เนเธอร์แลนด์ หยุดน้ำท่วม ที่เจอมา 1,000 ปี ได้ด้วย “โครงการเดียว”

เนเธอร์แลนด์ หยุดน้ำท่วม ที่เจอมา 1,000 ปี ได้ด้วย “โครงการเดียว”

เนเธอร์แลนด์ หยุดน้ำท่วม ที่เจอมา 1,000 ปี ได้ด้วย
“โครงการเดียว” /โดย ลงทุนแมน
“น้ำท่วม” เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องเจอมาตลอด และสร้างความสูญเสียนับไม่ถ้วน อย่างเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2011 จนมาถึงน้ำท่วมเชียงราย ในช่วงล่าสุด
แต่รู้ไหมว่า 1,000 ปีที่แล้ว เนเธอร์แลนด์ ก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน แถมยังหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะประเทศแห่งนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
จนในที่สุด ความไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และการวางแผนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ก็ทำให้เนเธอร์แลนด์ หยุดน้ำท่วมซ้ำซากได้ ด้วยโครงการใหญ่ โครงการเดียว
เนเธอร์แลนด์ ทำอะไรถึงหยุดน้ำท่วมได้
ประเทศไทย เรียนรู้จากเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ตั้งแต่ปี 1000 เป็นต้นมา เนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับพายุรุนแรงมาโดยตลอด เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ 9 ปี พายุจะมาเยือนเนเธอร์แลนด์แบบไม่ได้รับเชิญเสมอ
และพายุไม่ได้เดินทางกลับไปด้วยตัวคนเดียว เพราะยังลากชาวดัตช์กว่า 360,000 ชีวิตไปด้วย
ทำให้เนเธอร์แลนด์ พยายามป้องกันภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นให้ได้ แต่ก็ยังไม่เป็นระบบมากเท่าไรนัก
จนในปี 1932 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เริ่มต้นโครงการ “Zuiderzee” ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับเขื่อนขนาดยาวกว่า 30 กิโลเมตร ทางด้านตอนเหนือของประเทศ
ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เป้าหมายการฟื้นฟูประเทศ กลายเป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญ
งบประมาณและการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จึงถูกละเลย และเลื่อนออกไปก่อนแทน
แต่แล้ว พายุก็เดินทางมาเยือนประเทศแห่งนี้อีกครั้งในปี 1953 โดยไม่สนใจเลยว่า เนเธอร์แลนด์พร้อมรับมือกับพายุแล้วหรือยัง..
และด้วยสภาพของระบบการป้องกันที่ขาดการดูแลก่อนหน้านี้ เมื่อทำนบกั้นน้ำพังทลาย น้ำจึงเข้าท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอย่างรวดเร็ว
ความสูญเสียที่เนเธอร์แลนด์เผชิญ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 5,400 ล้านยูโร หรือคิดเป็นมูลค่าราว ๆ 2 ล้านล้านบาท ในปัจจุบันหลังปรับด้วยเงินเฟ้อ
และที่ประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้เลยก็คือ ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปเกือบ 2,000 คน สัตว์ที่ล้มตายไปถึง 10,000 ชีวิต และบ้านเรือนที่เสียหายจำนวนมาก
จากบทเรียนที่แสนเจ็บปวดและมีราคาแพงสำหรับเนเธอร์แลนด์ ทำให้รัฐบาลกลับมาตั้งเป้าหมายและให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ
ด้วยโครงการที่ชื่อว่า “Delta Works” เพื่อสร้างระบบจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
โดยโครงการนี้ จะมีทั้ง ประตูล็อกกั้นน้ำ เขื่อน ทำนบกั้นน้ำ และเขื่อนกั้นพายุทะเล ไว้สำหรับจัดการน้ำในช่วงเวลาปกติ และป้องกันน้ำในช่วงที่มีพายุมาเยือน
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างพื้นที่ว่างให้แม่น้ำ หรือ River Room โดยขยายพื้นที่ริมแม่น้ำให้กว้างขึ้นและกั้นด้วยทำนบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว
โดยเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ปี 1954 เป็นต้นมา ก่อนเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปี 1997 ด้วยงบประมาณทั้งหมดกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งหากคิดเป็นเงินปัจจุบัน โครงการนี้มีมูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท เลยทีเดียว
และปัจจุบัน โครงการนี้ยังได้รับเงินสนับสนุน
ต่อปีกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท
โดย 55% ถูกใช้ในการก่อสร้างใหม่ ๆ และที่เหลืออีก 45% ใช้สำหรับการดูแลรักษาระบบจัดการน้ำโดยรวม
โดยเงินสนับสนุนตรงนี้ ก็มาจากภาษีจัดการน้ำของชาวดัตช์ และงบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลาง
อย่างไรก็ตาม โครงการที่ดีไม่อาจสำเร็จได้ ถ้าไม่มีการวางระบบไว้ เนเธอร์แลนด์จึงวางระบบต่าง ๆ เพื่อให้โครงการ Delta Works ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ไล่ตั้งแต่ “ระบบคาดการณ์และติดตาม”
ศูนย์จัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ (WMCN) จะคอย
คาดการณ์การเกิดพายุ สั่งปิดประตูเขื่อน และเตือนภัยเมื่อระดับน้ำถึงจุดในระดับความเสี่ยงต่าง ๆ
ซึ่งการเตือนภัยจะแบ่งออกเป็นระดับสีที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่สีเขียวที่ไม่น่ากังวล ไปจนถึงสีแดงที่น่ากังวล และต้องเตรียมอพยพผู้คนออกจากพื้นที่
ศูนย์นี้ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานการสื่อสารยามวิกฤติของประเทศ (NKC) เพื่อกระจายข่าว แจ้งเตือนผู้คนให้รับรู้เหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที และคอยประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วม ผ่านคู่มือการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ
ระบบต่อมา คือ “ระบบซ่อมบำรุง”
สิ่งนี้ก็มีความสำคัญในการจัดการน้ำทั้งระบบ เพราะหากมีปัญหาในการใช้งาน ระบบจัดการน้ำทั้งหมดจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
โดยก่อนฤดูฝนจะมาเยือน จะมีการทดสอบการทำงานในทุก ๆ 2 อาทิตย์, 3 เดือน หรือ 1 ปี สลับกันไป
หากพบปัญหา ก็จะมีการเข้าไปแก้ไข ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนอะไหล่
นอกจากดูแลอุปกรณ์แล้ว บุคลากรทำงาน ก็เป็นส่วนสำคัญซึ่งจะได้รับการฝึกอบรมในช่วงเดียวกัน
โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า เมื่อใช้งานจริง ระบบทั้งหมดจะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
และอีกส่วนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ
“ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล”
เนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ให้ประเทศต่าง ๆ มาเรียนรู้ระบบการจัดการน้ำ
เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนี้มากขึ้น
อีกทั้งยังเข้าร่วมเครือข่ายเขื่อนกั้นพายุระหว่างประเทศ โดยความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้แลกเปลี่ยนกัน
ทำให้เนเธอร์แลนด์สามารถพัฒนานวัตกรรมการจัดการน้ำต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง
นอกจากระบบที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์แล้ว เนเธอร์แลนด์ยังใช้ประโยชน์จากธรรมชาติด้วยการสร้างระบบ “Sand Motor” ที่นำทรายปริมาณมหาศาลไปเทบริเวณปากอ่าว เพื่อทับถมให้กลายเป็นกำแพงกั้นคลื่นเพิ่มเติม
โดยระบบทั้งหมดนี้ ก็จะอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรกลางเพียงแห่งเดียวที่ชื่อว่า Delta Commission เพื่อทำให้การทำงานเป็นระบบและไม่วุ่นวาย
ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเนเธอร์แลนด์
ประเทศที่รัฐตัดสินใจอย่างจริงจังว่า ต้องจัดการปัญหาเรื่องน้ำท่วมให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่อีก..
ด้วยการใช้ความรู้ทางวิศวกรรมในการจัดการน้ำ สร้างระบบสนับสนุนการทำงาน ผสมผสานวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
ก็น่าคิดว่า ด้วยงบประมาณที่ทุ่มไปกว่า 3.3 แสนล้านบาท สามารถปกป้องชาวดัตช์ได้จากน้ำท่วมซ้ำซาก และหากเกิดน้ำท่วม ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะไม่มากนัก
หันกลับมามองที่ประเทศไทย บทเรียนจากเนเธอร์แลนด์ก็คงเห็นแล้วว่า โครงการที่ดี ต้องมาพร้อมการจัดการน้ำที่เป็นระบบ ถึงจะทำให้ระบบป้องกันน้ำท่วมทรงพลังได้
และหากลองเทียบเล่น ๆ ว่างบประมาณที่เนเธอร์แลนด์ลงทุนไปมากแค่ไหน เราลองมาเทียบกันดู
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 450,000 ล้านบาท
งบประมาณสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ 120,000 ล้านบาท
ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสสาม 110,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 100,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีแดง 96,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีชมพู 53,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 50,000 ล้านบาท
สถานีรถไฟกลางบางซื่อ 16,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า เนเธอร์แลนด์ใช้งบมากกว่าหลาย ๆ โครงสร้างพื้นฐาน ที่ประเทศไทยสร้างขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เสียอีก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/the-flood-of-1953#dykes-are-breached-with-disastrous-consequences
-https://climate-laws.org/geographies/netherlands/laws/delta-act-on-water-safety-and-fresh-water-supply-delta-act
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/delta-works#other-benefits
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/storm-surge-barriers
-https://www.i-storm.org/
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/sand-motor
-https://www.rijkswaterstaat.nl/en/water/water-safety/room-for-the-rivers
-https://www.bbc.com/thai/international-59204934
-https://www.britannica.com/place/Netherlands
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_floods_in_the_Netherlands
-https://www.government.nl/topics/delta-programme/delta-programme-flood-safety-freshwater-and-spatial-adaptation
-https://www.water-technology.net/projects/delta-works-flood-netherlands

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon