โมเดลธุรกิจ เลานจ์สนามบิน บริการที่ “คนซื้อไม่ได้ใช้ แต่คนใช้ไม่ได้ซื้อ”

โมเดลธุรกิจ เลานจ์สนามบิน บริการที่ “คนซื้อไม่ได้ใช้ แต่คนใช้ไม่ได้ซื้อ”

โมเดลธุรกิจ เลานจ์สนามบิน บริการที่ “คนซื้อไม่ได้ใช้ แต่คนใช้ไม่ได้ซื้อ” /โดย ลงทุนแมน
ใครที่เคยเดินทางโดยเครื่องบิน คงจะรู้ดีว่า เราไม่สามารถไปขึ้นเครื่องแบบเฉียดเวลาออกได้เหมือนขึ้นรถไฟ
แต่จะต้องไปสนามบินก่อนเครื่องบินออก 1 ถึง 4 ชั่วโมง เพื่อเช็กอินและผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของสนามบิน
หลังจากผ่านขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว ก็จะต้องเข้าไปรอขึ้นเครื่องบิน ซึ่งบางครั้งอาจต้องรอมากกว่า 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว
จึงเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจประเภท “เลานจ์ (Lounge)” ในสนามบิน เพื่อไว้ให้ผู้โดยสารมานั่งพักผ่อน หาของกิน อาบน้ำ หรือนั่งทำงานระหว่างรอขึ้นเครื่อง
แน่นอนว่าเลานจ์เหล่านี้ไม่ได้ให้บริการฟรี มีการเรียกเก็บเงินสำหรับผู้ใช้บริการ
แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเลานจ์นั้น กลับไม่ได้เสียเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะมีคนอื่นจ่ายแทนให้
พูดง่าย ๆ ว่าเป็นบริการที่ “คนซื้อไม่ได้ใช้ แต่คนใช้ไม่ได้ซื้อ”
โมเดลธุรกิจของเลานจ์ตามสนามบิน เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เลานจ์ในสนามบิน เป็นสถานที่ที่คอยให้บริการผู้โดยสาร ระหว่างรอขึ้นเครื่อง โดยหากใครเคยไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็คงจะเคยเห็นเลานจ์ชื่อต่าง ๆ ผ่านตาบ้าง
โดยมีเลานจ์ทั้งแบบที่เป็นของสายการบิน ที่มักจะให้บริการเฉพาะผู้โดยสารชั้นหนึ่งหรือชั้นธุรกิจ รวมถึงผู้โดยสารที่เป็นสมาชิก Tier ระดับสูง
และเลานจ์อิสระอย่าง Miracle Lounge หรือ The Coral Lounge
ซึ่งบริการในเลานจ์ ก็มีตั้งแต่อาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่มอย่างน้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พร้อมโซนที่นั่งสำหรับพักผ่อนหรือทำงาน ไปจนถึงบริการห้องอาบน้ำ และสปา
ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจเลานจ์ อาจเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่คนที่ใช้ไม่ได้ซื้อ แต่คนที่ซื้อกลับไม่ได้ใช้ เพราะผู้ที่มาใช้บริการนั้น มักจะไม่ต้องจ่ายเงินเลย
โดยผู้ที่ออกเงินค่าใช้บริการเลานจ์จริง ๆ ก็คือบรรดาบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิต ที่เจ้าของบัตรมาใช้สิทธิ์ หรือสายการบินที่ไม่ได้มีเลานจ์เป็นของตัวเอง
พูดอีกอย่างคือ แม้รูปแบบธุรกิจจะเป็นไปในลักษณะ B2C หรือให้บริการกับลูกค้าโดยตรง
แต่การเก็บเงิน กลับเป็นแบบ B2B หรือมาจากองค์กรจ่ายเงินให้องค์กร นั่นเอง
โดยสิทธิประโยชน์ในการเข้าเลานจ์ฟรี มักจะมีอยู่ในบัตรเครดิตระดับสูงแทบทุกใบ ซึ่งเป็นบริการที่ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ใช้ในการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
หรือแม้แต่ไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ มอบบัตร Priority Pass สำหรับใช้เข้าเลานจ์ได้ไม่อั้น ให้แก่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตก็มี
ในขณะที่สายการบินบางแห่ง ที่ไม่ได้มีเที่ยวบินเข้าออกจากสนามบินมากนัก ก็เลือกที่จะไม่สร้างเลานจ์เอง แต่จะให้ผู้โดยสารไปใช้บริการเลานจ์ ของสายการบินอื่นแทน
ตัวอย่างเช่น พันธมิตรสายการบิน Star Alliance ที่มักจะให้ผู้โดยสาร เลือกใช้บริการเลานจ์ของสายการบินอื่น ๆ ในเครือข่ายได้ แม้จะไม่ได้บินกับสายการบินนั้นก็ตาม
นอกจากนี้ ก็ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิประโยชน์ในการเข้าเลานจ์ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ที่ซื้อบริการเลานจ์ให้กับผู้บริหารระดับสูง หรือลูกค้ารายใหญ่
รวมถึงบริษัททัวร์ ที่อาจมีแพ็กเกจทัวร์ ที่รวมการเข้าใช้บริการเลานจ์เป็นส่วนหนึ่งของทริปแล้ว
ทั้งนี้ แม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ จะมาจากลูกค้าองค์กร แต่ผู้โดยสารทั่วไปก็สามารถ Walk-in เข้าไปใช้บริการในเลานจ์ได้เหมือนกัน โดยอาจมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 600-1,000 บาทขึ้นไปต่อครั้ง
ซึ่งแน่นอนว่า ราคา Walk-in นี้ เป็นราคาที่จ่ายแพงกว่าที่บริษัทบัตรเครดิต หรือสายการบินต้องจ่าย เพราะองค์กรใหญ่ จะมีฐานลูกค้าจำนวนมาก มาเป็นอาวุธในการต่อรองราคากับผู้ให้บริการเลานจ์ นั่นเอง
แล้วทำไมบริษัทบัตรเครดิต หรือสายการบิน ไม่ทำเลานจ์เอง ?
คำตอบก็เพราะ การทำเลานจ์เอง มักจะมีต้นทุนที่สูง ทั้งค่าเช่าที่ ค่าพนักงาน ต้นทุนค่าอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบริหารจัดการ ซึ่งถ้าหากมีผู้โดยสารไม่มากพอ ก็จะไม่คุ้มค่า
ประกอบกับสายการบินหลายแห่ง มีเส้นทางการบินที่เชื่อมต่อหลายสนามบินทั่วโลก การจะไปตั้งเลานจ์อยู่ในทุกสนามบินที่ให้บริการ จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

สายการบินส่วนใหญ่ จึงเลือกสร้างเลานจ์ของตัวเอง เฉพาะในฐานการบินหลัก หรือในสนามบิน ที่มีเที่ยวบินเข้าออกเป็นประจำเท่านั้น อย่างที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะมี
- Royal Silk Lounge ของการบินไทย
- Blue Ribbon Lounge ของบางกอกแอร์เวย์ส
- SilverKris Lounge ของสิงคโปร์แอร์ไลน์
- EVA Air Lounge ของอีวีเอแอร์
- Emirates Lounge ของเอมิเรตส์
ส่วนกรณีของบัตรเครดิต การเข้าใช้บริการเลานจ์ ก็เป็นเพียงสิทธิพิเศษที่มอบให้กับลูกค้าผู้ถือบัตรเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท เพราะฉะนั้นการสร้างเลานจ์เอง จึงอาจถูกมองว่าไม่สมเหตุสมผล
ทั้งอาจเป็นการเสียเวลา เสียเงิน และอาจทำให้บริษัทไม่ได้โฟกัสกับธุรกิจหลักมากเท่าที่ควรนั่นเอง
ด้วยเหตุผลด้านต้นทุน และความคุ้มค่านี้เอง ทำให้หลายองค์กร ที่ต้องการจะให้ลูกค้าได้ใช้บริการเลานจ์ ก็เลือกที่จะไปดีลกับผู้ให้บริการเลานจ์โดยตรง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ธุรกิจเลานจ์ มีนายหน้าคอยเป็นตัวกลางอยู่ด้วยเช่นกัน
อย่างเช่น Priority Pass ซึ่งมีโมเดลธุรกิจแบบให้ลูกค้ามาสมัครสมาชิก เพื่อรับสิทธิ์ในการเข้าเลานจ์ในเครือข่ายที่มีอยู่ในสนามบินทั่วโลก โดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเลานจ์เองเลย
แต่มีการสร้างเครือข่ายร่วมกับเลานจ์อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วตามสนามบินต่าง ๆ มากกว่า 1,300 แห่ง
โดยสมาชิกของ Priority Pass ก็จะต้องจ่ายค่าบริการในรูปแบบ Subscription รายปี ซึ่งก็มีหลายแพ็กเกจให้เลือก ทั้งแบบฟรีทุกครั้งที่ใช้บริการเลานจ์ หรือได้เป็นส่วนลด แล้วต้องจ่ายเพิ่มบางส่วน ในแต่ละครั้งที่ไปใช้บริการ
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่า ถึงแม้เลานจ์ตามสนามบิน จะดูเหมือนร้านอาหารตามห้าง ที่จะให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป
แต่ผู้ที่จ่ายเงินส่วนใหญ่จริง ๆ กลับเป็นบริษัทที่ต้องการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ทั้งเสริมบริการของตัวเองให้ดูพิเศษ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดียิ่งขึ้น
ในส่วนของเลานจ์เอง ก็ต้องพัฒนาบริการและภาพลักษณ์ให้ดูหรู ดูแพงอยู่เสมอ
ซึ่งนอกจากจะต้องสร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสารที่มาใช้บริการแล้ว ก็ต้องดึงดูดลูกค้าตัวจริง
ทั้งบริษัทสายการบิน และบริษัทบัตรเครดิต
ที่เป็นผู้ตัดสินใจว่า จะยอมจ่ายเงิน และส่งฐานลูกค้าของตัวเอง ไปใช้บริการเลานจ์เจ้าไหนดี..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon