รู้จัก Temu อีคอมเมิร์ซจีน ที่ตีตลาดสหรัฐฯ ได้ และกำลังบุกไทย
รู้จัก Temu อีคอมเมิร์ซจีน ที่ตีตลาดสหรัฐฯ ได้ และกำลังบุกไทย /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าหนึ่ง ที่สามารถเจาะเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี Amazon.com เป็นเจ้าถิ่นอยู่ ได้สำเร็จ
รู้หรือไม่ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าหนึ่ง ที่สามารถเจาะเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี Amazon.com เป็นเจ้าถิ่นอยู่ ได้สำเร็จ
อีคอมเมิร์ซเจ้านั้นก็คือ Temu ซึ่งมีเจ้าของคือ Pinduoduo ยักษ์ใหญ่ด้านการค้าขายออนไลน์จากจีน
โดยในวันนี้ Temu ได้เตรียมเปิดตัวในประเทศไทย อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้เกิดความกังวลถึงการปกป้องธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ในประเทศไทย
แล้ว Temu มีโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร ? ทำไมถึงตีตลาดสหรัฐฯ ได้ และทำให้คนไทยหลาย ๆ คนกังวล
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Temu ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 โดยเป็นแบรนด์ลูกของ Pinduoduo ที่ใช้บุกตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก โดยในปัจจุบัน ได้ให้บริการแล้วเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก
ถ้าหากให้ยกเหตุผล 1 อย่าง ที่ทำให้บางธุรกิจ สามารถแข่งขันในทะเลเลือด อย่างเช่นวงการอีคอมเมิร์ซได้
เหตุผลนั้นก็คงเป็นเพราะธุรกิจเหล่านั้น สามารถสร้างความแตกต่าง หรือสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองได้ ซึ่ง Temu เอง ก็สามารถทำได้เช่นกัน
โดยโมเดลธุรกิจของ Temu คือการเป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง ที่ใช้คอนเซปต์ “Group Buying” หรือการให้ผู้ซื้อ รวมกันส่งคำสั่งซื้อไปยังร้านค้า หรือผู้ผลิตโดยตรง
ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่ Pinduoduo ใช้ในประเทศจีน
การทำ Group Buying ของ Temu แม้จะทำให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าล่าช้า
แต่ทำให้สามารถลดต้นทุนของสินค้า ลงไปได้มาก เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่ต้องลงทุนคลังสินค้า
รวมถึงลักษณะของการซื้อสินค้าจากผู้ผลิต ที่เป็นการเหมาล็อต ทำให้มีการต่อรองราคาได้ถูกลง ก่อนมาแจกจ่ายให้กับลูกค้า
ประกอบกับการที่สินค้าส่วนใหญ่ ถูกส่งมาจากแหล่งผลิตในประเทศจีน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องราคาถูกแล้ว
ทำให้สินค้าที่ขายบน Temu มีราคาที่ถูกมากกว่าบนแพลตฟอร์มคู่แข่ง แบบทิ้งห่างมาก
ซึ่ง Temu และ Pinduoduo ถือเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ใช้โมเดล Group Buying จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา
แล้ว Temu มีจุดเด่นอะไรอีกบ้าง ?
นอกจากขายสินค้าในราคาที่ถูก จนเหมือนได้ฟรีแล้ว Temu ยังมีการบริการหลังการขาย ไปจนถึงระบบหลังบ้านที่ครอบคลุม ทั้งระบบการชำระเงิน รวมถึงการขนส่งสินค้า
โดยผู้ซื้อสินค้า แทบจะไม่ต้องจ่ายค่าจัดส่งเลย หากซื้อของผ่านแอป Temu และถ้าหากต้องการคืนสินค้า ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถคืนได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ Temu เก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขาย ในอัตราที่ต่ำมาก รวมถึงมีการใช้ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้า มาวิเคราะห์และแนะนำสินค้า เพื่อกระตุ้นยอดขาย
ซึ่งทำให้บรรดาผู้ผลิตสินค้า เลือกมาลงขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Temu มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
การมีต้นทุนที่ต่ำมาก ประกอบการที่หลาย ๆ ประเทศ ยังมีช่องว่างทางภาษี
ทำให้ Temu สามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด บนสมรภูมิอีคอมเมิร์ซในประเทศต่าง ๆ ได้ และทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว
และในตอนนี้แพลตฟอร์ม Temu ก็เตรียมที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
ซึ่งก็น่าจะทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซบ้านเรา ร้อนระอุ ขึ้นอีกครั้ง..
และทำให้เกิดความกังวลว่า อีคอมเมิร์ซเจ้านี้ อาจทำให้ธุรกิจ SME ในไทย ต้องล้มหายตายจากไปอีกมาก
ซึ่งก็หวังพึ่งภาครัฐ ที่จะต้องหาทางปกป้องธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะบรรดาธุรกิจรายเล็ก ๆ ให้ยังสามารถลืมตาอ้าปากอยู่ได้