D/E Ratio ที่ต่ำ แสดงถึงว่า สินทรัพย์ที่บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก มาจากส่วนทุน มากกว่าหนี้
ดังนั้น ถ้าหากบริษัทไหนมีค่า ROE สูง แต่มี D/E Ratio ต่ำ อาจบอกได้ว่า กำไรที่บริษัทนั้นทำได้ มาจากส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก และไม่มีเรื่องของหนี้สินที่ต้องกังวลมากนัก
เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นว่า ROE นั้นมาจากคุณภาพของการดำเนินธุรกิจจริง ๆ ไม่ใช่เพียงการก่อหนี้ในระดับสูง (Leverage)
นอกจากนี้ จะมีในบางกรณีที่ ROE ติดลบ ซึ่งอาจมาจากบริษัทมี “ผลประกอบการขาดทุน” หรือกำไรสุทธิติดลบ
ซึ่งกรณีนี้ เราก็ควรไปดูว่า กำไรติดลบนั้นเกิดจากการขาดทุนพิเศษเพียงครั้งเดียว หรือมาจากผลประกอบการของบริษัทที่แย่ลง
และถ้าหากเป็นกรณีหลัง ก็อาจต้องระมัดระวังในการลงทุน..
อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ ROE ติดลบได้ ก็คือ “การมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ”
ซึ่งอาจมาจากการที่บริษัทมีการขาดทุนสะสมจนกินส่วนของผู้ถือหุ้นไปจนหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวัง
หรืออาจมาจากการที่บริษัท มีการซื้อหุ้นคืนจำนวนมาก และทำการลดทุน ซึ่งถ้าเป็นการซื้อหุ้นคืน แล้วบริษัทยังมีพื้นฐานที่ดี มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
กรณีนี้ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร
เพราะธุรกิจยังไปได้ดี และสุดท้ายแล้วส่วนของผู้ถือหุ้น ก็จะกลับมาเป็นบวกได้เอง
มาถึงตรงนี้ เราก็คงจะเห็นแล้วว่า ธุรกิจที่มี ROE สูงนั้น ไม่ได้การันตีว่า เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง มีความสามารถในการทำกำไรสูงกว่าคู่แข่งเสมอไป
เพราะในบางกรณี ก็อาจมาจากโครงสร้างต้นทุน ที่เน้นการกู้เงินมาทำธุรกิจ
ถ้าหากเราเจอบริษัทในลักษณะนี้
เราก็ควรจะต้องดูโครงสร้างให้ดี และคิดเผื่อไปอีกชั้นว่า หากวันหนึ่งบริษัทเกิดยอดขายตก หรือสะดุดขึ้นมา
หนี้สินเหล่านั้น จะกลายเป็นความเสี่ยงของบริษัทนั้น มากแค่ไหน
ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนควรมองหาคือ
หุ้นหรือธุรกิจที่มี ROE สูงแบบมีคุณภาพและยั่งยืนจริง ๆ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon