หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP สูงในยุคนี้ ไม่ใช่เพราะก่อหนี้เก่ง แต่เพราะรายได้หด ดอกเบี้ยสูง

หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP สูงในยุคนี้ ไม่ใช่เพราะก่อหนี้เก่ง แต่เพราะรายได้หด ดอกเบี้ยสูง

หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP สูงในยุคนี้ ไม่ใช่เพราะก่อหนี้เก่ง แต่เพราะรายได้หด ดอกเบี้ยสูง /โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจคิดว่า สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 90% ของ GDP ในทุกวันนี้
เป็นผลมาจากการที่คนไทยชอบก่อหนี้ กู้เงินซื้อรถ ซื้อบ้าน รูดบัตรเครดิต กันเก่งกว่าแต่ก่อน
แต่รู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราก่อหนี้ใหม่กันน้อยลง..
แต่สาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทย พุ่งสูงถึง 90% ของ GDP เป็นเพราะรายได้ที่หายไป และภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
แล้วเรื่องนี้มีรายละเอียดอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะสูงขึ้นได้ มีสาเหตุมาจาก
1. การกู้ยืมที่มากขึ้น
แน่นอนว่า เมื่อคนยิ่งกู้กันเยอะเท่าไร หนี้ครัวเรือนก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
โดยถ้าอยากรู้ว่าคนไทยกู้กันมากขึ้นหรือลดลง ก็สามารถดูได้จากมูลค่าหนี้ครัวเรือนรวม หรือก็คือ ยอดกู้ยืมของทุกครัวเรือนไทยรวมกัน
โดยตัวเลขนี้ก็จะเพิ่มขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ และลดลงจากการคืนหนี้
2. GDP หรือรายได้ ที่ลดลง
ในอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ถ้า GDP ที่เป็นตัวหารลดลง ก็ย่อมทำให้อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้น
โดย GDP ก็เป็นเหมือนตัวแทนรายได้ของประเทศ
และ GDP ของไทยที่ลดลง ก็มักจะเป็นผลจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่เจอสถานการณ์ย่ำแย่ ซึ่งก็หมายถึงรายได้ของเราที่หายไป
3. อัตราดอกเบี้ย
เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ย่อมทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้เพิ่มขึ้น
เงินผ่อนแต่ละงวด หักคืนเป็นเงินต้นได้น้อยลง เมื่อบวกกับยอดกู้ใหม่ ก็ทำให้หนี้ครัวเรือนโดยรวมพุ่งสูงขึ้น
คำถามถัดมาคือ แล้วสำหรับประเทศไทย ปัจจัยทั้ง 3 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จึงทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงถึง 90% อย่างทุกวันนี้ ?
หลายคนอาจคิดว่า สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น กู้เงินซื้อรถ ซื้อบ้าน รูดบัตรเครดิต กันเก่งขึ้นกว่าสมัยก่อน
แต่จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ความจริงแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การกู้ยืม ไม่ได้มีผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย
ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การก่อหนี้ของครัวเรือนไทยสุทธิ ชะลอตัวลงมาโดยตลอด และเป็นปัจจัยที่คอยรั้งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไว้ด้วยซ้ำ
ถ้าอย่างนั้น แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย สูงถึง 90% อย่างในทุกวันนี้ ?
หากจะมองหาจุดเริ่มต้น ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยปี 2553 หรือ 14 ปีที่แล้ว โดยช่วงนั้นหนี้ครัวเรือนไทย ยังอยู่ที่เพียง 60% ต่อ GDP เท่านั้น
จุดแรกที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทย เริ่มดีดตัว คือช่วงปี 2553-2556 การก่อหนี้ของคนไทย พุ่งสูงขึ้นอย่างมากจากมาตรการรถยนต์คันแรก และการกู้มาเพื่อใช้จ่ายและซ่อมแซมผลกระทบหลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่
จนทำให้หนี้ครัวเรือนไทย เพิ่มขึ้นจากระดับ 60% กลายเป็น 80% ในระยะเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น
และก็อย่างที่กล่าวไปว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การก่อหนี้ของครัวเรือนไทยสุทธิ ชะลอตัวลงมาโดยตลอด
จุดต่อมาที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย ดีดตัวขึ้นอีกครั้ง มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2563 ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทย แทบจะเป็นอัมพาต ส่งผลทำให้ GDP หรือรายได้ของไทยหายไปอย่างมาก
เมื่อ GDP ที่เป็นตัวหาร หายไปอย่างมาก จึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย เพิ่มจากประมาณ 80% ไปเป็น 90%
มิหนำซ้ำ ภายหลังการแพร่ระบาด แม้รายได้ของเราจะกลับมาแล้ว
แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่กลับมาสูงขึ้นเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ก็ทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้มีความสามารถในการชำระคืนหนี้น้อยลง
และกลายเป็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยลดลงมาเพียงนิดเดียวเท่านั้น แม้รายได้ของเราจะกลับมาแล้ว และก่อหนี้ใหม่กันลดลงมาก
จากทั้งหมดที่เล่ามา สรุปได้ว่า แนวความคิดที่ว่าหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงถึง 90% ของ GDP เป็นผลมาจากการที่คนไทยในสมัยนี้ ชอบก่อหนี้ กู้เงินซื้อรถ รูดบัตรเครดิต เก่งขึ้นกว่าสมัยก่อน
ความคิดนี้อาจเป็นจริงเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่การก่อหนี้เราพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ไม่ใช่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เพราะการก่อหนี้ครัวเรือนสุทธิ มีการชะลอตัวลง
และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย
จึงสรุปได้ว่า หนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในตอนนี้
เป็นผลมาจากปี 2553-2556 และผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
แต่ไม่ได้เป็นผลจากการที่เราก่อหนี้กันเก่งกว่าแต่ก่อน..
Reference
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลรายงานจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/our-roles/monetary-policy/mpc-publication/monetary-policy-report/MPR_2567_Q1.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon