กรณีศึกษา Nestle กับ F&N

กรณีศึกษา Nestle กับ F&N

กรณีศึกษา Nestle กับ F&N / โดย ลงทุนแมน
นมตราหมี คาร์เนชั่น ไมโล
ทุกคนคงคุ้นเคยดี ว่ามีเจ้าของคือ Nestle
แต่จริงๆแล้วมีอีกบริษัทหนึ่งชื่อ F&N มาเกี่ยวข้องกับสินค้าของ Nestle
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บริษัท Nestle เป็นบริษัทที่มีประวัติมายาวนาน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2436 มี นมข้นหวานตรา “แหม่มทูนหัว (Milkmaid)” ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ เกิดกระแสตอบรับที่ดี ที่ทำให้คนทั่วไปรู้จัก บริษัท Nestle ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
จากนั้น บริษัท Nestle ก็ได้ขยายกิจการและพัฒนาสินค้าบริโภคมาเรื่อยๆ เช่น นมข้นหวานตราหมี
จนกระทั่งในปี 2511 Nestle ได้ลดการนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ จึงได้สร้างโรงงานผลิตสินค้า และแต่งตั้งบริษัท ดีทแฮล์ม เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Nestle ในปี 2515
บริษัท Nestle ได้มีการศึกษาตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายกำลังการผลิตของสินค้าและช่องทางการจำหน่ายสินค้าใหม่ๆสู่ตลาด เช่น เนสกาแฟ ไมโล คอฟฟี่เมท
รวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการ คาร์เนชั่น ทั่วโลก ในปี 2528
ในปี 2532 ได้ก่อตั้งบริษัท เนสท์เล่ โปรดักท์ส (ไทยแลนด์) อินค์ เพื่อจัดจำหน่ายแทน บริษัท ดีทแฮล์ม
จนกระทั่งปี 2542 บริษัท Nestle ก็ยังขยายกิจการ รวมไปถึง การจัดตั้ง บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า ขึ้น เพื่อกระจายสินค้าไปในประเทศ พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
ในปี 2544 ได้เปิด Nestle Visitor Center ที่เป็นศูนย์รวมความรู้ด้านโภชนาการอาหารนมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย แต่ไม่นานก็ต้องปิดตัวลง
เพราะในปี 2550 บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า ได้ทำ Licence Agreements ภายใต้ยี่ห้อ ตราหมี ตราหมีโกลด์ ไอดีลมิลค์ มิลค์เมด ไมโล และ คาร์เนชั่น ให้กับ บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (F&N) จนถึงปี 2560
ด้วยมูลค่าประมาณ 2,480 ล้านบาท
F&N ได้อะไรจากการทำ Licence Agreements ในครั้งนี้?
การทำ Licence Agreements ครั้งนี้ หมายถึง สิทธิของการผลิตและการจัดจำหน่ายภายใต้การดูแลของบริษัท F&N แต่ยังคงใช้แบรนด์ Nestle ได้เหมือนเดิม
รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตของ Nestle ในประเทศไทย
ต่อมาในปี 2556 มีการแข่งขันเข้าซื้อกิจการของบริษัท F&N ที่สิงค์โปร์
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ชนะการประมูลในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท F&N ที่ 9.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น
ซึ่งการครอบครอง F&N ในครั้งนี้ เป็นข้อดีที่ทำให้เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินและช่องทางการจำหน่ายสินค้าของบริษัทในเครือไทยเบฟมากขึ้น
และต่อมาในปี 2558 บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ได้มีการต่อสัญญาการทำ Licence Agreements ที่ F&N เคยทำไว้กับ Nestle ขยายสัญญาไปจนถึงปี 2580
โดยมีแบรนด์ คาร์เนชั่น ตราหมี ตราหมีโกลด์ ไอดีลมิลค์ และ มิลค์เมด ในประเทศสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย บรูไน และลาว
ส่วนเครื่องดื่มไมโล ยูเอชที และ นมตราหมี ยูเอชที ได้กลับคืนสู่การดูแลของบริษัท Nestle
รู้หรือไม่?
ในปี 2559 คนไทยบริโภค นมข้นหวาน ครีมแท้ และ ครีมเทียม เฉลี่ยคนละ 2 กิโลกรัม ต่อปี มีมูลค่าตลาดประมาณ 9,600 ล้านบาท
เมื่อมาดู รายได้ของบริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2558 รายได้รวม 13,695 ล้านบาท กำไร 982 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้รวม 13,777 ล้านบาท กำไร 1,691 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 13,780 ล้านบาท กำไร 1,873 ล้านบาท
เรื่องนี้ให้ข้อคิดอะไรกับเรา
การที่บริษัท Nestle ขายสิทธิการผลิตและจัดจำหน่ายให้ F&N อาจเป็นเพราะ F&N เข้าใจถึงตลาดนี้มากกว่า
และบมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ก็เข้ามาซื้อ F&N เพราะอาจจะเล็งเห็นการต่อยอดจากธุรกิจนี้ ที่บมจ. ไทยเบฟเวอเรจก็ยังไม่เคยมีตลาดกลุ่มนี้เช่นกัน
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ ที่บางครั้งก็จะซับซ้อนซ่อนเงื่อนไปมา จนตอนนี้เราก็อาจจะยังสับสนว่าแบรนด์ไหนเป็นของใคร
แต่มีอีกหนึ่งปริศนาที่ลงทุนแมนยังหาไม่เจอ
เมื่อก่อนลงทุนแมนชอบกินนมข้นหวานแบรนด์นี้
แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว
จึงเกิดความสงสัยว่า แล้ว นมข้นหวานตราหมี หายไปไหน?
----------------------
<ad> ถึงนมข้นหวานตราหมีจะหายไป แต่ลงทุนแมนยังอยู่ ติดตามกันได้ฟรีที่ แอพลงทุนแมน https://www.longtunman.com/appinstagram, twitter, youtube, lineโดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon